ร้านแลกเงินคืนชีพ ท่องเที่ยวฟื้น รายเล็ก-ใหญ่ ผุดเป็นดอกเห็ด

OHRICH

ธุรกิจแลกเงินคืนชีพ อานิสงส์นักท่องเที่ยวต่างชาติตบเท้าเข้าไทย “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” วางแผนขยายสาขาเพิ่ม ดันธุรกรรมแตะ 1.1-1.2 แสนล้านบาท เผยสัญญาณร้านแลกเงินเล็ก-ใหญ่เปิดพรึบ ตั้งรับนักท่องเที่ยว 21 ล้านคน ซุปเปอร์ริชสีเขียว ปั้นแบรนด์ “OH RiCH” เจาะคนรุ่นใหม่ บริการส่งถึงบ้าน

ร้านแลกเงินคืนชีพ

นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) หรือ “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัญญาณธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นตามลำดับตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยปริมาณธุรกรรมการซื้อขายกลับมาอยู่ที่ประมาณ 60-70% ของยอดธุรกรรมก่อนการระบาดของโควิด-19

และจากการฟื้นตัวดังกล่าว บริษัทเริ่มเห็นสัญญาณร้านค้าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทยอยกลับมาเปิดให้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า ตามซอยหรือพื้นที่ต่างจังหวัดที่เป็นแหล่งของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการกลับมาดำเนินธุรกิจหลังจากปิดไปก่อนหน้า รวมถึงมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่หันมาปรับแบรนด์และแยกกลุ่มลูกค้าชัดเจน สะท้อนถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศ

ในส่วนของ “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” ปัจจุบันก็มีสาขาเปิดให้บริการ 17 สาขา และในระยะข้างหน้ากำลังดูพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเปิดสาขา เช่น ตลาดยิ่งเจริญ หรือพื้นที่อื่น ๆ รองรับการฟื้นตัวของธุรกิจ จากที่ช่วงก่อนโควิดมีทั้งสิ้น 54 สาขา

ธุรกรรมทะลุแสนล้าน

นายปิยะกล่าวว่า หากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 เข้ามาได้ตามที่หลายคนคาดการณ์อยู่ที่ 21 ล้านคน จะส่งผลต่อปริมาณธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของบริษัทในปีนี้อยู่ที่ราว 1.1-1.2 แสนล้านบาท จากปี 2565 จำนวนธุรกรรมการซื้อขายอยู่ราว 7 หมื่นล้านบาท ภายใต้สาขาที่มีอยู่ 17 แห่ง

ทั้งนี้ เงินตราต่างประเทศที่ขายดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2565 ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 2.34 หมื่นล้านบาท ยูโร 9,141 ล้านบาท เยน-ญี่ปุ่น 5,053 ล้านบาท ริงกิต-มาเลเซีย 3,504 ล้านบาท ดอลลาร์สิงคโปร์ 2,278 ล้านบาท และดอลลาร์ออสเตรเลีย 2,016 ล้านบาท

“ตอนนี้เห็นร้านแลกเงินกลับมาผุดเป็นดอกเห็ด ร้านตามซอยต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดมากขึ้น เพราะวอลุ่มการซื้อขายเริ่มกลับมาดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมธุรกิจจะดีขึ้น แต่เรายังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม และปัจจัยที่ธุรกิจต้องปรับตัวรับกับโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะผลกระทบจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป เช่น การถือเงินสดน้อยลง และหันไปใช้เงินสกุลต่างประเทศผ่านบัตร travel card หรือบัตรเครดิตมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด”

กลับมาระดับก่อนโควิด

นางสาวสิตามนินท์ สุสมาวัตนะกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส อาร์ ที ฟอเร๊กซ์ จำกัด (SRT Forex) ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตรารายใหญ่แบรนด์ “Superrich Thailand” (สีเขียว) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศ หลังจากไทยทยอยเปิดประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จะเห็นว่าปริมาณธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ซึ่งเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นทั้งจากการท่องเที่ยว การเดินทางเพื่อธุรกิจ และการศึกษา และล่าสุดเดือนธันวาคม 2565 ปริมาณธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศภาพรวมกลับมาแล้วประมาณ 70% เมื่อเทียบช่วงก่อนโควิด-19

ทั้งนี้ บริษัทประเมินภาพรวมธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในปี 2566 คาดว่าอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ประมาณ 20-30% ซึ่งจะทำให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 เทียบกับในปี 2562 ที่มีการระบาดของโควิด-19 มีการปิดประเทศ ทุกอย่างหยุดชะงักทั้งหมด ปริมาณธุรกรรมลดลงเหลือเพียง 10%

