รมว.คลัง มั่นใจเศรษฐกิจไทยเติบโต เร่งกระตุ้นลงทุนช่วยขับเคลื่อน 

อาคม-รมว.คลัง

รมว.คลัง ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง รับอานิสงส์ท่องเที่ยวและการเร่งลงทุนจากภาครัฐ-เอกชน เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ด้านความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยยังน่ากังวลในปีนี้ ยันฐานะการเงินไทยยังแข็งแกร่งรับมือได้

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ และการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งในด้านการใช้จ่ายของภาครัฐบาลยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านของการลงทุน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตในอนาคตของประเทศ

ขณะที่ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังมีความเสี่ยงโดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แม้ว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีกว่าที่คาด แต่ในช่วงไตรมาส 1/66 ภาคการส่งออกในเชิงปริมาณหดตัว แต่มูลค่ายังแข่งขันได้เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่า

“ยืนยันว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่เราไม่ชะลอด้วย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าการขยายตัวเศรษฐกิจไทยโตเป็นบวกจากปีที่ผ่านมาได้เพียงไม่กี่ประเทศ แต่สิ่งที่ต้องทำเพื่อสนับสนุนการส่งออกคือ การมองหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดเพื่อนบ้านที่มีโอกาสเติบโตค่อนข้างสูง ในกลุ่มสินค้าเอสเอ็มอี” นายอาคมกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังมี แต่ด้านฐานะทางการคลังยังแข็งแกร่ง โดยปัจจุบันจากการขยายเพดานเงินกู้ ส่งผลให้ไทยยังมีพื้นที่ทางการคลัง และมีช่องว่างที่จะกู้เงินเพิ่มเติมได้ถึง 10% ของ GDP ในกรณีที่เกิดวิกฤตและต้องหาเงินช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดการเสียวินัยทางการคลังด้วย ประกอบกับปัจจุบันหนี้ต่างประเทศของไทยมีสัดส่วนน้อยกว่าเงินกู้ในประเทศ ส่งผลให้ฐานะการเงินการคลังของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี

ทั้งนี้ สิ่งที่อยากจะย้ำคือตัวที่จะทำให้เศรษฐกิจโตต่อไปได้ คือการลงทุน โดยเฉพาะปีนี้เรื่องการลงทุนของภาคเอกชน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานควรเร่งตัวขึ้น เพราะปีที่ผ่านมาการลงทุนของไทยมีความล่าช้าจากข้อจำกัดด้านโควิด ดังนั้น ในปีนี้เเรงขับเคลื่อน คือการลงทุน ซึ่งโครงการ EEC จะมีนัยสำคัญของการสร้างการเติบโตในปีต่อ ๆ ไป

นอกจากนี้ ในการดำเนินนโยบายนั้น รมว.คลังยืนยันว่านโยบายการเงินและการคลังต้องสอดประสานและทำงานร่วมกัน โดยการดูแลในเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อ การใช้นโยบายการเงินการคลัง เพื่อดูแลเงินเฟ้อนั้น เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการทำนโยบายการเงินนั้น ซึ่งต้องดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยไม่สร้างต้นทุนให้ธุรกิจมากเกินไป และไม่สร้างต้นทุนให้ครัวเรือน