
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า ผู้เขียน : ภาณี กิตติภัทรกุล, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย
ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 4 ปี 2022 ขยายตัว 1.4% ต่อปี (YOY) ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่จะขยายตัว 3.6% YOY และจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.6% YOY
นอกจากนี้ เทียบกับไตรมาสก่อน (QOQ) GDP ติดลบจากไตรมาส 3 ที่ -1.5% QOQ ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่จะขยายตัว 0.6% QOQ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
- ป.ป.ช.เปิดบัญชีทรัพย์สิน หมอชลน่าน ศรีแก้ว พ้น ส.ส. รวย 560 ล้านบาท
- กรมอุตุฯอัพเดต เส้นทางพายุไต้ฝุ่น “มาวาร์” เตือนฝนตกหนัก 27-30 พ.ค.
- โรงงานชลบุรีปิดหนี เทลูกจ้าง ค้างค่าแรง 7 เดือน ยอดชดเชย 12 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในองค์ประกอบของตัวเลข GDP ไตรมาส 4 จะพบว่า มีทั้งส่วนที่ดีที่ตลาดคาด แต่ก็มีส่วนแย่ที่ตลาดคาดไม่ถึง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะสำคัญต่อการดำเนินนโยบายของ ธปท.
ภาคการบริโภคยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และมีแนวโน้มดีขึ้น และภาคการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดีกว่าคาดในปีที่แล้ว เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ดีต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่กลับมาเกินดุลครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส
อย่างไรก็ดี ในภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ที่ต่ำกว่าคาดสะท้อนผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยเห็นได้จากการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งสองเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกโดยตรง และสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาก
ดังนั้น หากภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของไทยสะดุด เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2023 ในภาพรวมไม่ได้อย่างที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงมากจากไตรมาสก่อนหน้า และหากเทียบปีก่อนหน้า สินค้าคงเหลือหดตัวด้วยซ้ำ
ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากที่มีการกักตุนไว้มากแล้วในไตรมาสก่อนหน้า และส่วนหนึ่งสะท้อนการที่ผู้ประกอบการไม่ต้องการผลิตสินค้าเผื่อไว้ เป็นการป้องกันความเสี่ยง หากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในอนาคตชะลอลงมาก
การที่เศรษฐกิจไตรมาส 4 ผิดจากที่คาดการณ์มาก ทำให้สภาพัฒน์ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2023 ลงมาเป็นกรอบ 2.7-3.7% (ค่ากลาง 3.2%) ลดลงจากคาดการณ์กรอบ 3.0-4.0% (ค่ากลาง 3.5%) ที่ให้ก่อนหน้านี้
ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการปรับตัวเลขอย่างไรในการประชุมที่จะถึงนี้ ซึ่งไตรมาส 4 เป็นตัวเลขสำคัญในการส่ง momentum มาให้ปีนี้ และ ธปท. ในการประชุมครั้งแรกของปีได้มีท่าทีที่ hawkish กว่าที่ตลาดคาด และ ธปท.คาดเศรษฐกิจฟื้นตัวดีต่อเนื่อง แต่ตัวเลขไตรมาส 4 ที่ออกมาผิดจากที่ ธปท.คาดค่อนข้างเยอะ
นอกจากนี้ สถานการณ์สถาบันการเงินของสหรัฐที่ไม่ดี และความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ จะทำให้ ธปท.เปลี่ยนมุมมองและการดำเนินนโยบายไปข้างหน้าหรือไม่ และขนาดไหน เป็นประเด็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด