เงินบาทผันผวน จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ตัวเลขส่งออก-ประชุม กนง.

เงินบาท ธนบัตรไทย
REUTERS/Athit Perawongmetha

เงินบาทปรับตัวอย่างผันผวน แข็งค่าหลุดแนว 34.00 รับสัญญาณเฟดใกล้ยุติดอกเบี้ยขาขึ้น ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลต่อปัญหาภาคธนาคารในยุโรป SET Index ปรับตัวขึ้น หลังการเมืองในประเทศมีความชัดเจน จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ผลประชุม กนง. 29 มี.ค. รายงานเศรษฐกิจการเงินและตัวเลขส่งออกเดือน ก.พ.

วันที่ 26 มีนาคม 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน ก่อนแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 สัปดาห์ หลังผลการประชุมเฟด ทั้งนี้ เงินบาทขยับอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับน่าจะมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ เพื่อปรับโพสิชั่นบางส่วนก่อนการประชุมเฟด

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งขึ้นตามสกุลเงินเอเชียในภาพรวมหลังผลการประชุมเฟด ขณะที่เงินดอลลาร์เผชิญแรงขายท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเฟดใกล้ที่จะยุติวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น หลัง dot plot สะท้อนว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้

โดยเงินบาทหลุดระดับ 34.00 ช่วงสั้น ๆ ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 สัปดาห์ที่ 33.91 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์ถูกกดดันจากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ และปัญหาแบงก์ในสหรัฐ อย่างไรก็ดี กรอบการแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดกลับมากังวลเกี่ยวกับปัญหาของธนาคารในฝั่งยุโรป และรอติดตามผลการประชุม กนง.วันที่ 29 มี.ค.นี้ด้วยเช่นกัน

เงินบาท-kbank 13-24 mar

ในวันศุกร์ที่ 24 มี.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.12 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 34.23 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (17 มี.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 20-24 มี.ค.นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,242 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทยที่ 11 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 109 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้หมดอายุ 120 ล้านบาท)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (27-31 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม กนง. รายงานเศรษฐกิจการเงิน และตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน ก.พ. พัฒนาการปัญหาของแบงก์ในสหรัฐ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Index เดือน ก.พ. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์จากมุมมองของผู้บริโภคเดือน มี.ค. ตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 4/2565 (final) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/บริการเดือน มี.ค. ของจีน

set-17-24 mar-ksearch

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยทยอยปรับตัวขึ้น หลังร่วงลง 6 สัปดาห์ติดต่อกัน ทั้งนี้ หุ้นไทยย่อตัวลงสั้น ๆ ช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะทยอยปรับตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยมีปัจจัยหนุนจากผลการประชุมเฟดที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ตามที่ตลาดคาดและส่งสัญญาณใกล้จบแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ความพยายามของทางการในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินทั้งในฝั่งสหรัฐและสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงการที่ กกต.ประกาศวันเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการ

โดยปัจจัยบวกข้างต้นกระตุ้นแรงซื้อคืนหุ้นทุกกลุ่ม ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานปรับขึ้นมากสุด เนื่องจากมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นรับโอกาสความเป็นไปได้ที่โอเปกพลัสจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลง อย่างไรก็ดี หุ้นไทยลดช่วงบวกลงเล็กน้อยปลายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นภูมิภาค

ในวันศุกร์ (24 มี.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,591.85 จุด เพิ่มขึ้น 1.80% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 52,334.72 ล้านบาท ลดลง 33.99% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.69% มาปิดที่ระดับ 534.56 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (27-31 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,580 และ 1,570 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,600 และ 1,615 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุม กนง. (29 มี.ค.) ตัวเลขส่งออกเดือน ก.พ.ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือน ก.พ. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 (final) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. และดัชนี PMI เดือน มี.ค.ของจีน รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อ (เบื้องต้น) เดือน มี.ค. ของยูโรโซน