เปิด 5 อันดับแบงก์ไทยอู้ฟู่ กวาดกำไรปี’65 รวมกันกว่า 1.9 แสนล้าน

ธนาคาร แบงก์ เอทีเอ็ม ATM
ภาพ ประชาชาติธุรกิจ

ธนาคารพาณิชย์ไทย โกยกำไรปี’65 รวมกันกว่า 1.9 แสนล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 4/2565 ภาพรวมดร็อปลงเล็กน้อย

วันที่ 21 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารพาณิชย์ไทย 9 แห่ง ได้รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 4/2565 และ งวดปี 2565 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ttb), ธนาคารทิสโก้ (TISCO), ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) และ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (L H BANK) พบว่า มีกำไรสุทธิรวมกันในปี 2565 อยู่ที่ 193,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,447 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.31% จากปีก่อน (YOY)

เฉพาะไตรมาส 4/2565 แบงก์ 9 แห่งดังกล่าว มีกำไรสุทธิรวมกันที่ 39,622 ล้านบาท ลดลง 758 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรที่ 40,380 ล้านบาท โดยแบงก์ที่มีกำไรลดลงในไตรมาสดังกล่าว ได้แก่ KBANK ที่มีกำไรสุทธิ 3,191 ล้านบาท ลดลง 67.77% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 9,901 ล้านบาท ขณะที่ SCB ก็กำไรลดลง 9.34% ในไตรมาสดังกล่าว โดยมีกำไร 7,143 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไร 7,879 ล้านบาท รวมถึง CIMBT ที่กำไรลดลง 69.67% จากไตรมาส 4/2564 มีกำไร 732 ล้านบาท มาไตรมาส 4/2565 มีกำไร 222 ล้านบาท

SCB แชมป์กวาดกำไรสูงสุด

โดยแบงก์ที่ทำกำไรได้สูงสุดในปี 2565 คือ SCB มีกำไรสุทธิ 37,546 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวที่แข็งแกร่งของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และการตั้งเงินสำรองที่ลดลง ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้จากการลงทุน

ทั้งนี้ มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 107,865 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% จากปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิภายใต้กลยุทธ์การเติบโตที่เน้นคุณภาพสินเชื่อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 3.3% จากปีก่อน

รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ มีจำนวน 44,866 ล้านบาท ลดลง 4.7% จากปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง อีกทั้งรายได้จากการลงทุนและการค้ามีจำนวน 1,689 ล้านบาท ลดลง 79.1% จากปีก่อน เนื่องจากความผันผวนอย่างสูงของตลาดเงินและตลาดทุนในปีที่ผ่านมา

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 69,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% จากปีก่อน เป็นผลจากกิจกรรมธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการปรับโครงสร้างองค์กรภายใต้ยุทธศาสตร์ยานแม่ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ 45.2% ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย

บริษัทได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 33,829 ล้านบาท ลดลง 19.5% จากปีก่อน สะท้อนถึงการบริหารคุณภาพสินเชื่อด้วยมาตรการเชิงรุกและความระมัดระวังตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดมาโดยตลอด ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 159.7%

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 3.34% ปรับตัวลดลงจาก 3.79% ในปีก่อน เป็นผลของความสำเร็จในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จ ภายใต้กรอบของธนาคารแห่งประเทศไทย และการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีประสิทธิภาพ และเงินกองทุนตามกฎหมายของบริษัท ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.9%

KBANK ดรอปลงคว้าอันดับ 2

รองลงมา คือ KBANK มีกำไรสุทธิ 35,770 ล้านบาท แต่กำไรลดลงจากปีก่อน 2,283 ล้านบาท หรือ 6% โดยธนาคารตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 51,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 28.73%

ทั้งนี้ KBANK มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 98,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.72% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและทิศทางอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เพิ่มขึ้นจำนวน 13,608 ล้านบาท หรือ 11.40% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าบุคคล และกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี

และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) ที่สูงขึ้นอยู่ในระดับ 3.33% ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 43.15%

ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 3,700 ล้านบาท หรือ 8.42% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลงซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,709 ล้านบาท หรือ 5.22 % หลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจ และค่าใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 154.26%

ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.19% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 18.81% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.84%

KTB ทะยานแรงขึ้นอันดับ 3

อันดับ 3 ที่ทำกำไรได้สุงสุด คือ KTB มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 33,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 56.1% สาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัว 8.3% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพ โดยสินเชื่อไม่รวมสินเชื่อภาครัฐ เติบโต 4.3% จากสิ้นปี 2564 และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่น ๆ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวม ทำให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 43.68% ลดลงจาก 45.54% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง และติดตามภาพรวมของเงินให้สินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) 3.26% ลดลงจากสิ้นปี 2564 ที่เท่ากับ 3.50% อีกทั้ง พิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน โดยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลง 25.2% จากช่วงเดียวกันของปี ซึ่งยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ 179.7% เทียบกับ 168.8% เมื่อสิ้นปี 2564

โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 8,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.0% มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัว 15.8% จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ตามการเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย พร้อมรักษาสมดุลของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ธนาคารมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายโดยองค์รวม ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 45.30% ลดลงจาก 49.16% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 7,532 ล้านบาท ลดลง 8.5% โดยยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูง

เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2565 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้น 32.9% ซึ่งเป็นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังพร้อมกับการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน จากค่าครองชีพ ค่าแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ราคาพลังงาน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น กระทบกลุ่มเปราะบางต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจของโลก ส่งผลให้ NPLs Ratio-Gross เท่ากับ 3.26% และยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ 179.7%

“กรุงศรี” อันดับ 4 กำไรพุ่ง 20%

ส่วนกรุงศรีฯมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติในปี 2565 จำนวน 30,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9% หรือ 5,104 ล้านบาท จากปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวดีขึ้นของภาระการตั้งสำรองและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้นในระหว่างปี หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (เงินติดล้อ) ในปี 2564 กำไรสุทธิลดลง 9.1% หรือจำนวน 3,081 ล้านบาท

เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 3.1% หรือจำนวน 59,033 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคมปี 2564 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งนี้ สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขยายตัว 3.8% และ 5.3% ตามลำดับ

เงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 1.4% หรือจำนวน 25,553 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคมปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 3.45% จาก 3.24% ในปี 2564 โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ ขณะที่ต้นทุนทางการเงินคงที่

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากการดำเนินงานตามปกติ ลดลง 4.6% หรือ 1,561 ล้านบาท จากปี 2564 หากรวมรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของเงินติดล้อในปี 2564 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 12,288 ล้านบาท หรือ 27.4%

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 43.8% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานตามปกติ (หากไม่รวมกำไรพิเศษจากการขายหุ้นเงินติดล้อ) ที่ 43.2% ในปี 2564

อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.32% เมื่อเทียบกับ 2.20% ณ สิ้นปี 2564 กรุงศรียังคงบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยความรอบคอบระมัดระวัง โดยมีสัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมในระดับ 136 เบสิสพอยท์ในปี 2565

อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 167.4%

อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.97% ลดลงจาก 18.53% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564

BBL ไม่เบากวาดกำไรเพิ่ม 10%

ด้าน BBL มีกำไรสุทธิ 29,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 24.4% ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อและการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ย ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มขึ้นเป็น 2.42% สอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยและการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคาร

ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 30.0% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจหลักทรัพย์ และบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อและบริการการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 49.7%


ทั้งนี้ ธนาคารพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 32,647 ล้านบาท ลดลง 4.4% จากปีก่อน