แบงก์แข่งเดือด “สินเชื่ออีวี” กดดอกเบี้ยต่ำกว่า 2% จับมือค่ายรถชิงผู้นำ

สินเชื่อ อีวี

ธนาคาร-น็อนแบงก์ เปิดเกมรุกสินเชื่อเช่าซื้อรถอีวี ชี้ลูกค้าคุณภาพดี พาเหรดจับมือค่ายรถจีน-ยุโรป ขยายตลาด แข่งกดดอกเบี้ยต่ำไม่ถึง 2% ทุกค่ายปักธงผู้นำปล่อยสินเชื่ออีวี “กรุงศรี ออโต้” ผนึกพันธมิตร 30 แบรนด์ “กสิกรไทย” ขยับเป้าปล่อยกู้ 5.5 พันล้าน “ทีทีบี-ทิสโก้-KKP” ท้าชิงมาร์เก็ตแชร์ลูกค้าอีวี

กรุงศรี ออโต้ ผนึก 30 แบรนด์

นายคงสิน คงคา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า จากทิศทางตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่มีแนวโน้มเติบโตและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก “กรุงศรี ออโต้” ยังคงขยายการเติบโตต่อเนื่อง และตั้งเป้าเป็นผู้นำตลาดสินเชื่อรถยนต์อีวี โดยคาดว่ายอดขายรถอีวีในปี 2566 จะอยู่ที่ 3 หมื่นคัน ถือเป็นการเติบโต 3 เท่า จากปี 2565

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการพูดคุยและเจรจากับพันธมิตร ผู้ผลิตรถยนต์และจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม เช่น ผู้ผลิตจากประเทศจีน ที่เข้ามาทำตลาดในไทยค่อนข้างมาก ซึ่งบริษัทจะเข้าไปเจรจาต่อเนื่อง จากปัจจุบันกรุงศรี ออโต้มีพันธมิตรรวมกว่า 30 แบรนด์ เช่น BYD, TESLA หรือ NETA และรถจักรยานยนต์ เช่น Deco, AJ และ SLEEK เป็นต้น ถือเป็นแบรนด์อันดับต้น ๆ อย่างไรก็ดีการร่วมมือจะต้องมีเงื่อนไขร่วมกันภายใต้สแตนดาร์ดการปล่อยสินเชื่อที่สูง

ดบ.ต่ำสุดไม่เกิน 2% ผ่อน 4 ปี

นายคงสินกล่าวว่า คุณภาพสินเชื่อของกลุ่มลูกค้ารถอีวีจะค่อนข้างดีกว่ากลุ่มรถทั่วไป ซึ่งเห็นสัญญาณจากลูกค้ากลุ่มรถยนต์ไฮบริด (Hybrid) ที่คุณภาพดีพอสมควร ทำให้การคิดอัตราดอกเบี้ยรถกลุ่มอีวีจะขึ้นกับโปรไฟล์ของลูกค้า โดยอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดจะเริ่มที่ 1.88% ต่อปี ผ่อนไม่เกิน 4 ปี และวางเงินดาวน์ประมาณ 25% ส่วนอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3% ต่อปี โดยบริษัทตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อรถอีวีในปี 2566 อยู่ที่ 4,624 ล้านบาท จากปีก่อนสามารถทำได้ 2,300 ล้านบาท

“เราตั้งเป้าเป็น EV Financial Leader ซึ่งปีนี้เรามองว่ายอดขายรถอีวีและจักรยานยนต์อีวียังคงคึกคัก เห็นหลายแบรนด์ทยอยเปิดตัวรถรุ่นใหม่ และตอนนี้เรามีพันธมิตรกว่า 30 แบรนด์ และยังคงเจรจาต่อเนื่อง เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างดีพอสมควร”

กสิกรขยับเป้าสินเชื่อ

นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทสนับสนุนการให้สินเชื่อรถอีวี ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกับแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ เช่น TESLA, BYD, MG และ Neta รวมถึงมีการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรผู้จัดจำหน่ายรถอีวี ทั้งค่ายยุโรปและค่ายจีนอีกหลายค่ายที่กำลังเตรียมตัวเข้ามาทำตลาดหลังจากปัญหาชิปขาดแคลนเริ่มคลี่คลายลง

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทิศทางเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในปี 2566 จะเติบโตมากกว่า 3 เท่า หรือมียอดขายแตะ 50,000 คัน และแม้ว่าลูกค้าที่ซื้อรถอีวีส่วนใหญ่จะซื้อรถด้วยเงินสด หรือวางเงินดาวน์สูง แต่ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่รถอีวีของลีสซิ่งกสิกรไทยใน 2 เดือนแรกปี 2566 สามารถทำได้สูงกว่าปีที่แล้วทั้งปีที่เกือบ 1.5 พันล้านบาท บริษัทจึงได้ขยับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อรถไฟฟ้าใหม่ที่ 5,500 ล้านบาท จากเดิมตั้งเป้าไว้ 3,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ที่ 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 24%

