ปฏิกริยาลูกโซ่ หุ้นถูกเทขายจน “ถล่มทลาย”

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor)
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor)

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กูรูนักลงทุนวีไอ สะท้อนพัฒนาการ Corner แตก ในตลาดหุ้นไทย พร้อมกางกระบวนการ “ปฏิกริยาลูกโซ่” หุ้นถูกเทขายจน “ถล่มทลาย” เตือนเลี่ยงเข้าไปเล่นหุ้นผันผวนหนักและคาดการณ์ยาก

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ช่วงเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นขนาดกลางและเล็กหลายตัวและหลาย “กลุ่ม” ที่มีความสัมพันธ์กันทางด้านบริษัทและผู้ถือหุ้นใหญ่ ตกลงมาแรงอย่าง “พร้อมเพรียงกัน” บางตัวและบางกลุ่มตกลงมาแล้วถึง 30-50% จากจุดสูงสุด

โดยที่เหตุผลส่วนใหญ่ก็คือ ผลประกอบการหรือการคาดการณ์ว่าผลประกอบการที่ประกาศ “น่าผิดหวัง” แต่ที่จริงบางตัวก็ไม่ได้น่าผิดหวังมาก กำไรยังโตขึ้นด้วยซ้ำแต่ก็เป็นการโตที่น้อยกว่าที่ตลาดคาด ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ผลประกอบการที่แย่ลงแค่นั้นโดยปกติก็ไม่น่าจะทำให้ราคาหุ้นต้องตกลงมาขนาดนั้น

ปรากฎการณ์ “Corner แตก”

สิ่งสำคัญที่ทำให้หุ้นตกหนักมากน่าจะอยู่ที่ปรากฎการณ์ที่ผมเรียกว่า “Corner แตก” ซึ่งความหมายก็คือ หุ้นเหล่านั้นถูก “Corner” หรือ “ต้อนเข้ามุม” หรือกวาดซื้อโดยเฉพาะจากนักลงทุนรายใหญ่ที่อาจจะไม่สนใจเรื่องของ “มูลค่าพื้นฐานของหุ้น” มาก่อน

ซึ่งทำให้ราคาหุ้นสูงผิดปกติไปมาก บางทีหลาย ๆ เท่าเมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริง และในกระบวนการที่หุ้นวิ่งขึ้นไปแรงและสูงมากนั้น ทำให้มีคนเชื่อและมีนักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยจำนวนมากเข้าร่วมเล่นเก็งกำไรในหุ้นตัวนั้นโดยที่คิดว่ามันคือ “หุ้นดีสุดยอด”

แต่เมื่อผลประกอบการออกมาที่แสดงว่ามันไม่จริงหรือเป็นเรื่องหลอกลวง คนบางคนก็เทขายหุ้น ทำให้หุ้นตก และก็ทำให้คนอื่นเทขายตามในขณะที่คนซื้อโดยเฉพาะที่เป็นรายใหญ่ “รับไม่ไหว” หุ้นจึงตกลงมาแรง

คนที่เล่นหุ้นที่ถูก Corner รวมถึงรายใหญ่ที่เป็นคน Corner หุ้นนั้น จำนวนมากอาศัยการกู้เงินหรือซื้อหุ้นด้วยมาร์จิน เพื่อ “เพิ่มพลัง” การเล่นและการทำ Corner นั่นก็คือ อาจจะสามารถซื้อหุ้นเพิ่มได้เป็น 2 เท่า ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปได้อาจจะ 4 เท่า ทำกำไรเพิ่ม “บนกระดาษ” เพิ่มขึ้น 8 เท่า

ก่อนที่จะเริ่ม “ออกของ” หรือ “ทยอย” ขายทำกำไรเป็นเงินสดจริงเมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่รวมถึงนักลงทุนที่ “ชาญฉลาด” อย่างนักลงทุนสถาบันเชื่อว่ามันคือ “หุ้นดี โตเร็ว และ ไม่แพง” แม้ว่าจะมีค่า PE กว่า 40-50 เท่าขึ้นไป

แต่การประกาศหรือการรู้ว่าผลประกอบการจะออกมาไม่ดีได้ทำลายโอกาส “ออกของ” อย่างเป็นระเบียบราบรื่น หุ้นที่ตกลงมาแรงจนถึงจุดที่คนซื้อด้วยมาร์จินบางคนถูกบังคับขายซึ่งทำให้หุ้นตกลงมาอีก จนถึงจุดที่อีกคนหนึ่งจะต้องถูกบังคับขายตาม และกระบวนการนี้ก็กลายเป็น “ปฏิกริยาลูกโซ่” หุ้นถูกเทขายจน “ถล่มทลาย” และเมื่อราคาลงมาแรงขนาดนั้น นักลงทุนรวมถึง “ผู้ชาญฉลาด” ก็ “ขาดความมั่นใจ” และก็ “เปลี่ยนมุมมองต่อหุ้น” ว่ามันไม่ดีอย่างที่เคยคิด แม้ว่าเมื่อ 2-3 เดือนก่อนยังบอกว่าเป็นหุ้น “สุดยอด”

