เตือนกลโกงออนไลน์ ลวงผ่าน Telegram

มิจฉาชีพไทยป่วนแอป Telegram อุกอาจ หลอกเล่นเกมผ่านช่องรีวิวบน Play Store สาวไทยถูกลวงกว่า 6 แสน ใน 3 ชั่วโมง

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า มีสาวไทยรายหนึ่งบอกเล่าประสบการณ์การถูกลวงโอนเงินผ่านแอปพลิเคชั่น Telegram กว่า 6 แสนบาท ใน 3 ชั่วโมง ผ่านไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งผู้สื่อข่าวได้ติดตามดูต้นทางของช่องทางหลอกลวงดังกล่าว พบว่ามิจฉาชีพได้ใช้วิธีการหลอกว่าจะมีการสอนงานออนไลน์ผ่านแอป Telegram จากนั้นจะต้องเติมเงินเป็นเครดิตเพื่อรับงาน และเติมเครดิตเพื่อถอนเงิน ซึ่งมิจฉาชีพมักจะลวงต่าง ๆ ให้ถอนไม่ได้ ต้องเติมเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจะถอน

กลวิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่พบเห็นได้บ่อยบนช่องทางโซเชียลแชต ทั้ง Messenger ของ Facebook และ Line ที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยอย่างดี ในขณะที่ Telegram ก็เป็นแอปพลิเคชั่นส่งข้อความเช่นเดียวกัน ซึ่งจุดเด่นของแอปนี้คือการเข้ารหัสความปลอดภัยของข้อความ เก็บข้อมูลไว้บนระบบคลาวด์ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้จากทุกอุปกรณ์ที่ติดตั้งแอป

Telegram เป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกง จนถึงการชุมชนของคนรุ่นใหม่ในไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากความหวาดกลัวว่าภาครัฐจะเข้าไปล้วงเอาข้อมูลการสนทนาที่เป็นความลับบนแอปพลิเคชั่นแชตทั่วไป

คุณสมบัติการปกปิดบทสนทนาให้เป็นความลับและนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Telegram เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะเอื้อให้มิจฉาชีพและอาชญากรไซเบอร์ใช้สื่อสารระหว่างกันอย่างกว้างขวางด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ Telegram จะมีผู้ใช้งานกว่า 400 ล้านบัญชีในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่แอปพลิเคชั่นที่ใช้แพร่หลายของคนทุกกลุ่ม อย่างเช่น Line ที่คนไทยนิยมใช้อย่างมาก จึงมีหลายคนไม่คุ้นเคย และนำไปสู่การล่อลวงให้กดดาวน์โหลด และส่งลิงก์แปลก ๆ ให้ในช่องสนทนา ส่วนมากจะเป็นลิงก์วิดีโอ 18+ ที่นำไปสู่การติดตั้งมัลแวร์ดูดข้อมูล หรือการหลอกล่อเพื่อขอรหัสบัญชี กระเป๋าคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อแลกกับเงิน รูปภาพส่วนตัว หรือสิ่งอื่น ๆ จูงใจให้คนเชื่อได้ง่าย เพราะเป็นช่องทางสื่อสารทางตรง

ความไม่เข้าใจว่าแอปพลิเคชั่นนี้มีลักษณะอย่างไร ทำให้คนไทยจำนวนมากสับสน ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปสำรวจหน้าเว็บ Play Store ร้านค้าสำหรับซื้อและดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยน์ พบว่ามี “หน้าม้า” และ “ผู้ประสบภัย” เข้าไปแสดงความเห็น “ภาษาไทย” ในช่องรีวิวกันเป็นจำนวนมากตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งการชักชวนทำงาน โฆษณาการฉ้อโกงของตน รวมถึงอธิบายว่าตนเองถูกโกงอย่างไร เช่น

“จะมีการสอนงานผ่านแอปนี้ ได้เงินจริง เล่นแรก ๆ ยอดจะไม่เยอะ พอไหวจ่ายได้ พอเริ่มภารกิจที่ 3 เราต้องเติมเครดิตเยอะขึ้นเพื่อจบออร์เดอร์นั้น ๆ ค่ะ ถ้าจบออร์เดอร์ได้จะได้เงินจริงนะคะ เราได้มา 2 ครั้งแล้วกับการทำ 2 ภารกิจที่แอดมินแนะนำ แต่ถ้าเล่นใหม่แนะนำทำแค่ 2 ภารกิจพอค่ะ เรากำลังทำภารกิจที่ 3 เหลือสินค้าอีก 4 ชิ้น เติมไปเกือบ 5 พันแล้วยังจบออร์เดอร์ไม่ได้เลยค่ะ คาดว่าน่าจะทะลุหมื่นถึงจะถอนเงินได้ ใครผ่านมาเห็นใจดีอินบอกซ์มาหาเราได้นะคะ หมดตัวแล้วจริง ๆ เราอยากได้เงินคืนจึงอยากจบออร์เดอร์เพื่อถอนเงินออกมาค่ะ”

“ช่วยแนะนำหน่อยค่ะ พอดีเราทำภารกิจไปจนถึงขั้นที่ 3 บอกฝากเงินเข้า 1,000 แต่ต้องทำภารกิจ 5 ภารกิจยอดรวม ๆ แล้วฝากเข้าเกือบ 20,000 แต่ถอนเงินคืนไม่ได้แบบนี้เข้าข่ายหลอกลวงใช่ไหมคะ ยังให้เราฝากเงินเข้าอีก 8 พันกว่าบาทมันใช่เหรอ เราสามารถเอาสลิปฝากเงินทั้งหมดไปแจ้งความได้ไหมคะ”

“มีบริษัทนึงแจ้งว่ารับงานฝีมือทำที่บ้านได้เงินจริง ใช้โปรแกรมนี้สอนงาน พอเข้ากลุ่มแล้วเป็นการให้ทำภารกิจกดไลก์ติ๊กต๊อกจะได้เงิน และกดลิงก์ shopee มีคนในกลุ่มได้กันเยอะ ส่งสลิปกันเยอะมาก แต่แจ้งว่าต้องจ่ายล่วงหน้าขั้นต่ำ 500”

“เล่นทำภารกิจในแอปนี้โดนโกงไปแสนกว่า ไม่รู้จะเอาคืนยังไง เพราะเสียดายเงิน ก่อนหน้าจริงทำตามจนเสียเยอะ ขอความช่วยเหลือหน่อยค่ะ”

ทั้งนี้ กลวิธีการโกงลักษณะดังกล่าวมีรูปแบบที่คล้ายกันกับที่พบส่วนใหญ่ใน Line หรือ Messenger แต่แอปพลิเคชั่นที่ไม่คุ้นอย่าง Telegram อาจทำให้เกิดความสับสนและหลงเชื่อได้ง่าย โดยเฉพาะมิจฉาชีพระดมหน้าม้าไป “รีวิว” ว่าได้เงินจริง บนหน้าร้านค้าแอปที่เป็นทางการของ Play Store ที่สร้างความน่าเชื่อถือและความสับสน

ดังนั้น ในอนาคตอาจมีแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันกับ Telegram ออกมาอีก ซึ่งต้องศึกษาและอัพเดตทักษะการตระหนักรู้ดิจิทัลใหม่ ๆ อย่างใกล้ชิด