อย่างไรก็ดี ภายหลังเปิดประเทศเริ่มเห็นสัญญาณเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งขาเข้าและขาออกมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงค่าเงินเยน-ญี่ปุ่นที่อ่อนค่าค่อนข้างมากจากระดับ 30 บาทต่อ 100 เยน มาอยู่ที่ 26 บาท จะเห็นว่าคนไทยที่นิยมไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะเข้ามาซื้อเงินเยนสะสมค่อนข้างมาก สะท้อนจากปริมาณธุรกรรมเงินเยนเพิ่มขึ้นจากปกติจะขายเฉลี่ย 1,000 ล้านเยนต่อเดือน เพิ่มเป็น 1,500-2,000 ล้านเยนต่อเดือน ซึ่งถือเป็นสกุลเงินอันดับที่ 2 ที่มีการซื้อขายรองจากดอลลาร์สหรัฐ และสกุลเงินยูโร

เจรจา ธปท.ขยายธุรกรรมเพิ่ม

สำหรับในส่วนของบริษัท SRT Forex ตั้งเป้าการเติบโตอย่างน้อย 30% โดยปริมาณธุรกรรมการซื้อขายในช่วงก่อนโควิด-19 เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 1 แสนล้านบาทในปี 2565 บริษัทมีปริมาณธุรกรรมการซื้อขายประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท จากจำนวนสาขา 15 แห่ง คาดว่าในปีนี้ธุรกรรมจะกลับมาเทียบเท่าก่อนโควิด-19 ได้ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การเดินทางสะดวก และการบริหารจัดการของประเทศมีความน่าสนใจทั้งในแง่คนที่เข้ามาทำธุรกิจและท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ยังคงมีเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่ต้องติดตามอยู่

นางสาวสิตามนินท์กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่บริษัทอยากเห็นเกี่ยวกับธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินเพิ่มเติมคือ เรื่องการขยายขอบเขตการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ การศึกษา และท่องเที่ยวได้ แต่ยังไม่สามารถทำธุรกรรมโอนเงินเพื่อการลงทุนได้ เนื่องจากบริษัทเห็นความต้องการของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อเนื่อง แต่ในท้ายที่สุดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ธปท.

เปิดแบรนด์ใหม่ “OH RiCH”

“เราได้เปิดตัวธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินภายใต้แบรนด์ ‘OH RiCH’ ซึ่งจะแยกออกจากแบรนด์ ‘Superrich Thailand’ (สีเขียว) เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าและตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ โดยปัจจุบันมีสาขาให้บริการทั้งสิ้น 11 แห่ง และที่เหลือ 4-5 สาขา จะเป็นแบรนด์ซุปเปอร์ริช (สีเขียว) โดย ‘OH RiCH’ จะเน้นการเรื่องการส่งมอบประสบการณ์ ความสะดวกในการทำธุรกรรม ซึ่งมีบริการส่งถึงบ้าน โอนเงินต่างประเทศ รวมถึงสามารถชำระเงินผ่าน 3 รูปแบบ เงินสด บัตรเครดิต และ QR code ตลอดจนการจัดโปรโมชั่น และกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งปี”

นางสาวสิตามนินท์กล่าวว่า เพื่อเป็นการฉลองปีใหม่และเป็นการเริ่มต้นของแบรนด์ “OH RiCH” บริษัทได้จัดกิจกรรมลุ้นทอง ที่พักโรงแรม และบัตรกำนัลตลอดทั้งปี โดยเริ่มต้นด้วยการจัดกิจกรรมสำหรับคนที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น เพียงแลกเป็นเงินเยนที่ “OH RiCH” ตั้งแต่มูลค่า 5 หมื่นบาทขึ้นไปต่อรายการ จะได้รับคูปองส่วนลด 2,000เยน เพื่อไปช็อปปิ้งที่ LOTTE Duty Free Tokyo Ginza Store ตั้งแต่วันนี้-16 มีนาคม 2566 โดยคูปองสามารถใช้ได้ถึงเดือนมิถุนายน 2566


ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (TAFEX) ในช่วงปี 2563 ที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดรุนแรง จากจำนวนผู้รับใบอนุญาต 2,300 แห่ง ผู้ประกอบการได้หยุดกิจการไปกว่า 70% เหลืออยู่ประมาณ 600 ราย โดยร้านแลกเงินในแหล่งท่องเที่ยวพัทยาและภูเก็ตทยอยปิดตัวทั้งแบบชั่วคราวและถาวร บางรายเลิกกิจการไปทำธุรกิจอื่น