มอง กนง. เสียงแตกขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จ่อส่งสัญญาณหยุดขึ้นครั้งต่อไป

เงินบาท
ภาพจาก PIXABAY

แบงก์ประเมินกรอบค่าเงินเคลื่อนไหว 33.80-34.60 บาทต่อดอลลาร์ จับตาผลประชุม กนง. คาดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.75% ต่อปี ด้าน “กรุงศรีฯ” คาดกรรมการเสียงแตกส่งสัญญาณหยุดขึ้นในรอบถัดไป พร้อมเกาะติดสถานการณ์ภาคธนาคารของฝั่งสหรัฐ-ยุโรปใกล้ชิด

วันที่ 26 มีนาคม 2566 นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 27-31 มีนาคม 2566) เคลื่อนไหวอยู่ที่ 33.85-34.60 บาทต่อดอลลาร์

โดยติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาด กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% ในการประชุมวันที่ 29 มีนาคม 2566 อย่างไรก็ดี มติไม่เป็นเอกฉันท์เพื่อส่งสัญญาณว่าอาจพิจารณาหยุดขึ้นในรอบถัดไป ขณะเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมายช่วงกลางปี ทั้งนี้ กรุงศรีฯมองสิ้นปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.75% และจีดีพีไทยเติบโต 3.3% ในปีนี้

อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าเงินบาทในเดือนมีนาคมแข็งค่านำภูมิภาค ขณะที่ตลาดมองว่าสหรัฐใกล้จะยุติวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว โดยการสื่อสารล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บ่งชี้ว่ายังต้องคุมเงินเฟ้อ แต่ระมัดระวังต่อความเสี่ยงในภาคธนาคารมากขึ้น กดดันค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลกให้อ่อนลง

“เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการที่บอนด์ยิลด์สหรัฐดิ่งลง ซึ่งทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งขึ้น กระตุ้นการส่งออกของกลุ่มผู้ค้าทองในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ภาคธนาคารของฝั่งสหรัฐและยุโรปอย่างใกล้ชิด”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 27-31 มีนาคม 2566) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.85-34.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยแนวโน้ม sideways รอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ และปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารฝั่งสหรัฐ รวมถึงยุโรป

Advertisment

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องจับตาสำหรับทิศทางเงินบาทคือ การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ รวมถึงทิศทางราคาทองคำ ซึ่งต้องรอลุ้นทั้งรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงิน หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารในฝั่งยุโรป (ราคาหุ้น Deutsche Bank รวมถึงราคาหุ้นกลุ่มธนาคารยุโรปต่างปรับตัวลงต่อเนื่อง)

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.75% และส่งสัญญาณต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอย่างไร รวมถึง กนง.จะส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้หรือไม่

Advertisment

ส่วนปัจจัยฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยรวมพบว่าเริ่มมีสัญญาณชะลอการขายหุ้นลงชัดเจนขึ้น ส่วนในฝั่งตราสารหนี้ นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิในระยะหลัง แต่ส่วนใหญ่อาจเป็นการซื้อบอนด์ระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรค่าเงิน

ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนก็อาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ส่งออก รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมช่วงปิดปีงบประมาณของบรรดาบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่น (Japanese MNCs) ซึ่งอาจช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท หรือกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าตลาดหุ้นขายสุทธิ 5,200 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ขายสุทธิ 11 ล้านบาท

“ปัจจัยกดดันให้ตลาดการเงินยังคงผันผวนคือ ความกังวลปัญหาในระบบธนาคารสหรัฐและยุโรป ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อปัญหาดังกล่าวอยู่ สะท้อนผ่านการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยหากตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) แรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติก็อาจยังพอมีอยู่บ้าง

แต่เราประเมินว่า แรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติอาจชะลอลงต่อเนื่อง และนักลงทุนต่างชาติอาจกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิได้บ้างในช่วงปลายสัปดาห์หน้า มองซื้อหุ้นสุทธิ 1-2 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนอาจทยอยเพิ่มสถานะถือครองบอนด์ระยะสั้น เพื่อลุ้นโอกาสเงินบาทแข็งค่าในระยะสั้นได้ ประเมินซื้อบอนด์สุทธิ 1-2 พันล้านบาท”