ประกันชง “คปภ.” ขยับเพดานปล่อยกู้ซินดิเคตโลน 30%

ประกันภัย
ประกันภัย

สมาคมประกันชีวิตไทย ชงข้อเสนอสำนักงาน คปภ. แก้เกณฑ์ขยายเพดานปล่อยกู้ซินดิเคตโลนร่วมกับแบงก์เป็น 30% จากไม่เกิน 10% ยกเว้นเครดิตเรตติ้งผู้ขอสินเชื่อ-ผู้ค้ำประกัน พร้อมลดเงินสำรองจากระดับ 12% “ไทยประกันชีวิต” หนุนแก้เกณฑ์ช่วยธุรกิจแข่งปล่อยกู้แบงก์ได้ ขณะที่ “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย” ชี้บริษัทประกันลงทุนได้ยีลด์ดีขึ้น-ออกโปรดักต์จ่ายผลตอบแทนลูกค้าได้มากขึ้น ลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนได้

นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้สมาคมอยู่ในช่วงหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อขอแก้ไขกฎเกณฑ์การปล่อยกู้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ (syndicated loan) หรือการให้สินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการ (project finance) ที่จะทำให้บริษัทประกันชีวิตสามารถลงทุนได้จริง แม้จะไม่ได้ปล่อยกู้หลัก (lead arranger)

สาระ ล่ำซำ

โดยสมาคมเสนอให้ขยายสัดส่วนการปล่อยกู้จากเดิมไม่เกิน 10% ของมูลค่าทั้งหมดของแต่ละโครงการ เพิ่มเป็น 30% และขอให้ยกเว้นเรื่องการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือเครดิตเรตติ้งของผู้ขอสินเชื่อและผู้ค้ำประกัน จากเดิมกำหนดไว้ต้องไม่ต่ำกว่าระดับลงทุน (investment grade) รวมไปถึงขอให้ปรับลดเงินสำรองความเสียหายจากการลงทุน (risk charge) จากระดับ 12% ลงมา

“เรื่องนี้ได้หารือกันมาพอสมควรแล้ว หวังว่าเกณฑ์ใหม่จะบังคับใช้ได้ในเร็ว ๆ นี้” นายสาระกล่าว

นายสรังสี ลิมปรังษี ผู้อำนวยการฝ่าย บมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) กล่าวว่า เหตุผลที่สมาคมขอแก้ไขกฎเกณฑ์ syndicated loan เนื่องจากรู้สึกว่า ยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก และความสามารถในการแข่งขันยังไม่เทียบเคียงกับธนาคารพาณิชย์ เพราะฉะนั้น หากสำนักงาน คปภ.เห็นชอบแนวทางดังกล่าว จะทำให้ธุรกิจประกันแข่งขันกับธนาคารได้ และไทยประกันชีวิตเองก็พร้อมที่จะศึกษา เพื่อปล่อยกู้ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของประเทศ

นายสมประโชค ปิยะตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับธุรกิจและการลงทุน สำนักงาน คปภ. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คปภ.เพิ่งได้รับหนังสือขอแก้ไขเกณฑ์การปล่อยกู้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ (syndicated loan) จากทางสมาคมประกันชีวิตไทยมาเมื่อวานนี้เอง (1 มี.ค.) ดังนั้น คงต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อเสนอก่อน แต่คาดว่าคงไม่ช้า ซึ่งจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน อดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนปล่อยกู้ร่วมนี้จะอยู่ที่ประมาณ 8-10% จึงคาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทประกันชีวิตน่าจะให้ผลตอบแทนกับลูกค้าได้มากขึ้น หรือสามารถคิดเบี้ยประกันถูกลงได้ แต่บริษัทประกันชีวิตจะต้องแบกรับความเสี่ยงเพิ่มเติม
ไว้เองตามเกณฑ์ RBC

“อีกมุมหนึ่งคือ ขึ้นอยู่กับแบบประกัน จะการันตีทั้งหมดหรือจะจ่ายเป็นเงินปันผล (participating policy) ให้กับลูกค้าได้ ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าวอาจจะไม่ได้ทำให้แบบประกันดูน่าดึงดูดมากขึ้นขนาดนั้น แต่เป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงให้บริษัทประกันชีวิตในพอร์ตการลงทุนมากกว่า” นายพิเชฐกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลสำนักงาน คปภ. พบว่าปี 2565 สินทรัพย์ลงทุนของบริษัทประกันชีวิตอยู่ที่กว่า 3.68 ล้านล้านบาท คิดเป็น 91.58% ของสินทรัพย์รวมของบริษัทประกันชีวิตทั้งหมดที่อยู่ที่ 4.02 ล้านล้านบาท