ธนาคารทิสโก้ กางกลยุทธ์ปี 2566 ตั้งเป้าโตสินเชื่อ 5-10% ประกาศลุยสินเชื่อกลุ่มผลตอบแทนสูงเชิงรุก เจาะจำนำทะเบียน-รายใหญ่กลุ่มพลังงาน-อสังหาริมทรัพย์ ลั่น ประกาศ สคบ.กระทบกลุ่มสินเชื่อจักรยานยนต์ “สมหวัง เงินสั่งได้” หนัก ชี้เห็นโอกาสร้านค้าไฟแนนซ์ปล่อยกู้เลิกกิจการ เล็งเข้าซื้อพอร์ตต่อขยายธุรกิจระยะยาว
วันที่ 16 มกราคม 2566 นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า สำหรับเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อในปี 2566 ตั้งเป้าโตอยู่ที่ 5-10% จากปีนี้ที่สินเชื่อขยายตัวได้ราว 7.9% โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2.19 แสนล้านบาท โดยในปีนี้จะเน้นเติบโตสินเชื่อเชิงรุกในกลุ่มที่มีผลตอบแทนสูง (High Yield Business) ทั้งสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเพื่อการบริโภค สินเชื่อรายใหญ่ที่เน้นกลุ่มพลังงาน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่จะมุ่งเน้นกลุ่มโลจิสติกส์ และดีลเลอร์ เป็นต้น โดยรักษาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ในระดับไม่เกิน 3%
และตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีประกาศควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่มีผลเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมานั้น มองว่า ในส่วนของผลกระทบจากเพดานดอกเบี้ยรถใหม่ 10% ต่อปี ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 10% ต่อปี และในตลาดมีการแข่งขันสมบูรณ์ เช่นเดียวกับรถใช้แล้วที่กำหนดอยู่ที่ 15% ต่อปี จะเห็นว่าส่วนใหญ่อายุรถที่มีการปล่อยสินเชื่อจะอยู่ที่ 10-15 ปี ส่วนนี้คิดอัตราดอกเบี้ยระดับ 15% ต่อปี ถือว่ายังคงเพียงพอในการสร้างผลตอบแทนอยู่
ทั้งนี้ ในส่วนของสินเชื่อจักรยานยนต์ที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย 23% ต่อปี ในส่วนของธนาคารไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีสัดส่วนพอร์ตประมาณ 2% เท่านั้น แต่ในส่วนของบริษัท ไฮเวย์ จำกัด ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” ถือว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แม้ว่าจะมีต้นทุนการเงินค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับที่อื่น แต่ก็มีความยากลำบาก เนื่องจากต้นทุนในการบริหารจัดการและดอกเบี้ยที่มีการปล่อยเดิมเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 30% ต่อปี ปรับลดลงมาอยู่ที่เพดาน 23% ต่อปี ทำให้ส่วนต่างที่ลดลงกระทบบริษัทค่อนข้างมาก
ดังนั้น จากผลกระทบดังกล่าวในส่วนของธนาคารจำเป็นต้องมีการปรับกระบวนการในการปล่อยสินเชื่อให้เหมาะสม โดยมีการคัดกรองลูกค้าเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนและความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งการปรับวงเงินต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) และเครดิตสกอริ่งที่เหมาะสม รวมถึงการปรับคอมมิชชั่นในส่วนของดีลเลอร์ต่าง ๆ ให้เหมาะสม
“ธนาคารได้ติดตามและจับตาผลกระทบจากเพดานอัตราดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด แม้ว่าจะเกิดผลกระทบและเป็นวิกฤตระยะสั้น แต่ก็เป็นโอกาสในระยะยาว เพราะเจ้าของร้านค้าในประเทศที่เคยปล่อยสินเชื่อก็อาจจะไม่ปล่อยสินเชื่ออีกแล้ว เพราะความคุ้มค่าในการปล่อยสินเชื่อไม่คุ้ม เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเตรียมตัว หากเราสามารถทำต้นทุนในการบริการ (Cost to Serve) ต่ำที่สุดแล้วก็จะสามารถเข้าไปแคปเจอร์ธุรกิจหรือผู้เล่นที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ตรงนี้เองเราจึงเพิ่มประสิทธิภาพพอร์ตติดตามหนี้ให้ดีทั่วประเทศ เพื่อจะเข้าไปดูแลลูกค้ากลุ่มดังกล่าว ซึ่งเป็นโอกาสที่ธนาคารจะเข้าไปดูแลหรือขยายฐานลูกค้ามากขึ้นในอนาคตผ่านการขยายสาขาของสมหวัง เงินสั่งได้ เฉลี่ยปีละ 200 แห่งต่อปี”
ด้านนายชาตรี จันทรงาม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายควบคุมการเงินและบริหารความเสี่ยงทิสโก้ กล่าวเสริมว่า ธนาคารมองหาโอกาสในการเข้าซื้อพอร์ตสินเชื่อรายย่อยต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น ธุรกิจเช่าซื้อ เนื่องจากประกาศการกำหนดเพดานดอกเบี้ยของ สคบ. ทำให้มีธุรกิจเช่าซื้อบางรายอาจจะได้รับผลกระทบจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ และอาจตัดสินใจขายธุรกิจออกมา จึงเป็นโอกาสและให้ความสนใจที่จะเข้าไปซื้อพอร์ต อย่างไรก็ดี ธนาคารไม่ได้เตรียมวงเงินไว้ล่วงหน้า แต่ก็มีกระแสเงินทุนและเงินทุนไว้รองรับอยู่แล้ว