กรุงไทย รอดูตลาด ก่อนตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยตาม กนง.

ผยง ศรีวณิช กรุงไทย
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

ธนาคารกรุงไทย พร้อมพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยตามกลไกตลาด หลัง กนง.ส่งสัญญาณชัดมีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.75% ต่อปี เผยต้องการให้ระบบส่งผ่านดอกเบี้ย ย้ำดูแลกลุ่มเปราะบางใกล้ชิด

วันที่ 29 มีนาคม 2566 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.75% ต่อปี โดยการพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคาร จะพิจารณาและดูกลไกตลาดเป็นหลัก

ทั้งนี้ จะเห็นว่า กนง.พูดชัดว่าการที่ขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องการส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ย สะท้อนผ่านมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อน่าจะกลับมาอยู่เป้าหมายกลางปี ตามที่ประเมินไว้ ซึ่งสถานการณ์น่าจะปรับตัวดีขึ้น ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยต้องเป็นไปตามกลไกตลาดควบคู่กับการติดตามผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง
ที่ยังมีอยู่

สำหรับในมุมธนาคารกรุงไทย จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (ALCO) เพื่อพิจารณา แต่เบื้องต้นก็จำเป็นต้องดูกลไกตลาด ซึ่งหากตลาดปรับดอกเบี้ยขึ้นธนาคารก็คงต้องปรับขึ้นตาม เพราะการส่งผ่านสภาพคล่องเป็นเรื่องที่ต้องธนาคารต้องบริหารจัดการ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการไหลของเงิน เพราะความผันผวนและสภาพคล่องของแต่ละธนาคารมีไม่เท่ากัน แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยจำเป็นต้องขึ้นทั้งสองขา

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการปรับขึ้น จำเป็นต้องพิจารณาอย่างเหมาะสม และดูถึงรายได้ของภาคธุรกิจ และครัวเรือนทยอยขึ้นตามหรือไม่ โดยเฉพาะรายได้จากการทำมาหากินการขายของต่าง ๆ ซึ่งเป็นจุดที่ต้องประคอง ส่วนลูกค้ารายใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันสามารถมีการปรับตัวมากกว่ารายเล็กอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องซูมอินไปถึงคุณเปราะบาง เพราะการฟื้นตัวครั้งนี้ไม่เท่ากัน

“การส่งผ่านต้องดูกลไกตลาด เพราะบางตลาดราว 50% บอกว่า กนง.ยังขึ้นดอกเบี้ยต่อ และอีก 50% บอกว่าไม่ขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องติดตามกลุ่มเปราะบาง เพราะพื้นฐานโดยรวมของระบบเศรษฐกิจมีการปรับเปลี่ยน โดยต้นทุนการเงิน (Cost of Fund) จากยุคที่เศรษฐกิจชะลอมาก ๆ แต่ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนและผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว ซึ่งหากดูกลุ่มเปาะบางวันนี้มีการซ่อนอยู่หลายเซ็กเมนต์โดยเฉพาะเซ็กเมนต์รายย่อย ที่เป็นเอสเอ็มอีที่ใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลในการทำธุรกิจ ดังนั้นธนาคารจำเป็นต้องดูแลกลุ่มเปราะบางของตัวเองซึ่งเป็นตัวที่สำคัญ”

นายผยง กล่าวอีกว่า สำหรับเสถียรภาพระบบบสถาบันการเงิน จะเห็นว่าผู้กำกับดูแล (Regulator) ค่อนข้างเข้ม เพราะมีบทเรียนต้มยำกุ้งมาแล้ว ทำให้มีหลักเกณฑ์เข้มงวด เช่น การลงทุนในฟินเทคสตาร์ตอัพ หรือ คริปโตเคอร์เรนซี่ มีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนค่อนข้างน้อย และต้องคำนวณบทเงินกองทุนทั้งหมด จึงทำให้ไทยแตกต่างกับต่างประเทศ