กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง

กนง. ดอกเบี้ย

กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง คาดปีนี้ขยายตัวได้ 3.6% จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.9% และเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 29 มีนาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/3) ที่ระดับ 34.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/3) ที่ระดับ 34.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% โดยให้มีผลทันที เนื่องจากเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

พร้อมกันนี้ กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี’66 จะขยายตัวได้ 3.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.9% โดยเงินเฟ้อจะเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายช่วงกลางปีนี้ ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี’67 จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ราว 3.8% และอัตราเงินเฟ้อลดลงมาสู่ระดับ 2.4%

โดยนายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง.แถลงผลการประชุม กนง.วันนี้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า และคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากแนวโน้มเงินเฟ้อและสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศ เศรษฐกิจหลัก

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้  แต่อัตราเงินเฟ้อเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากความเสี่ยงด้านการส่งผ่านต้นทุนและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์

นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย. 2566 อยู่ที่ระดับ 98.89 หดตัว 2.71% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. 2565 จากปัจจัยสำคัญคือ อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐ และยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลง เนื่องจากนักลงทุนทะยอยลดการถือครองดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังจากเริ่มคลายความกังวลต่อวิกฤตการณ์ภาคธนาคารในสหรัฐ นอกจากนี้ ตลาดเฝ้าจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่้อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะเปิดเผยในวันศุกร์นี้ (31/3) เพื่อหาทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในอนาคต หลังจากการประชุมล่าสุดทางเฟดได้ส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียงหนึ่งครั้งในปีนี้ ซึ่งส่วนทางกับมุมมองนักลงทุนที่คาดว่าเฟดมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 67% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 2-3 พฤษภาคม และให้น้ำหนักเพียง 33% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอยู่ในกรอบระหว่าง 34.18-34.34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.19/ บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/3) ที่ระดับ 1.0844/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/3) ที่ระดับ 1.0815/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมันปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก -30.6 สู่ระดับ -29.5 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการฟื้นตัวติดต่อกัน 6 เดือน ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปยังคงเน้นย้ำถึงความแข็งแกร่งของภาคธนาคารที่จะสามารถรับมือต่อผลกระทบจาก SVB

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.019-1.0848 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0841/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/3) ที่ระดับ 131.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (22/3) ที่ระดับ 130.86/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 130.95-132.05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 131.37/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะเปิดเผยในคืนนี้ ได้แก่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือน ก.พ.และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.75/-9.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -14.50/-11.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