ประกันภัยชิงเค้กเบี้ยต่างชาติ รัฐแบ่ง “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ซื้อกรมธรรม์

ธุรกิจประกันภัยชิงเค้กเบี้ย “ค่าเหยียบแผ่นดิน” คปภ.เร่งถกกระทรวงการท่องเที่ยวฯ หาข้อสรุป “เปิดประมูล” หรือ “รวมกลุ่มรับประกัน” เผยความคุ้มครองจ่าย “ท็อปอัพ” เติมจากเพิ่มที่จ่ายกรณีประสบภัยจากรถ-เรือ-อาคารสาธารณะอยู่แล้ว ขณะที่ “สมาคมประกันวินาศภัยไทย” หนุนนโยบายรัฐ ยืนยันรวมกลุ่มเข้าไปรับประกัน-คิดเบี้ยให้ต่ำที่สุด

นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้าประเทศไทย โดยผ่านช่องทางอากาศเก็บ 300 บาทต่อคนต่อครั้ง และผ่านช่องทางบกเก็บ 150 บาทต่อคนต่อครั้ง

ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2566 โดยค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะแบ่ง 50 บาท สำหรับซื้อประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุ เพื่อให้ความคุ้มครองนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนที่เหลือจะส่งเข้ากองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเชิญสำนักงาน คปภ. เข้าไปหารือเพิ่มเติมอีกครั้ง

“ตอนนี้ เรารอประกาศข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) ที่จะประกาศออกมาด้วย เพื่อจะได้แจ้งสมาชิกบริษัทประกันภัยที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าไปแข่งขันประมูล ซึ่งจากที่ได้พูดคุยกันในเบื้องต้น ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ต้องการให้บริษัทประกันภัยเข้าไปแข่งประมูล มากกว่ารวมกลุ่มเข้าไปรับประกัน (insurance pooling)”

อาภากร ปานเลิศ
อาภากร ปานเลิศ

ทั้งนี้ เงื่อนไขความคุ้มครองมีการหารือแนวทางกันไว้แล้ว โดยจะเป็นลักษณะความคุ้มครองแบบท็อปอัพ จากที่กฎหมายภายในประเทศให้ความคุ้มครองกับคนเกิดอุบัติเหตุไว้บางส่วนแล้ว เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จะได้รับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต 5 แสนบาท ประกันภัยเรือโดยสารภาคบังคับของกรมเจ้าท่า จะได้รับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต 1 แสนบาท และประกันภัยอาคารสาธารณะ จะได้รับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต 1 แสนบาท

โดยหากเป็นการเกิดอุบัติเหตุทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุข้างต้น จะได้รับวงเงินชดเชยตามกรมธรรม์ประกันภัยตัวนี้สูงสุดกรณีเสียชีวิต 1 ล้านบาท วงเงินค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 5 แสนบาท โดยรวมเงินช่วยเหลือการเคลื่อนย้ายศพกลับประเทศหรือการเคลื่อนย้ายฉุกเฉินไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ และมีค่าปลงศพจ่ายตามจริงไม่เกิน 1.5 แสนบาท

มีค่าชดเชยฟื้นฟูสภาพจิตใจจากเหตุจลาจล/ก่อการร้าย แบบวงเงินเหมาจ่าย 2 หมื่นบาท มีการชดเชยกรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน (IPD) แบบวงเงินเหมาจ่าย 5,000 บาท และสูญเสียหรือเสียหายจากการหยุดชะงักของการเดินทาง จ่ายไม่เกิน 2,000 บาทต่อวัน ทั้งนี้ไม่เกิน 10 วัน ระยะเวลาคุ้มครอง 30-45 วัน

“ยกตัวอย่าง หากนักท่องเที่ยวต่างชาติประสบภัยจากรถ กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินชดเชยสูงสุด 5 แสนบาท ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และจะได้รับเงินชดเชยจากประกันภัยตัวนี้เพิ่มอีก 5 แสนบาท (รวมวงเงินชดเชยสูงสุดที่ 1 ล้านบาท)”

นายอาภากรกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีประมาณ 40 ประเทศทั่วโลก ที่เรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน แต่ประเทศไทย ถือเป็นชาติแรกของโลก ที่เก็บค่าเหยียบแผ่นดิน แล้วแบ่งเงินมาซื้อความคุ้มครองด้านประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเรื่องนี้จะช่วยสนับสนุนภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย เพราะตอนนี้ภาคท่องเที่ยวถือเป็นแหล่งรายได้หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

“สิ่งที่จะส่งผลดีตามมาอีก ก็คือ เป็นการเปิดช่องทางให้ธุรกิจประกันภัยสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อดูแลความเสี่ยงนักท่องเที่ยวต่างชาติในเรื่องอื่น ๆ ได้มากขึ้น เช่น ประกันภัยเรือข้ามฟาก/ข้ามเกาะภายในประเทศ เป็นต้น”

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมพร้อมเข้าไปสนับสนุนมาตรการนี้ แต่อย่างไรก็ดี จากการพูดคุยกับสมาชิกบริษัทประกันวินาศภัย คาดว่าจะเป็นการรวมกลุ่มเข้าไปรับประกันมากกว่าแข่งขันประมูลรายบริษัท

อานนท์ วังวสุ
อานนท์ วังวสุ

“จริง ๆ มาตรการนี้ พูดคุยกันมาหลายปีแล้ว แต่ดันมาเจอสถานการณ์โควิด จึงชะลอไป ซึ่งเราเคยคุยกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯไว้แล้วว่า จะรวมกลุ่มเข้าไปรับประกัน และจะคำนวณเบี้ยประกันให้ต่ำที่สุด เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ

โดยไม่ได้หวังเอากำไรมากมาย เหมือนในอดีตที่มีอยู่ปีหนึ่งเคยรับประกันภัยก่อการร้าย ค่าเบี้ยประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี เบี้ยต่อหัวประมาณ 6 บาท แต่รอบนี้ถ้าคุ้มครองประกันอุบัติเหตุ ค่าเบี้ยต่อหัวน่าจะหลายสิบบาท แต่ถ้าลักษณะความคุ้มครองเป็นแบบท็อปอัพตามที่ คปภ.กล่าว ค่าเบี้ยจะถูกลงได้”