คลังเปิด 4 ลักษณะเข้าข่ายหลอกลวง-ตุ๋นลงทุน ฉ้อโกงประชาชน

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ มิจฉาชีพ

คลังแจ้งเตือนประชาชนระวังถูกชักชวนร่วมลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ อ้างจ่ายผลตอบแทนสูง “ทอง-เงิน” ล่อใจ เผย 4 ลักษณะเข้าข่ายหลอกลวง-ส่อทำผิด พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน                     

วันที่ 8 มีนาคม 2566 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขอแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการชักชวนเข้าร่วมลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่ ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

สืบเนื่องจากปัจจุบันมีบุคคล กลุ่มบุคคลหรือบริษัทหลายแห่งได้จัดหาวิธีการหรือรูปแบบการระดมทุนในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อจูงใจให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมลงทุน อาทิ การโฆษณาชักชวนให้นำเงินร่วมลงทุนและสัญญาจะให้ผลตอบแทนตามจำนวนเงินที่ลงทุน ซึ่งมีรูปแบบการเสนอผลตอบแทนที่ดึงดูดใจ เป็นการให้เงินและทองรูปพรรณ ของมีค่า เป็นต้น โดยเมื่อคำนวณแล้วเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูง

กระทรวงการคลังจึงขอแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง เนื่องจากพฤติการณ์ดังกล่าวน่าจะมีลักษณะเป็นการหลอกลวงและอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ กล่าวคือ

1) มีการโฆษณาชักชวนหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน เช่น การชักชวนผ่านออนไลน์ เป็นต้น

2) มีการให้สัญญาว่าจะจ่าย หรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจากการเข้าร่วมการลงทุน ซึ่งการจ่ายผลตอบแทนจะจ่ายเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดก็ได้

3) ผลประโยชน์ตอบแทนที่จะจ่ายให้นั้นมีอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้

และ 4) มิได้มีการประกอบกิจการที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูงตามที่สัญญานั้นได้ แต่สุดท้ายก็ใช้วิธีการหมุนเวียนเงินจ่ายให้กับผู้ร่วมลงทุน โดยนำเงินจากผู้ร่วมลงทุนรายใหม่จ่ายคืนให้กับผู้ร่วมลงทุนรายต้น ๆ

“ขอให้ประชาชนที่ถูกชักชวนให้ร่วมลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ตระหนักและระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงตัวในรูปแบบบุคคล หรือกลุ่มบุคคล หรืออาจอ้างอิงบุคคลที่มีชื่อเสียง มาเพื่อโน้มน้าวหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ จนอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของท่านได้”

สำหรับประชาชนที่ร่วมลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์แล้วเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ (เพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ) หรือเว็บไซต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (www.thaipoliceonline.com) หรือส่งเรื่องร้องเรียนมาที่กองนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่ง สศค.จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด

หากท่านมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนป้องปรามการเงินนอกระบบ กองนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ถนนพระราม 6 เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร.0-2169-7128 ถึง 36 ต่อ 153-160 หรือศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ โทร.1359