ธปท. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% แบงก์ไหนขึ้นตามแล้วบ้าง

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 มกราคม 2566

แบงก์พาเหรดปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม กนง. ล่าสุดแบงก์รัฐสุดอั้นประกาศขึ้นดอกกู้เป็นกลุ่มแรก หลังตรึงมานาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยติดกันเป็นครั้งที่ 4 แล้ว หรือปรับขึ้นมาแล้ว 1% นับตั้งแต่การปรับขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือน ส.ค. 2565 ทำให้ขณะนี้เริ่มเห็นแบงก์ขยับปรับขึ้นดอกเบี้ยตามกันแล้ว

โดยแบงก์รัฐเป็นกลุ่มแรกที่ออกมาประกาศขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากที่ผ่านมามีการตรึงดอกเบี้ยไว้มาตลอด แต่รอบนี้อั้นไม่ไหว เพราะต้นทุนการเงินพุ่งขึ้นไปแล้ว

ธอส.ขึ้นดอกเบี้ยกู้บ้านยกแผงทันที

ซึ่งในบรรดาแบงก์รัฐ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออกมาประกาศเป็นรายแรก

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์ หนี้สิน และการเงิน (ALCO) ของ ธอส.ได้มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาด ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ในรอบ 2 ปี 9 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2563

ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) จาก 6.15% ต่อปี ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.40% ต่อปี, อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) จาก 5.75% ต่อปี ปรับเพิ่มขึ้น เป็น 6.00% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้เบิกเกินบัญชี (MOR) จาก 5.90% ต่อปี ปรับเพิ่มขึ้น เป็น 6.15% ต่อปี

EXIM ขึ้นดอกกู้ 0.25% มีผล 1 ก.พ.

ต่อมา ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินงานของ EXIM BANK สอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ และเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ EXIM BANK จึงประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี จาก 5.75% ต่อปี เป็น 6.00% ต่อปี ซึ่งยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป

SME D BANK ขึ้น MLR เป็น 7%

ขณะที่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D BANK ประกาศในเว็บไซต์ของธนาคาร ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ MLR จาก 0.675% เป็น 7% มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป

ออมสินปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ มีผล 27 ม.ค.2566

ด้านธนาคารออมสิน ได้มีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทุกประเภท 0.25% ผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคาร ประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.495% ต่อปี, อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับเพิ่มเป็น 6.245% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา (MLR) ปรับเป็น 6.400% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งล่าสุดของธนาคารออมสิน เกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. 2563 หรือเป็นเวลากว่า 2 ปีมาแล้ว

นอกจากนี้ ต่อมาธนาคารออมสินก็ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามมา โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงสุด 0.30% ต่อปี เพื่อมุ่งส่งเสริมการออมให้ประชาชนผู้ฝากเงินได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และช่วยเพิ่มกำลังซื้อในช่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป

แบงก์เกษตร ธ.ก.ส.ขึ้นดอกกู้ 0.125-0.25%

ฟากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.125-0.25% ต่อปี โดย MRR ปรับขึ้น 0.125% เป็น 6.625%, MLR ปรับขึ้น 0.25% เป็น 5.125% และ MOR ปรับขึ้น 0.25% เป็น 6.50% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป

ธนาคารกรุงเทพ แบงก์พาณิชย์แรกนำร่องขึ้นดอกกู้-ฝากยกแผง

ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ได้ประกาศผ่านเว็บไซต์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2566 ดังนี้

โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MLR) จากเดิมอยู่ที่ 6.25% เพิ่มเป็น 6.45% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชี (MOR) จากเดิมอยู่ที่ 6.75% เพิ่มเป็น 6.90% ต่อปี

และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) จากเดิมอยู่ที่ 6.65% เพิ่มเป็น 6.80% ต่อปี

สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากสะสมทรัพย์ จาก 0.45% เป็น 0.50% และดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 และ 6 เดือน จากเดิม 0.60% เป็น 0.75% และและเงินฝากประจำ 12, 24 และ 36 เดือนปรับเพิ่ม 0.25%

 

กสิกรไทย ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก เฉลี่ย 0.10-0.25% ต่อปี

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัว เพื่อส่งผ่านนโยบายดังกล่าว และเพิ่มกำลังซื้อให้กับลูกค้าในภาวะที่ภาระค่าใช้จ่ายยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง

ธนาคารจึงปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำให้สูงขึ้น 0.10-0.25%

อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีความห่วงใยลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการรายเล็ก และเพื่อดูแลลูกค้ากลุ่มดังกล่าวให้สามารถปรับตัวได้อย่างราบรื่นในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น ธนาคารจึงดำเนินการปรับดอกเบี้ยเงินกู้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อยเพียง 0.10% และปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทอื่นตามรายละเอียดดังนี้

  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับจาก 6.37% เป็น 6.57%
  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับจาก 6.74% เป็น 6.89%
  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับจาก 6.50% เป็น 6.60%

โดยให้มีผลในวันที่ 30 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

ไทยพาณิชย์ ปรับดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก ้เฉลี่ย 0.05-0.25% ต่อปี

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ส่งผลต่อเนื่องมายังต้นทุนในระบบธนาคารที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตาม

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของธนาคารไทยพาณิชย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยภายในประเทศ และสะท้อนต้นทุนทางการเงินในระบบที่สูงขึ้น ธนาคารจึงมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม แต่เพื่อช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยของลูกค้าเงินกู้

ธนาคารจึงเห็นควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย MLR MOR และ MRR 0.10-0.20% ต่อปี

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.520% เป็น 6.620% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.150% เป็น 6.350% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.745% เป็น 6.895% ต่อปี

พร้อมกันนี้ เพื่อช่วยส่งเสริมการออมเงินในระยะยาวและให้ผู้ฝากเงินมีรายได้เพิ่มขึ้น ตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารจึงเห็นควรปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น 0.05-0.25% ต่อปี

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

ttb ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.10%-ขึ้นดอกเบี้ย 2 เงินฝาก

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 มกราคม 2566) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของธนาคารสูงขึ้น

ธนาคารจึงมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.10% ต่อปี ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นที่น้อยกว่าดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลลูกค้าสินเชื่อทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ ธนาคารได้มีการออกอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ PLR สำหรับกลุ่มลูกค้าชั้นดี และมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อเพิ่มผลตอบแทนและส่งเสริมการออม

โดยธนาคารได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี MLR (Minimum Loan Rate) 0.10% ต่อปี ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย MOR (Minimum Overdraft Rate) สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี 0.10% ต่อปี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี MRR (Minimum Retail Rate) 0.10% ต่อปี

ขณะเดียวกันธนาคารได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 2 ผลิตภัณฑ์ คือ

บัญชีเงินฝากประจำพิเศษ ทีทีบี อัพ แอนด์ อัพ 24 เดือน

เงินฝากที่ให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุก ๆ 6 เดือน และได้รับดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเงินฝากที่มุ่งเน้นการออมในบัญชีดอกเบี้ยสูง เพิ่มสภาพคล่อง ถอนได้ก่อนกำหนด ไม่ถูกลดดอกเบี้ย และเริ่มฝากขั้นต่ำได้ที่ 5,000 บาท โดยธนาคารได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขั้นสูงสุดจาก 2.50% เป็น 3.00% ต่อปี

บัญชี ทีทีบี มีเซฟ

เงินฝากดิจิทัลที่ออมง่ายได้ดอกสูง ฝาก-ถอนได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ดูดอกเบี้ยสะสมได้ทุกวัน ปรับดอกเบี้ยรวมโบนัสขึ้นจาก 1.70% เป็น 2.00% ต่อปี

โดยการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้ และเงินฝากดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

กรุงไทย ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.1-0.2% พร้อมขยับดอกฝาก

ธนาคารกรุงไทย ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05-0.25% ต่อปี เพื่อส่งเสริมการออม สร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว ให้ผู้ฝากเงินมีรายได้เพิ่มขึ้นในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น และปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เพิ่มขึ้น 0.20% ต่อปี เป็น 6.35% ต่อปี ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) เพิ่มขึ้น 0.15% ต่อปี เป็น 6.87% ต่อปี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย (MRR) 0.10% ต่อปี เป็น 6.87% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

กรุงศรีฯ ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.15% ฝากประจำขึ้น 0.20%

กรุงศรีฯ (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน และ 24 เดือน อีก 0.20% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.15% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป