ธนาคารยกระดับแอป “โมบายแบงกิ้ง” ป้องกันล่มนาน

โมบายแบงกิ้ง

ธนาคารพาณิชย์ เดินหน้ายกระดับแอป “โมบายแบงกิ้ง” ปีกระต่าย “ไทยพาณิชย์” ทุ่มกว่า 1 พันล้าน ปรับชุดเทคโนโลยี-เพิ่ม capacity ตั้งเป้าไม่ให้ล่มเกิน 8 ชั่วโมงต่อปี “ทีทีบี” ลุยปรับฟีเจอร์ขายโปรดักต์ “สินเชื่อบ้าน-รถ-เอสเอ็มอี” ตั้งเป้าผู้ใช้เพิ่ม 1 ล้านราย

ฟาก “แบงก์กรุงเทพ” ลงทุนเพิ่ม capacity รองรับธุรกรรมโต พร้อมขยับเพิ่มโปรดักต์ “ออม-ลงทุน” ปล่อยสินเชื่อดิจิทัล ปักธงขยายฐานผู้ใช้เพิ่มอีก 2 ล้านราย

นายชาลี อัศวะธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2566 นี้ ธนาคารจะให้ความสำคัญการยกระดับเสถียรภาพ ความสามารถในการปรับขนาดของโครงสร้าง และความปลอดภัยของแอปพลิเคชั่น SCB Easy เป็นอันดับแรก

ทั้งการปรับปรุงชุดเทคโนโลยี (Tech Stack) และเวอร์ชั่นโปรแกรมหลังบ้าน หลังจากปีที่ผ่านมาพบว่า การเติบโตของปริมาณธุรกรรมการเงินผ่านแอปเพิ่มขึ้นกว่า 40% โดยบริการโอนเงิน จ่ายบิล เติมเงินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ชาลี อัศวะธีระธรรม
ชาลี อัศวะธีระธรรม

โดยธนาคารตั้งงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทในปีนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของฐานลูกค้าและการใช้งานแบบไม่สะดุด ซึ่งตั้งเป้าว่า SCB Easy จะสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และมีเวลาหยุดทำงาน (downtime) ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี ภายในปี 2568

ส่วนฟีเจอร์จะนำเสนอวิธีการช็อปปิ้งผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่บนแอป เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บ้าน รถยนต์ การลงทุน เป็นต้น ซึ่งในปีนี้ ตั้งเป้าลูกค้าโต 10% จากปี 2565 ที่มีลูกค้ารายใหม่กว่า 1.6 ล้านราย โดยกว่า 80% ใช้งาน SCB Easy

“Mobile Banking Business Concept ของแต่ละธนาคารไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำธุรกรรมการเงินอีกต่อไป แต่จะเป็นศูนย์รวมทางการเงินทุกรูปแบบ สำหรับลูกค้าโดยอาศัยพันธมิตรในระบบนิเวศที่หลากหลาย เกิดการร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน และรณรงค์การใช้งานให้ปลอดภัย ท่ามกลางการโจมตีอย่างหนักจากผู้ไม่ประสงค์ดี cyber phishing ที่มีหลากหลายเทคนิคขึ้นเรื่อย ๆ”

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า แผนโมบายแอป “ttb touch” ในปี 2566 มีด้วยกัน 3 แกนหลัก ได้แก่ My Home, My Car และ My Work รวมถึงการทยอยขึ้นฟีเจอร์บริการตัวเองในแต่ละผลิตภัณฑ์

ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบ้าน เพื่อลดการไปสาขา เช่น บัตรเครดิต จะมีฟีเจอร์ที่สามารถบริหารจัดการ อาทิ การจำกัดวงเงิน การคุมใช้จ่ายในต่างประเทศ การซ่อนรหัสหลังบัตร เป็นต้น

ฐากร ปิยะพันธ์
ฐากร ปิยะพันธ์

ทั้งนี้ ในช่วงต้นปีจะพัฒนา “My Car” ให้เป็นระบบ ecosystem ไม่เฉพาะแค่เรื่องสินเชื่ออย่างเดียว เช่น การซื้อขายรถที่เชื่อมกับเต็นท์รถ การซื้อประกันรถ การต่อทะเบียนรถ เป็นต้น และภายในกลางปี จะทยอยขึ้น “My Work”

เช่น ลูกค้าที่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อย และมีบัญชีกับธนาคาร แต่ยังขาดระบบ HR ธนาคารจะมีบริการ และพนักงานที่เดินบัญชีกับธนาคาร (pay roll) จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อาทิ สินเชื่อสวัสดิการ การซื้อประกันให้ครอบครัว เป็นต้น

จากนั้นในไตรมาส 3 จะเป็น “My Home” เช่น การปิดบัญชี ระบบการเตือนชำระค่าบ้าน ลงทะเบียนการชำระค่าไฟ หรือในอนาคตจะมีการเก็บเอกสารสำคัญ เช่น เก็บโฉนดที่ดิน ทะเบียนบ้าน เป็นต้น

“ธนาคารตั้งงบฯลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลราว 1,000 ล้านบาท ตั้งเป้าผู้ใช้เพิ่มขึ้น 1 ล้านคน จากปัจจุบันมีผู้ใช้ ‘ttb touch’ อยู่ที่ 5 ล้านคน”

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า กลยุทธ์โมบายแบงกิ้ง “Bualuang mBanking” ในปีนี้ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีแพลตฟอร์ม การตรวจจับการทุจริตและความปลอดภัย รวมถึงการเชื่อมต่อบริการแบบ Omni Channel

เพื่อให้ลูกค้าสะดวกขึ้น และการเพิ่มศักยภาพ capacity ในการรองรับปริมาณธุรกรรมของธนาคารที่เติบโตเพิ่มขึ้น 40% ส่งผลให้สัดส่วนการทำธุรกรรมเพิ่มจาก 79% เป็น 85% ของธุรกรรมทั้งหมดของธนาคาร

ปรัศนี อุยยามะพันธุ์
ปรัศนี อุยยามะพันธุ์

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งงบฯลงทุนทางด้านไอทีปีนี้ในหลักพันล้านบาท และตั้งเป้าเพิ่มฐานผู้ใช้อีก 2 ล้านราย จากปัจจุบันที่มี 12 ล้านราย

“สิ่งที่จะเน้นคือ การนำข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์ในเชิงลึก เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์มากขึ้น รวมถึงจะมีผลิตภัณฑ์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของการออม-การลงทุนที่ครบวงจร เช่น เงินฝากดิจิทัล ดอกเบี้ยสูง 1.5% การบริหารความมั่งคั่งผ่านกองทุน-ประกัน และร่วมกับพันธมิตรในการสร้างระบบนิเวศ

(ecosystem) เพื่อให้บริการไร้รอยต่อ เช่น กลุ่ม e-Commerce, Social Commerce การศึกษา และโลจิสติกส์ รวมถึงจะมีการออกบัตรร่วมพันธมิตรเสมือนจริง (Cobrand Virtual Card) ภายในปีนี้”

นายรถพร เอกบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่นเพื่อลูกค้ารายย่อย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในปี 2566 ธนาคารยังคงมุ่งมั่นให้ Krungsri Mobile Application (KMA) ทำให้ลูกค้ามี “ชีวิตง่าย ได้ทุกวัน” ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

โดยการใช้ข้อมูลมาประมวลผลเพื่อให้สามารถเข้าใจลูกค้า และเป็นมากกว่าผู้ให้บริการด้านธุรกรรมการเงิน รวมทั้งปรับปรุงเสถียรภาพของระบบให้รองรับการใช้งาน