ทำไม “ตราสารหนี้” จึงเป็นสินทรัพย์ที่ถูกเลือกในปี 2566

ทำไมการลงทุน “ตราสารหนี้” จึงเป็นสินทรัพย์ที่ถูกเลือกในปี 2566 หาคำตอบพร้อมกันกับ  “กวี ชูกิจเกษม”  Head of Research and Content  บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)

วันที่ 27 มีนาคม 2566 ทิศทางการลงทุนตราสารหนี้ปีนี้จะเป็นอย่างไร น่าสนใจแค่ไหน  แม้ว่าดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ว่าบรรดานักวิเคราะห์ยังคงแนะนำให้ทยอยลงทุนในตราสารหนี้ได้ ประชาชาติเวลท์ เล่าเรื่องการลงทุน EP.3 นี้ร่วมพูดคุยกับคุณกวี ชูกิจเกษม  Head of Research and Content  บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)

Q : ปีนี้บรรดานักวิเคราะห์หรือว่า บลจ.จะเห็นว่ามีการแนะนำในการลงทุนตราสารหนี้กันตั้งแต่ต้นปีเลย ปีนี้มองยังไงบ้างตราสารหนี้น่าสนใจอย่างไร แม้ว่าดอกเบี้ยมันยังดูมีแนวโน้มที่จะเป็นขาขึ้นอยู่

บล.พาย ก็แนะนำให้เพิ่มพอร์ตในตราสารหนี้ไปตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว ปกติเราจะติดตามดอกเบี้ยนโยบายถูกไหมครับ ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา ดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะเป็นคนกำหนด มันก็ดูเหมือนจะเป็นขาขึ้น แต่ว่าจริง ๆ ตัวที่ตอบสนองหรือเป็นดอกเบี้ยที่ชี้นำดอกเบี้ยนโยบาย พูดง่าย ๆ คือตลาดคิดไปก่อน ก่อนที่ดอกเบี้ยนโยบายจะไปถึงตรงนั้น ก็คือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้งของไทยด้วย แล้วก็ของสหรัฐด้วย

ส่วนใหญ่เขาก็จะดูผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 2 ปี ปรากฏว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 2 ปีมันเป็นขาลงมาตั้งแต่ต้นปี ในขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐหรือดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยยังขึ้นอยู่ แต่ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 2 ปี เริ่มมีผลตอบแทนลดลง ซึ่งการที่เราเห็นปรับตัวลดลงก่อน แต่ตอนที่ขึ้นเขาก็ขึ้นก่อนเหมือนกันนะ ตัวผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเขาก็ขึ้นก่อนเหมือนกัน ก็จริง ๆ มันก็เป็นเพราะว่านักลงทุนเขาไม่ได้มองตัวเลขดอกเบี้ยปัจจุบัน เขามองว่าคาดการณ์ไปในอนาคตว่าจะเป็นยังไง

ดังนั้นราคาก็เลยจะตอบสนองกับสิ่งที่คาดการณ์ในอนาคตเรื่องของทิศทางดอกเบี้ย นี่คือที่มาว่าทำไมเราให้เริ่มลงทุนตราสารหนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลว่าเรามองว่าดอกเบี้ยขาขึ้นก็จริง แต่มันก็คงขึ้นไปได้อีกไม่ไกล พอเมื่อขึ้นไปอีกได้ไม่ไกลแล้วพอกลับเข้าสู่ขาลงจริง ๆ ราคาตราสารหนี้ก็คงจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แค่คำถามว่ามันจะถึงจุดสูงสุดเมื่อไหร่เท่านั้นเอง ซึ่งไม่มีใครรู้

