สศช.หวั่นส่งออกเดี้ยงกระทบจ้างงาน-ท่องเที่ยวขาดแคลนแรงงาน 1 หมื่นตำแหน่ง

ส่งออก

สศช. ชี้การจ้างงาน-อัตราการว่างงานปรับตัวดีขึ้น-ชั่วโมงทำงานฟื้นเทียบเท่าก่อนโควิด แรงงานเคลื่อนย้ายจากภาคเกษตรสู่นอกภาคเกษตร แต่ภาคท่องเที่ยวยังขาดแคลนแรงงานราว 1 หมื่นตำแหน่ง หวั่นภาคส่งออกเดี้ยงกระทบการจ้างงาน-เงินเฟ้อสูงกระทบกำลังซื้อแรงงาน

วันที่ 2 มีนาคม 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 การจ้างงานและอัตราการว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.5% โดยมีผู้มีงานทำ 39.6 ล้านคน ซึ่งทั้งปี 2565 การจ้างงานเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1% ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่อง ทั้งปี 2565 อยู่ที่ 1.32%

“อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะอัตราการว่างงานในระบบที่ลดลงมาตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2565 ขณะนี้อัตราการว่างงานในระบบอยู่ที่ 1.69% และอัตราการว่างงานโดยรวมอยู่ที่ 1.15% ซึ่งก็ลดลงมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2564 แล้ว” นายดนุชากล่าว

ทั้งนี้ ในไตรมาส 4 ปี 2565 การจ้างงานที่ขยายตัว 1.5% พบว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตร เพิ่มขึ้นประมาณ 27.4 ล้านคน ขณะที่แรงงานในภาคเกษตรปรับลดลง

แรงงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น จะอยู่ในส่วนของโรงแรม ภัตตาคาร ภาคการผลิต ภาคขนส่ง และเก็บสินค้า ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปนอกภาคเกษตรมากขึ้น ต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว
ขณะที่ชั่วโมงการทำงานก็ปรับตัวดีขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของเอกชนในไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 46.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนทั้งปีอยู่ที่ 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว ส่วนผู้ที่ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นประมาณ 9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และผู้เสมือนว่างงานก็ปรับตัวลดลง โดยสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 19%

ด้านค่าจ้างแรงงานภาพรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 13,964 บาทต่อคนต่อเดือน โดยในส่วนของภาคเอกชน อยู่ที่เฉลี่ย 15,416 บาทต่อคนต่อเดือน

นอกจากนี้ หากดูอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษา ก็พบว่าลดลงในทุกระดับการศึกษา แสดงให้เห็นว่าตอนนี้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ประเด็นด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญ 1.การจ้างงานในอุตสาหกรรมการส่งออก เนื่องจากมีสัญญาณว่าการส่งออกจะชะลอลง ก็ต้องเร่งขยายการส่งออก เพื่อให้แรงงานในภาคนี้ยังมีงานทำได้ต่อไป 2.ภาระค่าครองชีพ จากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไปบ้างแล้วก็ตาม
และ 3.การขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ยังคงขาดแคลน

“ปี 2566 นี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 28 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันกิจการโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร และร้านค้ายังมีความต้องการแรงงานประมาณ 10,000 ตำแหน่ง ใน 60 จังหวัด” เลขาธิการ สศช.ระบุ