“เรายังคงเดินหน้านโยบาย Go Green Together และต่อยอดจุดแข็งของธนาคารที่มีเครือข่ายและฐานลูกค้า K PLUS จำนวนมาก โดยลูกค้าซื้อรถอีวีสามารถยื่นขอสินเชื่อด้วยตนเอง และประมวลผลอนุมัติด้วย i-Scoring รวมทั้งยังมีแคมเปญลุ้นไปเที่ยวเป็นคู่ดู Tokyo Motor Show ที่ค่ายญี่ปุ่นต้องงัดมาแข่งขันกับค่ายยุโรปและค่ายจีน”

ทีทีบีชูธงกอดแชร์ 25%

นายชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดรถ EV ในปี 2566 ความต้องการซื้อมีเพิ่มขึ้นตามการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยตลาดมีการคาดการณ์ยอดขายแตกต่างกัน เช่น ค่ายญี่ปุ่นอยู่ที่ 3 หมื่นคัน ขณะที่ค่ายจีนประเมินว่าตลาดมีโอกาสเติบโตไปถึง 50,000-100,000 คัน ตามความเข้มข้นของการทำตลาด ซึ่งทีทีบีคาดว่ายอดขายปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 4-5 หมื่นคัน

อย่างไรก็ดี มองว่ายอดขายรถยนต์จะเพิ่มขึ้นตามผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามา ซึ่งปีนี้เห็นสัญญาณผู้ประกอบการหลาย ๆ สัญชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของภาครัฐ ซึ่งมีทั้งส่วนช่วยและที่เป็นภาระที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณาการเข้ามาลงทุนในไทย เป็นปัจจัยบวกต่อผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกมากขึ้น

โดยทีทีบียังคงตั้งเป้ารักษาส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 25% ของรถอีวี โดยยังคงขยายความร่วมมือกับทั้งพันธมิตรค่ายรถยนต์ 4 รายใหญ่ อย่าง เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) วอลโว่ (Volvo) เอ็มจี (MG) และ Neta รวมถึงในส่วนของผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ ซึ่งธนาคารมีขยายความร่วมมือกับค่ายรถใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และมีการทำโปรแกรมร่วมกัน

รถอีวีต้องวางดาวน์ขั้นต่ำ 20%

นายชัชฤทธิ์กล่าวว่า โดยธนาคารมองว่าลูกค้าซื้อรถ EV ถือเป็นกลุ่มที่มีความพร้อม และเตรียมตัวหาข้อมูลมาระดับหนึ่ง ไม่ได้ซื้อเพราะตามกระแส หรือซื้อเพราะมีแคมเปญ ทำให้คุณภาพลูกค้าและสินเชื่อที่ปล่อยค่อนข้างดี ประกอบกับการอนุมัติสินเชื่อรถ EV ลูกค้าต้องมีเงินดาวน์ 20% ขึ้นไป เนื่องจากตลาดยังไม่สามารถกำหนดราคาขายต่อของรถ EV ได้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ Hybrid เพราะต้นทุนแบตเตอรี่ราคาสูง ซึ่งราคาแบตเตอรี่ของรถ EV สูงกว่า 7-8 เท่า ทำให้การไฟแนนซ์ที่จะผ่านจะต้องมีการวางดาวน์

“ขณะที่จะเห็นในตลาดมีการแข่งขันดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี ระยะเวลาผ่อน 4-5 ปี แตกต่างรถยนต์ทั่วไปที่ผ่อนกัน 6 ปีขึ้นไป โดยธนาคารพยายามสนับสนุนลูกค้า เช่น การทำแคมเปญช่วยลูกค้าผ่อนค่างวดคนละครึ่ง สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยเนื่องจากเป็นทิศทางขาขึ้น ดังนั้นดอกเบี้ยอาจจะปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ดีธนาคารมี Green bond พยายามบริหารจัดการต้นทุนให้เหมาะสม”

ทิสโก้-KKP ร่วมชิงเค้ก

ขณะที่นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิสโก้มีส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อรถ EV ประมาณ 20% ถือว่าสูงกว่าสัดส่วนรถสันดาป (ICE) ที่มีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 5% โดยยอดขายรถยนต์รวม 8 แสนคัน จะเป็นของทิสโก้ราว 4 หมื่นคัน

ขณะที่ทิสโก้มองว่าลูกค้าที่ซื้อรถอีวีจะเป็นการซื้อรถคันที่สอง ซึ่งเป็นลูกค้าที่มีศักยภาพและคุณภาพดี ทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ และเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจมาก


นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คุณภาพสินเชื่อลูกค้ากลุ่มรถ EV ถือว่าค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อระดับหนึ่ง สะท้อนจากราคารถอีวีเฉลี่ยอยู่ที่ราว 800,000-1,000,000 บาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยากทดลองนวัตกรรมใหม่ ๆ และเป็นกลุ่มที่มีรถยนต์สันดาปอยู่แล้ว แต่ต้องการซื้อรถอีวีเป็นคันที่ 2 ธนาคารจึงมองว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ โดยธนาคารยังเดินหน้าปล่อยสินเชื่อและขยายพันธมิตรเพิ่มเติมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า จากปัจจุบันมีพันธมิตร ได้แก่ TESLA และ MG เป็นต้น