วันนี้เองก็ยังไม่แน่ใจว่าธนาคารกลางของสหรัฐหรือธนาคารกลางของประเทศไทยจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ครั้งสุดท้ายหรือไม่ หรือจะมีการขึ้นต่อ แต่ตลาดตราสารหนี้รับไปเรียบร้อยแล้วว่าดอกเบี้ยมีแนวโน้มว่าก็คงไม่ขึ้นไปอีกได้ไกลและก็มีแนวโน้มลดลงด้วย แล้วก็เงินเฟ้อวันนี้ก็ปรับตัวลดลงมาจากระดับสูงลงมาสู่ระดับที่ลดลงเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าจะยังคงสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่หลาย ๆ ประเทศตั้งไว้ แต่มันก็ลงมาในระดับหนึ่งแล้ว อย่างของประเทศไทยก็ลงมาต่ำกว่า 5% เป็นที่เรียบร้อยแล้วจากเดิมที่ขึ้นไปถึง 8-9% ก็ถือว่าเป็นเงินเฟ้อที่ค่อนข้างสูง

ถามว่าดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกวันนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะถึงจุดสูงสุดเมื่อไหร่ ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 2 ปี ซึ่งเป็นตัวแปรที่เราใช้ในการลงทุนจริง ๆ ลงมาก็จริง แต่ก็เหมือนเพิ่งจะลงมาเหมือนกัน ในช่วงจังหวะที่ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางลดลง ดอกเบี้ยพันธบัตร 2 ปีหรือจะกี่ปีก็ตาม ก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงได้ต่อถึงแม้จะลงมาแล้ว ดังนั้นมันก็ยังคงน่าสนใจในการลงทุนตราสารหนี้อยู่

ถึงแม้ว่าราคาตราสารหนี้ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปแล้วก็ตาม แต่ถ้าเรายังมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงในอนาคต ตราสารหนี้ก็ยังคงน่าสนใจในเรื่องของการลงทุน

Q : วันที่ 29 มีนาคมนี้ จะมีการประชุมปรับขึ้นดอกเบี้ยของบ้านเราของแบงก์ชาติ มองอย่างไรบ้างว่ารอบนี้บ้านเราจะปรับดอกเบี้ยอย่างไร หรือคาดการณ์อย่างไรบ้าง

คงปรับขึ้นอยู่แล้ว น่าจะขึ้นประมาณ 0.25% ดอกเบี้ยที่ขึ้น 0.25% มันก็น่าอาจจะเป็นครั้งสุดท้าย แล้วหลังจากนี้ไปก็น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ไปอีกสักพักหนึ่ง ก่อนที่จะดูทิศทางของตลาดหรือว่าผลตอบแทนหรือว่าดอกเบี้ยนโยบายของประเทศสหรัฐว่าเขาจะเป็นอย่างไร และดูทิศทางเงินเฟ้อของประเทศไทยด้วยว่าจะเป็นอย่างไรนะครับ

Q : ทีนี้ในเรื่องของ  Asset Allocation ถ้าพี่กวีแนะนำมีตราสารหนี้ไว้ในพอร์ตลงทุนแนะนำเท่าไหร่ แล้วตราสารหนี้ประเภทไหน แบบไหน ที่ไหน แนะนำบ้าง

แต่ละคนก็จะมีการรับความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน แต่ว่าสัดส่วนการลงทุนที่เป็นที่นิยมและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดคือ 60/40 นะครับ 60% ก็คือหุ้น 40% ก็คือตราสารหนี้ และคุณก็ Rebalance กันไปในแต่ละช่วงเวลา ถ้าเราไม่ได้มีความรู้มากมายเราก็ลงทุนเป็นกองทุนหุ้นกับกองทุนตราสารหนี้ตามสัดส่วนที่ต้องการได้ ทำทุก ๆ 6 เดือน หรือไตรมาสหนึ่งทำทีหนึ่ง เราก็จะได้มีความรู้สึกว่าเราได้ตัดสัดส่วน 60/40 เอาไว้ตลอด และเวลาที่คุณลงทุนกองทุนตราสารหนี้ ถ้าเอาเราเข้าใจที่สุดก็จะมีกองทุนอยู่ 2 ประเภท ก็คือกองทุนพันธบัตรรัฐบาลกับกองทุนตราสารหนี้เอกชน

