บลจ.กสิกรไทย ตั้งเป้าเติบโต 1.55 ล้านล้าน มุ่งสู่อันดับหนึ่งในใจผู้ลงทุน

บลจ.กสิกรไทย

บลจ.กสิกรไทย ตั้งเป้าหมายปี’66 เติบโตไปอยู่ที่ 1.55 ล้านล้านบาท พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์มุ่งสู่การเป็นธุรกิจที่ครองใจลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง ภายใต้แนวคิด Top of Mind Investment House ควบคู่กับการบูรณาการด้าน ESG เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) พร้อมผู้บริหารของบลจ.กสิกรไทย ร่วมแถลงแผนกลยุทธ์ปี 2566 มุ่งสู่การเป็นธุรกิจที่ครองใจลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง ภายใต้แนวคิด Top of Mind Investment House ควบคู่กับการบูรณาการด้าน ESG เพื่อช่วยยกระดับตลาดทุนไทย และเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนมีความมั่งคั่งจากการลงทุนในกองทุนรวม อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย ตั้งเป้าหมายปี 2566 เติบโตไปอยู่ที่ 1.55 ล้านล้านบาท

นายอดิศรกล่าวต่อไปว่า แผนกลยุทธ์ปี 2566 ของบลจ.กสิกรไทย ได้ให้ความสำคัญใน 5 ด้าน โดยเริ่มต้นจาก 1) มุ่งสร้างผลตอบแทน ด้วยการต่อยอดและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการกองทุนให้ได้ผลตอบแทนที่โดดเด่นอย่างสม่ำเสมอ 2) สร้างความน่าเชื่อถือ ผ่านการให้คำแนะนำที่เหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมา 3) ดูแลคู่ค้าอย่างเข้าใจ พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ตามโจทย์ของคู่ค้าแต่ละราย เพื่อนำไปเสนอขายให้ตรงใจผู้ลงทุน

4) บริหารพอร์ตให้กับผู้ลงทุนสถาบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์และสภาพคล่องให้กับลูกค้าผู้ลงทุนสถาบัน และ 5) ตัวช่วยวางแผนเกษียณ นำเสนอตัวเลือกที่หลากหลาย ตอบโจทย์ทุกเป้าหมายเกษียณให้แก่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ กลยุทธ์ดังกล่าวจะทำควบคู่กับการบูรณาการด้าน ESG และครอบคลุมลูกค้าทั้ง 3 ธุรกิจ ทั้งธุรกิจกองทุนรวม ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล และธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงตัวแทนผู้จัดจำหน่าย ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของ บลจ.กสิกรไทย

“สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัว ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีความผันผวนสูง ในขณะที่ตลาดได้สะท้อนความคาดหวังต่อสัญญาณเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงไปแล้ว ทำให้ในระยะถัดไปคาดว่าจะเริ่มเห็นโอกาสการกลับมาของตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย นำโดยประเทศจีน ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าฝั่งสหรัฐและยุโรป อันมีปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยเปิดประเทศ การบริโภคจำนวนมหาศาล และความก้าวหน้าทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี

ส่วนประเทศเวียดนามยังคงมีความน่าสนใจ จากระดับการประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation) และปัจจัยภายในประเทศทั้งการบริโภค การส่งออก และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ อีกทั้งในระยะยาว เวียดนามยังมีโอกาสที่จะได้รับการปรับสถานะจากตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) เป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งจะทำให้มีฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาได้อีกมาก

สำหรับประเทศไทยมีทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นบวกมากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวทั่วโลก การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม และเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติ โดยมองเป้าหมายดัชนีปลายปีอยู่ที่ระดับ 1,800 จุด ด้านตลาดตราสารหนี้ไทยปัจจุบันได้สะท้อนถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตที่ระดับประมาณ 2.00-2.25% แล้ว มองว่าการลงทุนในตราสารหนี้ไทยยังมีความน่าสนใจและอยู่ในระดับที่สามารถเข้าลงทุนได้” นายอดิศรกล่าว

จากสภาวะตลาดปัจจุบันที่ยังสะท้อนความน่าสนใจของตลาดตราสารหนี้ ในขณะที่เริ่มเห็นทิศทางการกลับมาของตลาดหุ้นทั่วโลก บลจ.กสิกรไทย จึงอยากแนะนำให้ผู้ลงทุนใช้หลักกระจายการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเพียงสินทรัพย์เดียว และเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนในทุกสภาวะตลาด โดยลงทุนผ่านกองทุนผสม ซึ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายที่เน้นกระจายการลงทุน

ได้แก่ K-GINCOME, K-PLAN2, K-PLAN3 สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนเป็นรายกอง เพื่อเพิ่มสัดส่วนให้กับพอร์ตการลงทุนด้วยตัวเอง ก็สามารถลงทุนในกองทุนที่สอดรับกับมุมมองข้างต้นได้เช่นกัน ซึ่งประกอบไปด้วย กองทุนหุ้นต่างประเทศ ได้แก่ K-CHANGE, K-CHINA กองทุนหุ้นไทย ได้แก่ K-STAR กองทุนตราสารหนี้ ได้แก่ K-SF ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอทุกเดือนผ่านการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Average : DCA) ผ่าน App K-My Funds เพื่อเป็นการฝึกวินัยทางการเงินและส่งเสริมให้เกิดความมั่งคั่งในอนาคต


นายอดิศรกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีที่ผ่านมา บลจ.กสิกรไทย มีจำนวนผู้ลงทุนผ่านช่องทางดิจิทัลทั้ง K-PLUS และ K-My Funds เป็นจำนวน 357,086 ราย คิดเป็นสัดส่วน 43% จากจำนวนผู้ลงทุนทั้งหมด และสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ได้ในทุกช่องทางรวมเป็นจำนวน 136,842 ราย ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) อยู่ที่ 1.41 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจกองทุนรวม 9.93 แสนล้านบาท ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2.34 แสนล้านบาท และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล 1.88 แสนล้านบาท โดยยังครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมกองทุนรวม (ข้อมูลจาก บลจ.กสิกรไทย ณ 31 ธ.ค. 65)