การ Corner หุ้นในตลาดไทยนั้น ในระยะหลัง ๆ มีการพัฒนาไปมาก เฉพาะอย่างยิ่งก็คือนัก Corner หุ้นรายใหญ่หรือคนที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จและมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นมาก ต่างก็ขยายไปทำหุ้นตัวอื่นที่มองแล้วมีโอกาสทำสำเร็จได้ง่ายแบบที่เคยทำ

ดังนั้น คน ๆ เดียวจึงมักจะ Corner หุ้นหลายตัว เช่นเดียวกับนักเล่นหุ้นเก็งกำไรรายย่อยก็เล่นหุ้น Corner หลายตัวพร้อม ๆ กัน คนต่างก็เชื่อว่าการทำแบบนี้จะได้ผลดีขึ้น

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ สร้าง “ความน่าเชื่อถือ” ให้กับตัวหุ้นแต่ละตัวว่าจะต้องประสบความสำเร็จแน่นอน เพราะ “จ้าว” รายนี้หรือกลุ่มนี้เข้าเล่นตัวนี้การันตีได้ว่า “ไม่ผิดหวัง” แน่นอน ดังนั้น หุ้นที่ถูก Corner ในตลาดจึงเต็มไปด้วย “เครือข่าย” โยงใยกัน เวลาวิ่งขึ้นก็ไปพร้อมกัน และเวลาลงก็ลงพร้อมกัน เพราะเงินมาจากกระเป๋าเดียวกัน

ประเด็นสำคัญต่อไปก็คือ “Corner” ของหุ้นแต่ละตัวนั้น แตกไปแค่ไหนแล้ว? เราคงไม่อยากเข้าไป “เล่น” ถ้ามันแตกไปแค่ “ครึ่งเดียว” เพราะในไม่ช้ามันก็จะแตกต่อไปจนหมด ราคาหุ้นมีการซื้อขายเป็นธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ที่มักจะสะท้อนออกมาที่ราคาหุ้นที่ยุติธรรม มีค่า “PE ปกติ” ตามอุตสาหกรรมและคุณสมบัติของตัวบริษัท เช่น ถ้าเป็นสถาบันการเงินก็อาจจะบอกว่าต้องรอให้มีค่า PE ประมาณ 10 เท่าก่อนที่จะพิจารณาซื้อหุ้นลงทุน เป็นต้น

โดยปกติถ้า Corner แตกหมดแล้ว ปริมาณการซื้อขายหุ้นจะลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญ ราคาหุ้นก็จะตกลงไปมาก ขนาดตกลงไป 70-80% จากราคาสูงสุดก็เป็นไปได้ บางทีเราก็อาจจะต้องดูว่า ราคาก่อนที่จะมีการ Corner หุ้นนั้น เป็นเท่าไร เพื่อที่จะดูว่าราคาหุ้นที่เหมาะสมตามพื้นฐานควรจะเป็นเท่าไร

อย่างไรก็ตาม สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นเพียงแนวทางเริ่มต้นที่จะดู สาเหตุเพราะว่า ในบางครั้ง กิจการของบริษัทอาจจะดีขึ้นจริง ราคาหุ้นอาจจะขึ้นไปได้ตามที่ควรจะเป็นแม้ว่าจะไม่มีการ Corner หุ้น อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่กิจการดีขึ้นตามปกตินั้น ส่วนใหญ่แล้วราคาพื้นฐานของหุ้นก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็วมากมายเป็นหลาย ๆ เท่าในเวลาแค่ 2-3 ปีได้ ถ้าไม่มีการ Corner หุ้น ไม่ว่าจะตั้งใจทำหรือไม่ก็ตาม

หุ้นที่ถูก Corner บางตัวที่ “แตก” ลงมาระดับหนึ่งเช่น “ครึ่งเดียว” นั้น ผมคิดว่าเป็นเพราะยังมีรายใหญ่ที่ “ค้ำ” อยู่ ไม่ยอมทิ้งให้หุ้นตกลงไปถึงพื้น เหตุผลก็เพราะว่าถ้าปล่อยแบบนั้น ความมั่งคั่งก็จะหายไปหนักมาก

