กองทุนประกันฯ ชงแผนล้างหนี้ธุรกิจเจ๊งเคลมโควิด

ธุรกิจเจ๊งเคลมโควิด

กองทุนประกันวินาศภัย ชงแผนล้างหนี้บริษัทประกันเจ๊งโควิดถูกเพิกถอนใบอนุญาต เดินหน้าเสนอคลังกู้เงิน 20,000 ล้านบาท พร้อมออกบอนด์ขายบริษัทประกันอีก 30,000 ล้าน จับตาแผนฟื้นฟู “สินมั่นคงฯ” หวั่นกองทุนแบกภาระเพิ่ม

นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้าการจัดหาเงินกู้ของกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อนำเงินมาชำระให้แก่เจ้าหนี้บริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจากผลกระทบเคลมประกันภัยโควิด-19

ซึ่งปัจจุบันมีมูลหนี้อยู่กว่า 50,000 ล้านบาทนั้น ภายในเดือน พ.ค. 2566 นี้ คณะทำงานของกองทุนจะมีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องแผนจัดหาเงินกู้ จากนั้นในเดือน มิ.ย. คณะทำงานจะยกทีมนำแผนจัดหาเงินกู้ไปประชุมร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

และในเดือน ก.ค. จะมีการประชุมอนุกรรมการจัดหาเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องของกองทุน จากนั้นในเดือน ส.ค. กองทุนจะเสนอแผนจัดหาเงินกู้ต่อ สบน. เพื่อให้ สบน.ทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตั้งกรอบวงเงินการกู้ไว้ประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมชำระหนี้ ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

ส่วนมูลหนี้ที่เหลืออีก 20,000-30,000 ล้านบาท กองทุนมีแนวคิดจะออกตราสารหนี้ (บอนด์) เพื่อให้บริษัทประกันภัยมาช่วยซื้อ โดยสามารถนำเอาตราสารหนี้ไปดำรงเป็นเงินกองทุนของบริษัทได้ ซึ่งตามกฎระเบียบเปิดช่องให้กองทุน สามารถดำเนินการได้ แต่กระบวนการอาจไม่ง่าย เพราะมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งมีเวลา 2-3 ปีหลังกู้เงินแล้ว จะดำเนินการตรงส่วนนี้ต่อเนื่องได้

ทั้งนี้ มีปัจจัยที่อาจทำให้เกิดความผันแปร คือ ความไม่แน่ใจว่าหลังการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว รัฐบาลจะเห็นความสำคัญและเข้ามาแทรกแซงแค่ไหน และกรณีบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ที่มีโอกาสจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตในอนาคต แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร อย่างไรก็ดี หากเกิดขึ้น จะทำให้มูลหนี้ของกองทุนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 40,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว มีเจ้าหนี้เพิ่มอีก 4-5 แสนราย

“ตอนนี้รัฐบาลไม่มีงบฯมาสนับสนุน ดังนั้นการช่วยเหลือตัวเองของกองทุน คือ มีเงินสมทบเข้ากองทุนปีละ 600-700 ล้านบาท ทำให้การกู้เงินคงทำไม่ได้มาก ตามความสามารถในการชำระ ดังนั้นจะมีการกู้เงินบางส่วน และออกตราสารหนี้บางส่วน แต่ถ้าบริษัทสินมั่นคงประกันภัยล้มอีก ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะเอายังไง อย่างไรก็ดี กองทุนเองก็พยายามจะให้มีเม็ดเงินมาชำระหนี้ในปีต่อๆ ไป”

ชนะพล มหาวงษ์
ชนะพล มหาวงษ์

ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัยกล่าวอีกว่า สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกปี 2566 กองทุนได้อนุมัติจ่ายหนี้ไปแล้ว 2,000 ล้านบาท เหลือเงินสภาพคล่องอยู่ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท พยายามพยุงให้ถึงสิ้นปีนี้ โดยขณะนี้กองทุนมีศักยภาพทยอยจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ประมาณ 400-500 ล้านบาทต่อเดือน หรือจำนวนเจ้าหนี้ราว 6,000-7,000 รายต่อเดือน ซึ่งจะใช้เงินอยู่ประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี จึงอาจทยอยกู้ปีละ 5,000 ล้านบาท เพราะอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง เนื่องจากรัฐบาลไม่ค้ำประกัน

นอกจากนี้ ต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการ คปภ. ในการอนุมัติเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนเต็มเพดานที่ 0.5% จากเดิม 0.25% จากเบี้ยประกันที่บริษัทได้รับ ซึ่งเรื่องนี้ได้เสนอไปตั้งแต่ปลายปี 2565 แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการอนุมัติ ซึ่งหากอนุมัติปรับเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนจะขยับมาอยู่ที่ปีละ 1,300-1,400 ล้านบาท

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่บอร์ด คปภ.ยังไม่อนุมัติปรับเพิ่มเงินสมทบให้กับกองทุนประกันวินาศภัยอีก 0.25% เป็นเต็มเพดาน 0.5% นั้น เนื่องจากขณะนี้สำนักงาน คปภ. มีข้อเสนอจะเข้าไปช่วย โดยการให้เงินกู้กับกองทุน ซึ่งกำลังพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ อยู่

นอกจากนี้ ยังกำลังพิจารณาลดเงินสมทบเข้าบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ให้ประมาณ 2 ปี ซึ่งยาวขึ้นจากข้อเสนอของภาคธุรกิจที่ให้ลด 1 ปี เพื่อให้ภาคธุรกิจนำส่วนลดตรงนี้ นำส่งเป็นเงินสมทบให้กองทุนได้ อย่างไรก็ดี ส่วนนี้จะไม่เกิน 0.25% ซึ่งยอมรับว่า ยังไม่เพียงพอ ฉะนั้น ในระยะยาวอาจจะต้องแก้พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย

“ตอนนี้เป็นช่วงรอยต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ก็พยายามสั่งการให้ทำให้เร็วที่สุด” เลขาธิการ คปภ.กล่าว