กนง. ส่งสัญญาณ ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ชี้กระบวนการ “ถอนคันเร่ง” ยังไม่จบ

ปิติ ดิษยทัต
ปิติ ดิษยทัต

กนง. ชี้กระบวนการ “ถอนคันเร่ง” ยังต้องดำเนินต่อ-ส่งสัญญาณต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก เหตุเศรษฐกิจยังฟื้นตัวดี แต่ความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงยังอยู่

วันที่ 29 มีนาคม 2566 นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มระยะข้างหน้า ต้องบอกว่า กนง. เริ่มขึ้นดอกเบี้ยมาตั้งแต่เดือน ส.ค.2565 ที่มุ่งเน้นดำเนินนโยบายกลับสู่ภาวะปกติ โดยถอนคันเร่งจากระดับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในช่วงวิกฤตโควิด

“โจทย์ในช่วงต้น เมื่อปีที่แล้ว คือให้การฟื้นตัวไม่สะดุด ขณะที่โจทย์ในระยะต่อไป ก็คือให้การฟื้นตัวมีเสถียรภาพ คือให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายและอยู่ในเป้าหมายต่อไป ปัจจัยเสี่ยงของเงินเฟ้อก็คือ อุปสงค์ที่ฟื้นตัวค่อนข้างดี และนักท่องเที่ยวที่เข้ามามาก คณะกรรมการ กนง. ก็เลยบอกว่า เรื่องเงินเฟ้อยังต้องติดตามต่อไป โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม” นายปิติกล่าว

โดยขณะนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2566 โดยจะอยู่ที่ 2.9% จากเดิมคาด 3% ในปี 2566 และ 2.4% จากเดิมคาด 2.1% ในปี 2567 ตามลำดับ ตามแรงกดดันด้านอุปทานจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงจากปี 2565 มาอยู่ที่ 2.4% ในปี 2566 ก่อนจะทะยอยปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.0% ในปี 2567

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง อีกทั้งมีแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

“จากการสำรวจภาคธุรกิจ พบว่า ยังไม่ได้ส่งผ่านต้นทุนอย่างเต็มที่ ยังมีหลายเจ้ายังไม่ได้ส่งผ่าน และมีโอกาสจะส่งผ่านอีกในระยะหน้า คณะกรรมการ กนง. จึงเห็นควรให้ติดตามเงินเฟ้อต่อไป” นายปิติกล่าว

นายปิติ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ นโยบายการเงินต้องปรับให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้ภาพเศรษฐกิจยังฟื้นตัว โดยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.6% ในปี 2566 และ 3.8% ในปี 2567 ซึ่งยังใกล้เคียงกับประมาณการครั้งก่อน โดยมีแรงส่งที่ดีจากภาคการท่องเที่ยว ดังนั้น จากเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และแรงส่งดี เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูง แม้จะลดลง แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังสูงกว่าในอดีต กระบวนการปรับให้กลับสู่ภาวะปกติ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีเสถียรภาพ ยังต้องดำเนินต่อไป

“ยังต้องมีการถอนคันเร่งต่อไป แต่จะถึงจุดไหน ในเมื่อมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นจากเศรษฐกิจโลก และเรื่องภาวะการเงิน คือ กนง. ไม่ได้มองจุดใดจุดหนึ่งว่าจะหยุดตรงไหน แต่ข้อมูลที่มีทั้งหมดตอนนี้คือ ส่อว่าเราต้องดำเนินกระบวนการปรับสู่ภาวะปกติต่อไป” นายปิติกล่าว