
ไขคำตอบ โอนหุ้น “โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน” เสียภาษีหรือไม่ หลังจาก เศรษฐา ทวีสิน โอนหุ้น แสนสิริ ทั้งหมดกว่า 661 ล้านหุ้น ให้ลูกสาวด้วยวิธีการนี้ผ่าน บล.เกียรตินาคินภัทร เพื่อเตรียมพร้อมลงเล่นการเมือง
วันที่ 10 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI
- ชง “วาระด่วน” รัฐบาลใหม่ ทุนจีนผวารถไฟไทย-จีนเปลี่ยนทิศ
- เปิดประวัติ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ทีมประสานต่างประเทศพรรคก้าวไกล
- ร้อนแล้งขาดน้ำยาวถึงปี’67 เอลนีโญ ถล่มผลผลิตเกษตร
ได้โอนหุ้นทั้งหมดของ SIRI จำนวนกว่า 661,002,734 หุ้น ให้แก่นางสาวชนัญดา ทวีสิน (บุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว) โดยเป็นการโอน “โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน” ทำรายการนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

โดยเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ผมอยากแสดงความบริสุทธิ์ใจเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานการเมือง ผมจึงทำการโอนหุ้น หรือขายหุ้นของผมในบริษัทต่าง ๆ ลดบทบาทของตนเองในภาคเอกชนลง และได้ดำเนินการเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกกรณีครับ
ทั้งนี้ ประชาชาติธุรกิจจะพาไปไขคำตอบว่าวิธีการโอนหุ้น “โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน” ตามกรณีนี้จะเสียภาษีหรือไม่
โดยหากเจาะลึกลงในรายละเอียดเรื่องภาระภาษีสำหรับการโอนหุ้นจดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรณีลูกค้ามีการโอนหุ้นของบริษัทจดทะเบียนนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะกรณีการโอนข้ามชื่อ ลูกค้ามีภาระภาษีการโอนหุ้นดังต่อไปนี้
- กรณีบุคคลธรรมดาเป็นผู้โอน/ผู้ขายหุ้น ให้พิจารณาตามเกณฑ์เงินสด
1.1.กรณีผู้โอน/ผู้ขายมีกำไร ผู้โอน/ผู้ขายจะต้องนำกำไรที่ได้รับ เสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนผู้รับโอน/ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราก้าวหน้าตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่งให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
1.2 กรณีผู้โอน/ผู้ขายไม่ได้รับค่าตอบแทน ผู้โอน/ผู้ขายไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากไม่ได้รับเงินจากการทำธุรกรรม ดังนั้น ผู้รับโอน/ผู้ซื้อจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่เนื่องจากผู้รับโอน/ผู้ซื้อได้รับหุ้นมาโดยไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่าย จึงถือว่าผู้รับโอนมีเงินได้เท่ากับราคาตลาดของหุ้น ซึ่งต้องนำไปเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
โอนหุ้นให้โดยเสน่หา ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้
อย่างไรก็ดี การโอนที่เกิดจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา (เช่น พ่อแม่โอนให้ลูก เคสเดียวกับกรณีคุณเศรษฐา ทวีสิน) จากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ผู้รับโอนได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติหรือแม้แต่ในทางกฎหมายก็เคยมีคดีครึกโครมทั่วฟ้าเมืองไทยกันแล้ว แถมยังมีประเด็นโต้แย้งกันค่อนข้างบ่อยว่า ให้เท่าไหร่ถึงจะเป็นการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา ทำให้มีประเด็นโต้แย้ง หรือประเด็นประเมินภาษีอยู่บ่อย ๆ ดังนั้น หากมูลค่าหุ้นที่จะโอนให้กันไม่มาก เชื่อว่าหากมีประเด็นน่าจะพอหยิบยกเอาเจตนา และกฎหมายข้างต้นมาใช้ประกอบการชี้แจงได้
แต่หากมูลค่ามาก ลูกก็มีรายได้ และฐานะการเงินที่ดีอยู่แล้ว อาจจะลองพิจารณาขายหุ้นในราคาพาร์ให้ลูกน่าจะปลอดภัยกว่า สำหรับการให้หรือขายหุ้นสามัญ ควรทำหนังสือสัญญาโอนหุ้นเป็นหลักฐานให้เรียบร้อยจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องมีข้อโต้แย้งภายหลัง
ส่วนอื่น ๆ คือ 1.3 ผู้โอน/ผู้ขายขาดทุน เนื่องจากผลประโยชน์ที่ผู้โอน/ผู้ขายได้รับไม่เกินกว่าที่ลงทุน ผู้โอน/ผู้ขายและผู้รับโอน/ผู้ซื้อไม่มีภาระภาษี และเมื่อผู้รับโอน/ผู้ซื้อนำหุ้นไปขายนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมีกำไรเกิดขึ้น ผู้รับโอน/ผู้ซื้อก็จะต้องนำกำไรดังกล่าวไปเสียภาษีตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ดี หากผู้รับโอนนำหุ้นไปขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็จะได้รับยกเว้นภาษีตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
- กรณีนิติบุคคลเป็นผู้โอน/ผู้ขายหุ้น ให้พิจารณาตามเกณฑ์สิทธิ (มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร)
2.1 ผู้โอน/ผู้ขายมีกำไร ผู้โอน/ผู้ขายจะต้องนำกำไรที่ได้รับเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัฎากร ส่วนผู้รับโอน/ผู้ซื้อไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
2.2 ผู้โอน/ผู้ขายโอนหุ้นโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด ผู้โอน/ผู้ขายอาจถูกกรมสรรพากรประเมินภาษี หากไม่มีเหตุอันควร ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนผู้ซื้อไม่มีภาระภาษี
2.3 ผู้โอน/ผู้ขายขาดทุน ผู้โอน/ผู้ขายและผู้รับโอน/ผู้ซื้อไม่มีภาระภาษี
- กรณีการโอนหุ้นในธุรกรรมอื่น
3.1 การโอนหุ้นตามธุรกรรมให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) และธุรกรรมการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาซื้อคืน (Repo) ผู้โอนและผู้รับโอนได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2541 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 364) พ.ศ. 2542 ตามลำดับ
3.2 การโอนหุ้นในธุรกรรมอื่นที่ได้รับการยกเว้นภาษีประเภทต่าง ๆ เช่น การโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของผู้ประกอบการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด โดยโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทใหม่ที่ได้ควบเข้ากัน หรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมด ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังต่อไปนี้
(1) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการที่บริษัทควบเข้ากัน หรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทใหม่ที่ได้ควบเข้ากัน หรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมด ตามข้อ 2 (50) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 291 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
(2) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทควบเข้ากัน หรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทใหม่ที่ได้ควบเข้ากัน หรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมด
ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนและการโอนหุ้นที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับการควบเข้ากัน หรือการโอนกิจการทั้งหมด ตามมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 542) พ.ศ. 2555