เน้นลงทุนแต่พันธบัตรรัฐบาล …ก็ยัง ‘เสี่ยงเจ๊ง’ ได้ !

เน้นลงทุนแต่พันธบัตรรัฐบาล
คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงิน
ผู้เขียน : พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่ แอคชัวรี)

ตราสารหนี้ (fixed income) ถ้าจะให้แปลกันตามตัวก็คือตราสารหรือกระดาษที่ระบุถึงความเป็นหนี้ โดยฝ่ายที่ขายกระดาษออกไปแล้วรับเงินเข้ามาก็จะเป็นลูกหนี้ ส่วนฝ่ายที่ซื้อกระดาษแล้วจ่ายเงินออกไปก็จะกลายเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งคำว่า “หนี้ (debt)” ในที่นี้จึงกลายเป็นสิ่งที่เป็นภาระผูกพัน (obligation) ที่จะต้องใช้เงินคืนตามที่ระบุไว้ในสัญญา และนี่ก็เป็นที่มาของคำว่า fixed income ซึ่งก็หมายความว่า คนที่ซื้อกระดาษแผ่นนั้นไปจะสามารถคาดหวังรายได้ที่จะไหลเข้ามาได้อย่างคงที่ตามที่เขียนเอาไว้ในกระดาษ ตราสารหนี้ (fixed income) จึงจำเป็นจะต้องระบุสิ่งที่สำคัญเอาไว้ 2 อย่าง นั่นก็คือ 1) จะจ่ายเมื่อไร และ 2) จะจ่ายเท่าไร

ตราสารหนี้ (fixed income) จึงหมายถึงตราสารการเงินที่มีอายุการลงทุนมากกว่า 1 ปี โดยมีผลตอบแทนคงที่ตามที่ระบุเอาไว้ในสัญญา โดยปกติแล้ว เราจะเห็นตราสารหนี้ต่อไปนี้อยู่ในท้องตลาด

พันธบัตรรัฐบาล (government bond) คือ ตราสารหนี้ที่เป็นกระดาษและออกโดยรัฐบาล ซึ่งก็หมายถึงรัฐบาลเป็นลูกหนี้ และจะเป็นคนจ่ายเงินคืนให้ สิ่งที่ค้ำประกันว่ารัฐบาลจะไม่เบี้ยวแน่นอนก็คือ “ภาษีของประชาชน” นั่นเอง เพราะถ้ารัฐบาลมีเงินไม่พอจ่าย รัฐบาลก็สามารถเรียกเก็บภาษีเพิ่ม หรือไม่ก็ออกพันธบัตรรัฐบาลตัวใหม่ เพื่อเอาเงินของคนกลุ่มหนึ่ง (คนที่มาซื้อพันธบัตรใหม่) มาจ่ายเงินให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง (คนที่ซื้อพันธบัตรไปแล้วรอรับเงินคืน) พันธบัตรรัฐบาล (government bond) จึงถือเป็นตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด

แต่ถึงแม้เราจะได้ยินว่า พันธบัตรรัฐบาลจะมีความเสี่ยงต่ำที่สุด แต่โดยเนื้อแท้แล้ว นักการเงินจะหมายถึงมีความเสี่ยงด้าน credit risk (ความเสี่ยงจากการโดนเบี้ยวหนี้) ต่ำที่สุด แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เหลือความเสี่ยงอยู่ ความเสี่ยงที่เหลืออยู่นั้นมีอะไรบ้าง เรามาตามไปดูกันครับ

ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้ 12 ประเภท

fixed income (ตราสารหนี้) จึงสามารถจำแนกความเสี่ยงจากการลงทุนออกเป็น 12 ประเภท ได้ดังนี้

1.interest rate risk – กล่าวถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์ที่ถืออยู่ หากว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดเปลี่ยนแปลงไป เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมากที่สุดในการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (asset liability management)

2.reinvestment risk – เป็นความเสี่ยงจากการนำเงินกลับมาลงทุนใหม่อีกรอบ และไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังเอาไว้ตามวัตถุประสงค์ของการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (asset liability management)

3.prepayment risk – เรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า cash flow risk ซึ่งก็คือความเสี่ยงที่เราจะมีกระแสเงินสดไหลเข้าไหลออกในแต่ละเวลา (cash flow pattern และ timing of cash flow) ที่ไม่ได้ตามที่เราคาดหวังไว้ จนทำให้เกิดปัญหาในการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (asset liability management)

4.credit risk – เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการสูญเสียมูลค่าของสิ่งที่ลงทุนไป เรียกได้ว่า “โดนเบี้ยว” หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า default risk ก็ได้

5.liquidity risk – เป็นความเสี่ยงจากสภาพคล่องของสินทรัพย์ที่ลงทุนไป ทำให้ราคาของสินทรัพย์ตกลงไป

6.yield curve risk – เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของ yield curve ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียมูลค่าของสินทรัพย์รวมที่ถือลงทุนอยู่ได้

7.volatility risk – คือความเสี่ยงของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่จะเปลี่ยนแปลงจากที่ได้คาดการณ์ไว้ ซึ่งถ้าแปลเป็นภาษาคณิตศาสตร์ก็จะแปลได้ว่า volatility risk ก็คือ standard deviation of standard deviation ซึ่งความเสี่ยงนี้จะเกิดขึ้นกับตราสารหนี้ที่มีตราสารอนุพันธุ์ฝังอยู่ด้วย (embedded option)

8.inflation risk – เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้มูลค่าของพันธบัตรลดลง

9.currency risk – เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน

10.political risk – เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในที่นี้รวมถึงกฎหมายด้วย

11.event risk – เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน อย่างเช่น น้ำท่วม หรือมหันตภัยต่าง ๆ เป็นต้น

12.sector risk – เป็นความเสี่ยงที่เกิดเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ลงทุนในสินทรัพย์นั้น เช่น สื่อสารโทรคมนาคม ปิโตรเคมี หรือแม้แต่อุตสาหกรรมประกันภัย เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าการลงทุนส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากตราสารหนี้ (fixed income) เราก็ควรทำความเข้าใจและเห็นความสำคัญของความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนประเภทนี้ ซึ่งความเสี่ยงที่จะกล่าวถึงทั้งหมดนี้จะเป็นความเสี่ยง 12 ประการของการลงทุนในตราสารหนี้ (fixed income)

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (asset liability management) ที่ดีนั้น จึงจำเป็นจะต้องเข้าใจความเสี่ยงของเครื่องมือทางการเงินแต่ละชนิดให้ถ่องแท้ เสียก่อน และเครื่องมือทางการเงิน ที่ควรจะให้ความสำคัญในการทำความเข้าใจเป็นอันดับแรก ก็คือ ตราสารหนี้ที่เราควรจะรู้ครอบคลุมถึงความเสี่ยงทั้งหมดที่กล่าวไปนั่นเอง