
สงครามราคาพัสดุทำพิษ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (Kerry Express) พลิกขาดทุนหนักกว่า 2 พันล้านบาท จากราคาส่งพัสดุที่ถูกลง ดีเซลราคาสูงขึ้น และปัญหาตลาดแรงงาน
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการประจำปี 2565 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ มีรายได้อยู่ที่ 17,003.0 ล้านบาท มีต้นทุนการขายและให้บริการ 18,685.1 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 2,898.5 ล้านบาท
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- กรุงไทย-ออมสิน ระเบิดโปรฯ เงินฝาก “ดอกเบี้ยพิเศษ” เช็กเงื่อนไขที่นี่
โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นคือ ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และสภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวทั่วประเทศ
ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่เป็นรายได้หลักของบริษัท กลายเป็นกลุ่ม B2C (Business to Consumer) ต่างจากเมื่อปี 2564 กลุ่มลูกค้าที่เป็นรายได้หลักคือ กลุ่ม C2C (Consumer to Consumer)
บริษัทให้คำอธิบายเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ผลประกอบการที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า ตลอดปีที่ผ่านมา บริษัทดำเนินกลยุทธ์ด้านการจัดส่งพัสดุด่วนอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถเพิ่มปริมาณการจัดส่งพัสดุได้ถึง 18% แต่ด้วยการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรงและภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้รายได้ของบริษัทนั้นลดลงจากการปรับลดราคาค่าส่งพัสดุ
ขณะที่ต้นทุนการขายและการให้บริการของบริษัท ในปี 2565 กลับสูงขึ้น จากราคาน้ำมันดีเซลในปีที่ผ่านมา ที่ปรับขึ้นถึง 22.5% รวมถึงตลาดแรงงานที่มีภาวะตึงตัวในหลายภูมิถาค ที่เพิ่มความท้าทายต่อการปรับใช้แผนการลดค่าใช้จ่ายของบริษัท
โดยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทมีการปรับลดค่าใช้จ่ายที่เข้มข้นขึ้น ตั้งแต่การลดค่าใช้จ่ายและทรัพยากรส่วนเกินเชิงรุก การปรับโครงสร้างพนักงานในองค์กร การปิดจุดให้บริการและศูนย์กระจายพัสดุที่มีต้นทุนสูงและประสิทธิภาพต่ำ รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน
บริษัทยังระบุอีกว่า แม้จะดำเนินแผนลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กรแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการลดลงของ Margin ได้
ขณะที่เป้าหมายในปี 2566 บริษัทระบุว่า ให้ความสำคัญอย่างสูงกับการปรับปรุงความสามารถในการทำกำไร พร้อมกับการมุ่งเน้นคุณภาพการให้บริการ ผ่านการปรับขนาดของเครือข่ายให้เหมาะสม ปรับปรุงกระบวนการด้วยระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และปรับปรุงสัดส่วนรายได้ตามกลุ่มลูกค้า (Revenue Mix) ที่เหมาะสมของบริษัท
ใช้แนวคิด LEAN เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบริษัท
เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ประกาศใช้แผนเชิงรุก ด้วยแนวคิดแบบ LEAN โปรแกรม เข้ามาปรับใช้ในการทำงาน รวมถึงแผนการลงทุนเพื่อเร่งพัฒนาประสิทธิภาพด้านการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน
โดยแผนเชิงรุกดังกล่าว ประกอบด้วย การลดต้นทุนในการจัดการค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด และยกเลิกการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่า การลดค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูง การงดและจำกัดการรับพนักงานเพิ่มชั่วคราวในทุกแผนก และการปิดจุดการให้บริการในสาขาที่ผลประกอบการไม่เป็นไปตามกำหนด
นอกจากนี้ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ยังเร่งการลงทุนในด้านการจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบที่จะเข้ามาพัฒนากระบวนการทำงานให้เป็นอัตโนมัติยิ่งขึ้นในหลาย ๆ ด้าน โดยเครื่องมือและอุปกรณ์ชุดแรกจะมาถึงกรุงเทพฯ ในไตรมาสแรก และจะพร้อมใช้งานภายในไตรมาส 2 นี้
แนะธุรกิจรับ-ส่งพัสดุเร่งปรับตัว มุ่งสู่ตลาดใหม่
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ SCB EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ เคยแนะนำไว้เมื่อปี 2565 ว่า การแข่งขันของธุรกิจรับ-ส่งพัสดุในปี 2565 การแข่งขันด้านราคายังมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง จากที่ผู้เล่นรายใหญ่ยังคงใช้กลยุทธ์ด้านราคา อีกทั้ง ยังมีผู้เล่นอีกหลายรายที่เร่งขยายการให้บริการ
อย่างไรก็ดี แนวโน้มการลดลงของค่าจัดส่งพัสดุจากการแข่งขันอาจจะค่อนข้างจำกัด เนื่องจากอัตราค่าจัดส่งพัสดุในปัจจุบันได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มให้บริการไม่คุ้มทุนแล้ว และมีบางรายที่ยังขาดทุนต่อเนื่องหลายปี หรือแม้กระทั่งปิดกิจการไป ยิ่งไปกว่านั้น ต้นทุนดำเนินการของผู้ประกอบการก็ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการควรเริ่มปรับตัวและขยายบริการไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่ยังเป็นตลาดที่ค่อนข้าง Blue Ocean มากยิ่งขึ้น ได้แก่
- เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
- เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ หรือแบบไม่เต็มคันรถ (Less than Truckload: LTL)
- เทรนด์การให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร
- เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วน ทั้งสินค้าแบบแช่เย็นและแช่แข็ง