พูดง่าย ๆ เขาอาจจะ “สู้ต่อ” และก็หวังว่าวันหนึ่งเมื่อท้องฟ้าโปร่ง สถานการณ์ดี กำไรบริษัทดีกลับขึ้นมา เขาหรือนักลงทุนรายใหม่ก็จะสามารถกลับมา Corner หุ้นและทำกำไรจากหุ้นได้อีก และนี่ทำให้ผมนึกถึง “หุ้นยักษ์” บางตัวที่อยู่ใน Corner และก็ “แตก” และก็กลับมา Corner ใหม่

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ในระยะยาวพอสมควร หุ้นที่มีราคาเกินพื้นฐานไปสุดกู่ เช่น เกินไป 100% จากมูลค่าพื้นฐานขึ้นไปก็มักจะอยู่ไม่ได้ จะต้องมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างทำให้ Corner แตก โดยเฉพาะถ้าหุ้นตัวนั้นไม่ใช่ “One Shareholder Company” คือ ผู้ถือหุ้นรายเดียวหรือครอบครัวเดียวถือหุ้นอยู่เกิน 70-80% ขึ้นไป

ประเด็นสุดท้ายก็คือ เป็นไปได้ไหมว่า การที่หุ้นขึ้นไปแรงมากเป็นหลาย ๆ เท่าในเวลาอันสั้น และตกลงมาแรงมากเป็นหลาย ๆ สิบเปอร์เซ็นต์ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเป็นพิเศษนั้น เป็นแค่เรื่องของการเก็งกำไรธรรมดา โดยที่หุ้นขึ้นเพราะว่ามันดีมากในสายตาของนักลงทุนบางคนเขาจึง “ไล่ซื้อ”

เช่นเดียวกับเวลาที่เกิดเหตุการณ์ไม่ดีหรือนักลงทุนบางคน “เปลี่ยนมุมมอง” แล้วก็ “เทขาย” ไม่ได้มีใครมา “ปั่นหุ้น” โดยการทำ “Corner” การซื้อขายทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมชาติ? และว่าที่จริง นักลงทุนแนวเน้นหุ้นเติบโต หรือ “Growth Investor” เขาก็ซื้อขายหุ้นแนวนี้และไม่สนใจเรื่องของราคาว่าจะแพงมากแค่ไหน

ข้อนี้ผมเองได้สังเกตและวิเคราะห์จากข้อมูลของ “หุ้นเติบโต” เช่น ในตลาดหุ้นอเมริกันก็พบว่าไม่สามารถนำมาอธิบายหุ้นที่ถูก Corner ในตลาดหุ้นไทยได้ จริงอยู่ มีบางอย่างคล้าย ๆ กัน แต่ระดับของกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นนั้นแตกต่างกันมาก และหุ้นสหรัฐที่มีพฤติกรรมแบบหุ้นที่ถูก Corner ของไทยนั้นมักจะมีแต่ “หุ้นที่จะเปลี่ยนโลกจริง ๆ” เท่านั้นที่จะหวือหวาและขึ้นลงแรงแบบนั้น

ตัวอย่างเช่น หุ้นเฟซบุ๊กช่วงเข้าตลาดหุ้นใหม่ ๆ หรือหุ้นอย่างเทสลาเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ซึ่งผมเองก็ยังสงสัยและรู้สึกว่า เทสลาอาจจะไม่ใช่หุ้นเปลี่ยนโลกด้วยซ้ำ แต่เป็นหุ้นที่ถูก Corner ในสถานการณ์พิเศษของอเมริกาที่เกิดการเก็งกำไรสุดกู่ในตลาดหุ้นช่วงโควิด-19 ซึ่งในกรณีของหุ้นไทย ผมไม่เห็นเลยว่าจะมีบริษัทไหนที่จะเป็นแบบนั้น

ข้อสรุปสุดท้ายของผมต่อเรื่องของหุ้นที่ถูก Corner ก็คือ ผมจะหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเข้าไปร่วมเล่นหรือมีส่วนเข้าไป Corner เองแม้โดยไม่ตั้งใจ นอกจากนั้น แม้ว่า Corner อาจจะแตกไปแล้ว ไม่ว่าจะบางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งทำให้ราคาหุ้นอาจจะไม่ได้แพงเมื่อเทียบกับพื้นฐานผมก็ไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ผมไม่อยากเล่นกับหุ้นที่มีความผันผวนหนักและคาดการณ์ยาก ผมอยากใช้ชีวิตการลงทุนที่ทำแบบชิล ๆ อยู่กับหุ้นได้นาน ๆ และไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนเพราะ Corner แตก โดยไม่ต้องกังวลกับเหตุการณ์อะไรมากนักแม้ว่าพอร์ตอาจจะโตช้าลงไปบ้าง