“ธุรกิจแลกเงิน” เฮ! แบงก์ชาติผ่อนเกณฑ์ขยายสาขา

ธุรกิจแลกเงิน

ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์ “ธุรกิจแลกเงิน” ยื่นขอใบอนุญาต 1 ใบใช้ได้ครอบคลุมทุกสถานประกอบการ “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” ชี้ช่วยลดภาระ หนุนธุรกิจมีความคล่องตัว หลังจากช่วงโควิด ปิดสาขาไปเกินครึ่งเหลือแค่ 17 แห่ง พร้อมถกแบงก์ชาติขอขยับเพดานธุรกรรมจาก 8 แสนบาทต่อวัน เป็น 6-7 ล้านบาทต่อวัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ (money changer หรือ MC) โดยเพิ่งปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสาระสำคัญ จะเป็นการปรับปรุงรูปแบบการให้ใบอนุญาต

เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ประกอบธุรกิจมีภาระในการต้องยื่นขอใบอนุญาตต่อ รมว.คลังผ่าน ธปท.ในทุก ๆ ครั้งที่ประสงค์จะเปิดสถานที่ประกอบธุรกิจแห่งใหม่ ดังนั้น การผ่อนคลายดังกล่าวจะช่วยลดภาระการยื่นใบอนุญาตและมีความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจที่มีใบอนุญาตอยู่จะต้องดำเนินการ ดังนี้ 1.แจ้งจำนวนและรายชื่อใบอนุญาตเดิมทั้งหมดที่ได้รับ และใบอนุญาตที่ประสงค์จะใช้ในการประกอบธุรกิจต่อไปต่อ ธปท.ภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงบังคับใช้

จากนั้น ธปท.จะตรวจสอบและมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาใบอนุญาตที่จะให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งใช้ได้กับสถานที่ประกอบธุรกิจทุกแห่งของผู้ประกอบธุรกิจรายนั้น ๆ

2.เมื่อได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณา ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องส่งคืนใบอนุญาตที่ออกให้แต่ละสาขาที่สิ้นผลให้ ธปท.ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ที่ได้รับหนังสือแจ้งผล ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถคืนใบอนุญาตดังกล่าวได้ภายในเวลาที่กำหนด หรือไม่อาจคืนใบอนุญาตได้ ธปท.จะพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร

ทั้งนี้ ใบอนุญาตที่ออกให้แก่บุคคลรับอนุญาต (MC) ที่เป็นบุคคลธรรมดาให้ใช้บังคับต่อไปอีก 3 ปี และเมื่อครบกำหนด ให้ MC ส่งคืนใบอนุญาตแก่ ธปท.ภายใน 30 วัน

นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) หรือ “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทาง ธปท.พยายามผ่อนคลายระเบียบให้ผู้ประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ สามารถทำธุรกิจได้คล่องตัวขึ้น

ตาราง ธุรกิจแลกเงิน

เพราะจากเดิมหากต้องการเปิดสาขาจะต้องยื่นขอใบอนุญาตทุกครั้ง ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน

“การผ่อนเกณฑ์ให้ 1 ใบอนุญาตสามารถใช้ได้ทุกแห่ง หรือ one to money จะช่วยลดภาระให้ผู้ประกอบการได้ ซึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทก็ได้ทยอยปิดสาขาลง จากภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง สวนทางกับปริมาณธุรกรรมซื้อขายที่ค่อนข้างน้อย ทำให้เดิมที่เคยมี 50 สาขา ปัจจุบันเหลือเพียง 17 สาขา

อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการเปิดประเทศ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ซึ่งคาดการณ์กันว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยว 20 ล้านคน จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา บริษัทจึงมีแผนทบทวนการทยอยเปิดสาขาเพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ บริษัทเพิ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโอนเงิน (money transfer) จาก ธปท.เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบและความปลอดภัย คาดว่าภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า จะสามารถเปิดให้บริการได้

โดยระบบการโอนเงินจะเป็นการร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรธนาคารต่างประเทศในการให้บริการลูกค้า เบื้องต้นจะสามารถโอนเงินได้ใน 30 ประเทศ 5 สกุลหลัก อาทิ ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร ดอลลาร์ออสเตรเลีย เป็นต้น

นายปิยะกล่าวว่า บริการนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะมาช่วยเสริมรายได้ให้กับบริษัท นอกเหนือจากธุรกิจหลัก ซึ่งการฟื้นตัวยังไม่เต็มที่ หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใช้บัตรเดินทางในการท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งผลต่อปริมาณธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราให้ปรับลดลง

ทั้งนี้ รายได้ที่จะมาจากบริการรับโอนเงิน จะมาจากอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการ โดยพันธมิตรธนาคารต่างประเทศจะให้รายได้เป็นค่าคอมมิชชั่นในการทำธุรกรรมต่อรายการ ซึ่งอยู่ระหว่างตกลงค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม


“ตอนนี้ ธปท.พยายามผ่อนคลายระเบียบให้มากขึ้น แต่การปรับเกณฑ์เรื่องใบอนุญาต 1 ใบ ใช้ได้กับทุกสาขา อาจจะไม่ช่วยเท่าไหร่ แต่เรื่องการขยับเพดานวงเงินให้สามารถทำธุรกรรมมากขึ้น เป็นเรื่องที่เราพูดคุยกับ ธปท.อยู่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 8 แสนบาทต่อคนต่อวัน หรือ 2 หมื่นดอลลาร์ อาจจะขยับไป 6-7 ล้านบาทต่อคนต่อวัน หรือ 2 แสนดอลลาร์ เทียบเท่าแบงก์พาณิชย์ แต่ให้มีข้อจำกัดการซื้อ เช่น เพื่อท่องเที่ยว ไม่ได้ให้เพื่อการลงทุน เป็นต้น ซึ่งต้องรอดูว่า ธปท.จะผ่อนคลายอย่างไร ซึ่งอันนี้จะช่วยเราได้มากกว่า” นายปิยะกล่าว