ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ตลาดจับตาประชุมเฟด และ ECB

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ตลาดจับตาประชุมเฟด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) นักลงทุนคาดเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ โดยจะแถลงช่วงเช้าของวันที่ 2 ก.พ. ตามเวลาในไทย และขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมเดือนมีนาคม

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 31 มกราคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/1) ที่ระดับ 32.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (30/1) ที่ระดับ 32.71/72 บา/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.35% แตะที่ระดับ 102.29 นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้ โดยจะแถลงผลการประชุมในวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ ตามเวลาไทย ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50%-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ และจะปรับขึ้นอีก 0.25% สู่ระดับ 4.75%-5.00% ในการประชุมวันที่ 21-22 มีนาคม ก่อนที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว

นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 28-29 กันยายน ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยก่อนหน้านี้เฟดส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในปี 2567 ตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีชี้วัดกิจกรรมในภาคการผลิตของรัฐเท็กซัสปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -8.4 ในเดือนมกราคม โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -9.9 จากระดับ -20.0 ในเดือนธันวาคม

อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงมีค่าเป็นลบ ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตในเท็กซัส ขณะที่หดตัวเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ แม้ว่าการจ้างงานมีการขยายตัว ขณะที่ภาคธุรกิจยังคงขาดความเชื่อมั่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.72-32.82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/1) ที่ระดับ 1.0852/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (30/1) ที่ระดับ 1.0900/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคมอยู่ที่ระดับ -20.9 แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอยยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม มีรายงานถ้อยแถลงของนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปภายหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งติดต่อกันและจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไปจนกว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับเป้าหมายร้อยละ 2.0

นอกจากนี้นายคาส น็อต และนายปีเตอร์ คาซิมีร์ กรรมการ ECB ให้การสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงิน โดยมีความเห็นว่า ECB ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 อีก 2 ครั้ง แม้ว่ามีการเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2565 ของเยอรมนี ปรับตัวลดลง โดยเมื่อเทียบรายปีอยู่ที่ 0.5% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 0.8% และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 1.3% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0830-1.0860 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0841/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/1) ที่ระดับ 130.31/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (30/1) ที่ระดับ 129.95/13.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงตามการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 130.03-130.54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 130.30/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนพฤศจิกายนจากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์ (31/1), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนมกราคมจาก Conference Board (31/1), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมกราคมจาก ADP (1/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมกราคมจากเอสแอนด์พี โกลบอล (1/2) และตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนธันวาคม (1/2)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.00/-9.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.00/-9.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