หลายคนชอบมองว่าพันธบัตรรัฐบาลได้ผลตอบแทนน้อยกว่าตราสารหนี้เอกชน แต่ก็ลืมมองไปว่าตราสารหนี้เอกชนมันมีความเสี่ยงมากกว่าพันธบัตรรัฐบาล ยิ่งตอนนี้ทุกคนก็เริ่มกังวลแล้วใช่ไหมว่าปัญหาเศรษฐกิจ ตัวตราสารหนี้เอกชนจะมีบริษัทไหนที่ไปต่อไม่ได้ไหม ยิ่งเป็นตราสารหนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างถ้าใครมีของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) หรือใครมีของเครดิตสวิสก็เครียดถูกไหม นี่คือความเสี่ยงของการลงทุนในพันธบัตรของภาคเอกชน

ในขณะที่การลงทุนในภาคของรัฐบาลก็จะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า เพราะฉะนั้นสัดส่วนของการลงทุน ถ้าคุณรับความเสี่ยงได้มากคุณก็อาจลงทุนหุ้นในสัดส่วนที่เยอะกว่า ถึงแม้ผมจะบอก 60/40 คุณอาจจะบอก 80/20 ก็ได้ แล้วแต่ถ้าคุณรับความเสี่ยงได้เยอะกว่าก็ 20% ลงทุนตราสารหนี้

ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ช่วงนี้ผมขอเน้นไว้นิดนึงว่าเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ที่มี Investment Grade (กลุ่มระดับลงทุน) เพราะช่วงนี้มันเป็นช่วงที่มีโอกาสที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจสูง ก็พยายามจะเลือกกองทุนที่ลงทุนใน Investment Grade ก็คือ BBB+ ขึ้นไป หรือถ้าเอาแบบปลอดภัยก็เป็นกองทุนของพันธบัตรรัฐบาลไปเลย

ซึ่งอันนั้นเราก็จะลดความเสี่ยงไปเลยว่าเราลงทุนในส่วนที่เป็นพันธบัตรรัฐบาลสบายใจหน่อย หรือจะหลีกเลี่ยงพันธบัตรอเมริกาก็ได้ไม่ว่ากัน ว่าหลายคนก็คิดว่าอเมริกาเขาจะมีปัญหาหรือยุโรปจะมีปัญหา เราก็ลงทุนพันธบัตรในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ก็ได้ ก็คือน่าจะมีปัญหาเศรษฐกิจที่น้อยกว่า และก็พยายามเลือกถ้าจะเป็นกองทุนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกก็ดีนะครับ ก็อยู่ใน Investment Grade ทั้งหมดความเสี่ยงในการลงทุนในแต่ละบริษัทจะน้อยมาก ในแต่ละหุ้นกู้แต่ละบริษัทมันก็จะมีไม่เยอะ ความเสี่ยงมันก็จะน้อยหน่อย

แต่วันนี้ถ้าคุณจะลงทุนตราสารหนี้อย่างเดียวก็คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน ยิ่งตอนนี้ดอกเบี้ยตราสารหนี้ดีด้วย เพราะฉะนั้นการที่คุณลงทุนตราสารหนี้ช่วงนี้คุณก็ได้ดอกเบี้ยที่ดี ซึ่งนั่นหมายถึงว่าถ้าอีก 5 ปีข้างหน้าดอกเบี้ยลงคุณก็จะคงดอกเบี้ยตรงนี้เอาไว้เลย ก็ถือว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาถ้าคุณจะลงทุน 4-5 ปี แล้วคุณคิดว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้าดอกเบี้ยจะลง

เพราะฉะนั้นเราก็มาคงดอกเบี้ยเอาไว้เลยสิ้นเรื่องสิ้นราว มันก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งก็ได้ที่ตอนนี้ดอกเบี้ยสูงก็ซื้อไปเลย แต่ก็ต้องระวังนะครับ เพราะเวลาดอกเบี้ยลงมันลงเร็วและขึ้นก็ขึ้นเร็วเหมือนกัน เราก็ไม่รู้ทิศทางมากมาย เพียงแต่ว่าถ้าเป็นระดับดอกเบี้ยที่เราพอใจก็ลงทุนไปเถอะ ถ้าถือจนหมดอายุเลือกบริษัทดี ๆ ก็พอ