นักเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชำแหละนโยบายหาเสียงแข่งประชานิยมดุเดือด

รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การคลัง จุฬาฯ กะเทาะนโยบายหาเสียงแข่งประชานิยมดุเดือด เตือน “อุบัติเหตุที่ต้องระวังของเศรษฐกิจไทย” พร้อมเปิดรายรับรายจ่ายประเทศหลังโควิด เปรียบรัฐไทยเป็นธุรกิจพึ่งพาหนี้ หารายได้ไม่พอรายจ่าย ระบุควรวัดกึ๋นนักการเมือง “หาเงิน” มาจ่ายอย่าง “เป็นไปได้จริง”

วันที่ 18 เมษายน 2566 รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตย การแข่งขันทางนโยบายในสนามเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ดี แต่บางนโยบายในฤดูการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 นี้ อาจเป็นการหวังผลความนิยมในระยะสั้น ข้อห่วงใยคือ นโยบายเหล่านั้นมีแนวโน้มสร้างภาระการคลังอย่างมีนัยสำคัญ และอาจกลายเป็นอุบัติเหตุที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย

บริบทภาคการคลังไทย

หากเปรียบเทียบรัฐบาลเป็นธุรกิจ ประเทศไทยกำลังเป็นธุรกิจที่หาเงินได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย พึ่งพาการสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องมากว่าสิบปี รัฐบาลไทยขาดดุลการคลัง หรือมีงบประมาณรายจ่ายสูงกว่ารายรับที่จัดเก็บได้ เฉลี่ยประมาณ 3% ต่อ GDP

ในมิติรายได้ รายได้ภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจาก 16% ของ GDP ในปี 2556 มาอยู่ที่ 14% ของ GDP ในปัจจุบัน ซึ่งข้อสังเกตสำคัญคือการลดลงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด

ทั้งนี้ รายได้ภาษีของรัฐบาลไทยยังถือว่าต่ำกว่ารายได้ภาษีของประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน (กลุ่ม Upper middle-income countries) พอสมควร

ในมิติรายจ่าย งบประมาณของรัฐบาลไทยมีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 18-19% ของ GDP ข้อสังเกตสำคัญคือ เรามีรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร เช่น เงินเดือน บำเหน็จบำนาญ สวัสดิการต่าง ๆ สูงราว 40% ของงบประมาณทั้งหมด

นอกจากนี้ ในแผนการคลังระยะปานกลาง รัฐบาลประมาณการว่ารายจ่ายจะลดลงเรื่อย ๆ จาก 17% ในปี 2566 มาเป็น 16% ต่อ GDP ในปี 2570 ในขณะเดียวกัน ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ งบชำระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายจะเพิ่มขึ้นจาก 9.6% ในปี 2566 เป็น 15% ในปี 2570

“ภาพการคลังนี้หมายความว่ารัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะมีความยืดหยุ่นในการสร้างนโยบายสวัสดิการอื่น ๆ ไม่มากนัก และจะต้องอาศัยการจัดหาแหล่งเงินมาสนับสนุน ซึ่งคงหนีไม่พ้นรายได้ภาษี ซึ่งคิดเป็นประมาณ 90% ของรายได้รัฐบาลไทย”

อุบัติเหตุทางเศรษฐกิจครั้งใหม่

นักเศรษฐศาสตร์การคลัง จากรั้วจุฬาฯ ยังได้แสดงความกังวลต่ออุบัติเหตุทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีก เมื่อพิจารณาการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เราเห็นการนำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน การแข่งขันทางนโยบายเป็นไปอย่างเข้มข้นระหว่างพรรคการเมือง ตัวอย่างได้แก่ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ นโยบายคืนภาษีรถคันแรก การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การให้สวัสดิการในรูปแบบต่าง ๆ

ความแตกต่างของการเลือกตั้งครั้งนี้จากครั้งก่อน ๆ คือ สถานการณ์การคลังของประเทศไม่สู้ดีนัก ในยุคก่อนโควิด ระดับหนี้สาธารณะของไทยห่างจากเพดานที่ 60% ค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยในอดีตจะขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลในอดีตสามารถพูดกับนักลงทุนต่างชาติว่าเรามีประวัติ (track record) เรื่องวินัยการคลังเป็นอย่างดี สะท้อนจากพื้นที่การคลังที่มีอยู่ประมาณ 20%

อย่างไรก็ตาม ข้อสนับสนุนนี้ใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน ภาระการคลังของไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากวิกฤตโรคระบาด กรอบความคิดเรื่องเพดานหนี้แทบจะไม่สำคัญอีกต่อไปแล้วในสายตาของนักลงทุน เพดานหนี้และพื้นที่การคลังกลายเป็นตัวเลขสมมติที่รัฐบาลแต่ละประเทศสามารถกำหนดกันได้เอง นักลงทุนต่างชาติเปลี่ยนมาให้ความสนใจที่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของหนี้สาธารณะและวินัยทางการคลังของรัฐเป็นหลัก

เมื่อพิจารณาการประเมินความเสี่ยงของประเทศไทย (Country risk assessment) จากสถาบันจัดอันดับเรตติ้งยักษ์ใหญ่ เช่น Fitch และ Moody’s ต่างมองว่าภาคการคลังของไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ถ้าวิเคราะห์ลึกลงไปจะพบว่าสถาบันเหล่านั้นคาดหวังให้รัฐบาลไทยค่อย ๆ รัดเข็มขัดตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้การขาดดุลการคลังน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเสี่ยงที่สถาบันเหล่านั้นมองว่าจะมีผลต่อการลดอันดับ (Downgrade) ประเทศไทยมากที่สุดคือ การที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองได้ สะท้อนการขาดวินัยการคลัง

สิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งของการเลือกตั้งครั้งนี้คือ หลายนโยบายมีแนวโน้มสร้างภาระการคลังอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถ้านโยบายเหล่านั้นไม่ได้มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เข้มแข็งพอ และการหางบประมาณที่สะท้อนความเป็นไปได้จริง อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงที่ตลาดอาจมองว่าสุ่มเสี่ยงต่อวินัยการคลัง และความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลไทยในระยะยาว

รศ.ดร.อธิภัทร ชวนคนไทยมาช่วยกันสร้างการเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการตั้งคำถามสำคัญ เช่นเดียวกับที่คนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังมองหาอยู่จากพรรคการเมืองตอนนี้คือ ความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว โดยดูได้จาก 1) พรรคการเมืองมีวิธีการหารายได้มารองรับที่สะท้อนความเป็นไปได้จริง และ 2) เม็ดเงินที่ใช้ไปนั้นเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อสังคมทั้งในมิติของความเท่าเทียมและการเติบโตระยะยาว

“การนำเสนอนโยบายการให้เงินอุดหนุนหรือสวัสดิการต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก สิ่งที่จะวัดกึ๋นของพรรคการเมืองคือ การทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเชื่อได้ว่ามีการประเมินผลกระทบของนโยบายอย่างสมเหตุสมผล และหาเงินมาจ่ายที่เป็นไปได้จริง”