“กอบศักดิ์” มอง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี แนะ ธปท. ดูแลค่าเงิน

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก กอบศักดิ์ ภูตระกูล

“กอบศักดิ์” ประเมินกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ต่อปี และขึ้นต่อเนื่องรวม 3 ครั้งจนถึงกลางปีอยู่ที่ 1.75-2.00% ต่อปี เพื่อดูแลเงินเฟ้อ-ขยับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ มองเงินบาทแข็งค่า 10% สูงกว่าภูมิภาค ชี้ สูงเกินกว่าความจำเป็น แนะธปท.เข้าไปดูแลซื้อเงินตราต่างประเทศเข้าทุนสำรองระหว่างประเทศ

วันที่ 24 มกราคม 2566 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า คาดการณ์คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% มาอยู่ที่ 1.50% ต่อปีในการประชุมวันที่ 25 มกราคมที่จะถึงนี้

และคาดว่ากนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องกัน 3 ครั้งในปีนี้ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะสิ้นสุดภายในกลางปีหรือในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนอยู่ที่ 1.75-2.00% ต่อปี และหลังจากนั้นในเดือนกรกฎาคมจะหยุดดูรอดูทิศทางและประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก เนื่องจากการปรับอัตราดอกเบี้ยปัจจัยต่างๆ จะต้องเอื้ออำนวยด้วย

ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่ได้รีบร้อน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปัจจุบันไม่ได้สูงเฉลี่ยอยู่ในระดับกว่า 3% ซึ่งเทียบกับค่าเฉลี่ยกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ถือว่าไม่ได้ออกนอกกรอบมากนัก และในระยะต่อไปอัตราเงินเฟ้อจะทยอยลดลง ทำให้ธปท.ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เป็นการปรับนโยบายการเงินในลักษณะการเข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) เนื่องจากพายุและวิกฤตได้ผ่านพ้นไปแล้ว จึงจำเป็นต้องทยอยเก็บกระสุนและอุปกรณ์

“ดอกเบี้ยระดับ 1.25% ถือว่าค่อนข้างต่ำ ซึ่งในช่วงวิกฤตต้มย้ำกุ้งธปท.ไม่เคยลดดอกเบี้ยต่ำกว่า 1.25% แสดงว่า 1.25% ถือว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ และธปท.คงอยากขึ้นดอกเบี้ยไปอีกสักระยะเวลาหนึ่ง แต่การประชุมของธปท.มีแค่ 6 ครั้งต่อปี 2 เดือนครั้ง ซึ่งกลางปีเศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดี ตอนนี้เราเริ่มเห็นการส่งออกไม่ดี เช่น จีน ติดลบ 9% เกาหลี้ติดลบ 2 เดือน และสิงคโปร์ -20% สะท้อนว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มมีปัญหา และคิดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงยังไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย

และครั้งหน้าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เพราะเงินเฟ้อแม้จะอยู่ที่ 4% แต่ก็ยังไม่ได้อยู่ในกรอบเป้าหมาย 2% ซึ่งเฟดคิดว่าเงินเฟ้อไม่ยอมลงง่ายๆ และตลาดแรงงานตึงตัว จึงต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อจนถึงกลาง โดยดอกเบี้ยจะไปอยู่ที่กว่า 5% และทำนโยบายลดลงดุล (QT) อีกราว 1% ซึ่งกระทบเศรษฐกิจแน่นอน และไทยเองก็เริ่มเห็นสัญญาณการส่งออกในช่วงกลางปีที่ผ่านมา -10% และมาในปีนี้ภาคเศรษฐกิจจะเริ่มลำบาก ดังนั้น คาดว่ากนง.น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งจนถึงกลางปี”

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าประมาณ 10% ซึ่งแข็งค่ากว่าสกุลอื่นในภูมิภาค โดยในปี 2565 เงินบาทผันผวนมาจากปัจจัยค่าเงินดอลลาร์เป็นหลัก แต่ในปีนี้แม้ค่าเงินดอลลาร์ยังผันผวนอยู่ ทุกสกุลแข็งค่าขึ้น แต่เงินบาทแข็งค่ากว่าภูมิภาค

ซึ่งมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลดลง ทำให้แรงกดดันในการใช้เงินนำเข้าน้ำมันทยอยลดลง 2.นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเพิ่มขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 2 ล้านราย ส่งผลให้มีความต้องการใช้เงินบาทเยอะขึ้น

และ 3.นักลงทุนมองไทยเป็นหลุมหลบภัย (Safe Haven) เพราะปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจยังดี ทำให้ภาพรวมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการเติบโต 0.67% เมื่อเทียบกับตลาด Nasdaq -33% และอาเซียนโตได้ดี

โดยอินโดนีเซียเติบโต 4% สิงคโปร์โต 4% เพราะนักลงทุนมองอาเซียนเป็น Safe Haven ดังนั้น จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) เป็นบวกได้ 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 และจะเป็นบวกต่อเนื่อง เพราะนักท่องเที่ยวทยอยกลับมาแล้ว

“จะเห็นแรงกดดันเงินบาทกลับข้าง จากเดิมไม่ได้มีปัจจัยบวก แต่หลังจากนี้มีปัจจัยบวกเข้ามาสนับนสนุนเพิ่มขึ้น ทำให้ธปท.มองว่าเงินบาทไม่ได้เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยจะดูเงินเฟ้อ และกระบวนการ Normalization เป็นสำคัญ และดอกเบี้ยยังต่ำอยู่ยังสามารถขึ้นได้อีกนิดนึง”

สำหรับค่าเงินบาทแข็งค่าในช่วงนี้ มองว่า เป็นช่วงที่ดีที่จะสามารถซื้อเข้าเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะก่อนหน้านี้เงินทุนสำรองหายไปเยอะ และในอนาคตไม่สามารถรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

โดยธปท.เข้ามาซื้อหรือแทรกแซงบ้าง จะทำให้ตลาดมองว่าเงินบาทไม่ควรจะแข็งค่ามากไปกว่านี้แล้ว ซึ่งจะทำให้บรรยากาศ (Sentiment) เปลี่ยนไป เพราะไม่มีความจำเป็นที่เงินบาทต้องแข็งค่ามากกว่าคนอื่น


“การแข็งค่าเพราะดอลลาร์อ่อนนั้นห้ามไม่ได้ แต่แข็งกว่าคนอื่นไม่ควร จึงมองว่าเราสามารถเข้าไปดูแลได้ หากเราแข็งค่าเท่าคนอื่น เพราะดอลลาร์สวิง เราไม่รู้จะทำยังไง แต่มาเฉพาะเจาะจง เช่น คนอื่นแข็ง 5% เราแข็งค่า 10% ซึ่งในส่วนของ 5% เราน่าจะดูแลได้ และซื้อเอามาใส่ในเงินทุนสำรองไว้ เพราะตอนเงินอ่อนเราก็ขายเงินตราต่างประเทศไปได้ และทำไมเงินแข็งไม่ซื้อกลับเข้ามา”