กำไรแบงก์ปี 2565 ผิดคาด KBANK “การ์ดสูง” กังวล เศรษฐกิจชะลอ

KBANK

ที่ผ่านมา มีการประเมินกันว่า กำไรของธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2565 ที่ผ่านมา น่าจะพุ่งกระฉูดเกือบ ๆ 20% เมื่อเทียบกับปี 2564 รวมถึงผลงานในช่วงไตรมาสสุดท้าย ก็น่าจะออกมาสวยหรู ซึ่งล่าสุด แบงก์ต่าง ๆ ก็ได้ประกาศผลประกอบการปีที่ผ่านมา

โดยที่แจ้งงบการเงินต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในช่วงเที่ยงวันที่ 20 ม.ค. มีด้วยกัน 8 แห่ง ได้แก่ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ทีเอ็มบีธนชาต (ttb), ธนาคารทิสโก้ (TISCO), ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (L H BANK) ส่วนธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ยังไม่แจ้งในขณะนั้น

SCB แชมป์-กสิกร ไตรมาส 4 ตกแรง

โดยภาพรวม 8 แบงก์ ทำกำไรรวมกันอยู่ที่ 159,364 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไร 155,027 ล้านบาท เฉพาะในไตรมาส 4/2565 กำไรรวมกันที่ 31,513 ล้านบาท ลดจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 35,436 ล้านบาท

ซึ่งแบงก์ที่ทำกำไรได้สูงสุดในปี 2565 คือ SCB มีกำไรสุทธิ 37,546 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวที่แข็งแกร่งของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และการตั้งเงินสำรองที่ลดลง ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้จากการลงทุน

ขณะที่รองลงมา คือ KBANK มีกำไรสุทธิ 35,770 ล้านบาท แต่กำไรลดลงจากปีก่อน 2,283 ล้านบาท หรือ 6% โดยเฉพาะในไตรมาส 4/2565 กำไรลดลงกว่า 67% หรืิอมีกำไรแค่ 3,191 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปี 2565 KBANK มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้ 98,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.72% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและทิศทางอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) ที่สูงขึ้นอยู่ในระดับ 3.33%

ส่วนกรุงศรีฯมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ 30,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนหน้า สนับสนุนโดยการลดลงของภาระการตั้งสำรอง และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ตามการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูงและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวดีขึ้น

ด้าน BBL มีกำไรสุทธิ 29,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 24.4% ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อและการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ย ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มขึ้นเป็น 2.42% สอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยและการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคาร

ทั้งนี้ BBL ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 32,647 ล้านบาท ลดลง 4.4% จากปีก่อน อย่างไรก็ดี ธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรอง โดยพิจารณาความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ส่วน ttb มีกำไรสุทธิ 14,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปีก่อน ปัจจัยหนุนมาจากทั้งด้านรายได้ ประสิทธิภาพด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายตั้งสำรองที่ลดลง

ตาราง กำไรแบงก์ปี’65

เกือบทุกแบงก์ตั้งสำรองลดลง

โดยภาพรวมแบงก์ 8 แห่ง พบว่า มีการตั้งสำรองหนี้ลดลงกว่า 5% หรือภาพรวมอยู่ที่ 168,920 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 178,404 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งสำรองลดลงเกือบทุกแบงก์ อาทิ BBL ตั้งลดลง 4.4%, BAY ตั้งลดลงกว่า 15%, SCB ตั้งลดลง 19.5%, ttb ตั้งลดลง 14.6% มีเพียง KBANK ที่ตั้งเพิ่มขึ้นถึง 28.7%

KBANK การ์ดสูงรับ เศรษฐกิจถดถอย

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBANK กล่าวว่า ธนาคารมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ในปี 2565 จำนวน 51,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28.73% เพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต รวมทั้งการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ยังคงเปราะบาง

หนี้เสียทุกแบงก์ต่ำกว่าแสนล้าน

ขณะที่หนี้เสียในภาพรวมลดลงมาอยู่ที่ 398,263 ล้านบาท จากปีก่อนที่อยู่ที่ 421,811 ล้านบาท โดยทุกแบงก์มีหนี้เสียที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มีเพียง BAY ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 53,875 ล้านบาท จากปี 2564 อยู่ที่ 47,448 ล้านบาท แต่สัดส่วนลดลงอยู่ที่ 2.32% จาก 2.38%

โดย KBANK หนี้เสียลดลง จาก 104,036 ล้านบาท เหลือ 92,536 ล้านบาท, BBL ลดลงจาก 10,103 ล้านบาท เหลือ 97,188 ล้านบาท, SCB ลดจาก 109,114 ล้านบาท เหลือ 95,329 ล้านบาท

แบงก์ยังกังวลภาวะเศรษฐกิจ

“ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล” รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยฟื้นตัว ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าการตั้งสำรองน่าจะปรับลดลงได้ แต่แบงก์ยังคงตั้งสำรองอยู่ในระดับสูง ไม่ได้ลดลงมาก

“มองไปข้างหน้าในไตรมาส 1/2566 แนวโน้ม NIM ยังมีโอกาสขยับเพิ่มขึ้นได้อีก แต่จะทยอยแคบลง จากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องของคุณภาพสินเชื่อ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังเป็นจุดที่แบงก์ให้ความสนใจและกังวล

เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ทำให้บางภาคธุรกิจยังคงมีความเปราะบาง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และรายย่อย ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และเอ็นพีแอลยังเป็นขาขึ้นอยู่”

ตลาดผิดหวังกำไรออกมาผิดคาด

“ธนเดช รังษีธนานนท์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย กล่าวว่า 3 แบงก์ใหญ่ ทั้ง KBANK, BBL และ SCB มีผลกำไรไตรมาส 4/2565 ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยทาง KBANK และ BBL มีการตั้งสำรองหนี้สูง แต่ BBL จะไม่สูงเท่า KBANK ส่วนทาง SCB มีการบันทึกกำไรจากเรื่องการลงทุนที่เป็นรายการทางบัญชีที่ต่ำกว่าคาด

“การตั้งสำรองที่ออกมา ถือว่าออกมาในเชิงที่มากกว่าที่ทางแบงก์ให้ตัวเลขไว้กับเรา ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากความกังวลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จึงมีการตั้งสำรองเผื่อเอาไว้ก่อน ทำให้ภาพตลาดหุ้นไทย (SET Index) ตอบรับในเชิงลบ โดยวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา มีแรงเทขายกดดันภาพรวมตลาด เนื่องจากนักลงทุนอาจกังวลว่า นักวิเคราะห์จะมีการปรับประมาณการผลการดำเนินงานกลุ่มแบงก์ลงในปี 2566”

จากภาพการตั้งสำรองที่แม้จะลดลง แต่ก็ยังค่อนข้างสูง รวมถึงการที่ KBAK ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมาก สะท้อนว่า ปี 2566 นี้ ยังคงเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงที่แบงก์กังวล