กรุงศรีฯ คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 33.75-34.60 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาท

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 33.75-34.60 บาทต่อดอลลาร์ จับตาผลประชุมเฟด คาดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% พร้อมสื่อสารวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้สิ้นสุด มองประชุม กนง.มติไม่เอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% อยู่ที่ 1.75%

วันที่ 20 มีนาคม 2566 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.75-34.60 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.22 บาทต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.13-34.76 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือน เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่เมื่อคิดเป็นรายสัปดาห์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 2 ปีของสหรัฐร่วงลงมากที่สุดตั้งแต่ปี 30 โดยตลาดพันธบัตรของทั้งยูโรโซนและสหรัฐเหวี่ยงตัวผันผวน แม้ทางการสวิตเซอร์แลนด์ประกาศให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ธนาคารเครดิต สวิส แต่นักลงทุนยังกังวลต่อสถานะของระบบธนาคารโลก

ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 50bp สู่ 3.00% ตามคาด เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อต่อไป ขณะที่อีซีบีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทะลุเกินเป้าหมาย 2% จนถึงปี 68 โดยประธานอีซีบีระบุว่าภาคธนาคารอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งกว่าช่วงวิกฤตการเงินเมื่อ 15 ปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดว่าความตึงเครียดในภาคธนาคารจะส่งผลให้อีซีบีไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้อีกมากนักแล้ว โดยอีซีบีได้ยุติการใช้ Forward Guidance โดยไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะปรับดอกเบี้ยต่อไปอย่างไรท่ามกลางแนวโน้มที่ไม่แน่นอน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 9,734 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 2,995 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 21-22 มี.ค. จะเป็นจุดสนใจหลักของตลาดโลก โดยเราคาดว่ายังมีความเป็นไปได้สูงที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25bp สู่ 4.75-5.00% ในรอบนี้ แต่การสื่อสารของเฟดอาจบ่งชี้ว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นกำลังใกล้สิ้นสุดลง สนับสนุนมุมมองที่ว่าภาวะความผันผวนและตลาดการเงินตึงตัวจะถ่วงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อลงในระยะถัดไป

อย่างไรก็ดี การประชุมเฟดครั้งนี้มีความไม่แน่นอนสูงท่ามกลางความวิตกของนักลงทุนว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาในช่วงนี้จะประคองเสถียรภาพตลาดได้นานเพียงใด

สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตได้ 3.7% จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ส่วนเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องและคาดว่าจะกลับเข้ากรอบเป้าหมายได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ การทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมความยืดหยุ่นหากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ยังเป็นแนวทางที่เหมาะสม เรามองว่าทางการอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.75% ด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการประชุมวันที่ 29 มี.ค. 66