ประกันกลุ่ม เคลมค่ารักษาพุ่ง แข่งกดเบี้ย-ลดความคุ้มครอง

ตรวจสุขภาพ

ตลาดประกันกลุ่ม “สุขภาพ-อุบัติเหตุ” แข่งเดือด เผยปี’65 มูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้าน เบี้ยใหม่พุ่ง 11.47% ซีอีโอไทยสมุทร ชี้หลังโควิดคลี่คลายเคลมค่ารักษาพยาบาลเด้งสูง-มาร์จิ้นบาง เอฟเฟ็กต์ต้นทุน ประกันดิ้นต้องปรับเพิ่มเบี้ย หรือเลือกตัดความคุ้มครอง “พรูเด็นเชียล” รับตลาดประกันกลุ่มแข่งรุนแรง ฟาก “อลิอันซ์อยุธยาฯ” เผยลูกค้าองค์กรใหญ่เคลมพุ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปี 2565 ภาพรวมพอร์ต “ประกันกลุ่ม” ในส่วนสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ของพนักงาน ของธุรกิจประกันชีวิตไทยมีมูลค่ารวมกว่า 29,866 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,617 ล้านบาท เติบโต 5.73% จากปี 2564 แยกเป็นเบี้ยประกันสุขภาพกลุ่ม 18,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.54% เบี้ยประกันอุบัติเหตุกลุ่ม 7,475 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.28% และอื่น ๆ อีกจำนวน 4,296 ล้านบาท

โดยมาจากเบี้ยรับรายใหม่ 14,269 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.47% และเบี้ยรับปีต่ออายุจำนวน 15,597 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.97% ขณะที่พบว่า 5 อันดับผู้เล่นหลัก ครองมาร์เก็ตแชร์ไปแล้วกว่า 90% ประกอบด้วย 1.เอไอเอ มีเบี้ยรับ 5,452 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากปี 2564 2.เมืองไทยประกันชีวิต 3,491 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% 3.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต 4,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.82% 4.เอฟดับบลิวดีประกันชีวิต 4,122 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.93% และ 5.ไทยประกันชีวิต 3,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.52% (ข้อมูลสมาคมประกันชีวิตไทย)

เคลมเด้ง เอฟเฟ็กต์พอร์ตต่ออายุ

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต ในฐานะอุปนายกฝ่ายการตลาด สมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดประกันกลุ่มเป็นหนึ่งในตลาดที่มาร์จิ้นบาง (ต่ำ) เพราะมีค่าเคลมสินไหมที่สูง แต่ช่วงที่เกิดการระบาดโควิด-19 คนกลัวการไปโรงพยาบาล ทำให้ยอดเคลมค่ารักษาพยาบาลต่ำ แต่เนื่องด้วยเป็นช่วงที่ลูกค้าองค์กรต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายภายใต้วิกฤตโควิด จึงได้เข้ามาเจรจากับบริษัทประกันเพื่อปรับราคาเบี้ยใหม่ จึงเห็นการแข่งขันด้านราคามากพอสมควรในช่วงนั้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ยอดเคลมค่ารักษาพยาบาลเด้งกลับมาอยู่ในระดับสูงแล้ว ซึ่งจากประสบการณ์ของแต่ละบริษัทประกันส่วนใหญ่ก็ต้องเพิ่มเบี้ย ทำให้อาจมีผลต่อการตัดสินใจสำหรับพอร์ตงานต่ออายุไปบ้าง ทั้งนี้ การต่ออายุสัญญาไม่เพียงขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของลูกค้าอย่างเดียว ซึ่งบางกรณีบริษัทประกันเองก็ไม่ต่ออายุก็มี เพราะสู้ราคาประมูลที่ต่ำไม่ไหว

“การลงไปเล่นตลาดประกันกลุ่ม ต้องบริหารจัดการความเสียหายให้ดี ซึ่งต้องร่วมมือกันระหว่างสมาชิกของบริษัทลูกค้า กับบริษัทประกัน เพื่อบริหารจัดการการเคลมให้เหมาะสม เพราะหากยอดเคลมสูงขึ้น บริษัทประกันต้องเพิ่มเบี้ย ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น หรืออาจจะตัดความคุ้มครองบางส่วนออกไปเพื่อคงเบี้ยเอาไว้ หรือไม่ต่ออายุไปเลยก็มี” นางนุสรากล่าว

พรูเด็นเชียลรักษาพอร์ตต่ออายุ

นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) อุปนายกฝ่ายบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พอร์ตงานประกันกลุ่มของบริษัทยังมีสัดส่วนการต่ออายุสูงถึง 85% มีสมาชิกของบริษัทลูกค้าอยู่ในมือกว่า 2 แสนคน โดยลักษณะการต่ออายุสัญญาจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ 1.ราคา และ 2.คุณภาพบริการ ในส่วนบริษัทใหญ่ ๆ ถ้าบริการดีมีคุณภาพ แม้ราคาเบี้ยจะคิดแพงกว่าคู่แข่งในตลาดไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าเดิมจะไม่ค่อยเปลี่ยนสัญญาไปค่ายอื่น

แต่เนื่องด้วยพอเป็นรูปบริษัทซึ่งใช้ระบบจัดซื้อเป็นหลัก ส่วนใหญ่แล้วลูกค้าจะพิจาณาจากราคามาเป็นที่ตั้ง ส่วนคุณภาพบริการเป็นลำดับรอง หากราคาใกล้เคียงกันก็จะพิจารณาเรื่องคุณภาพตามมา ปัจจุบันบริษัทยังมีพอร์ตประกันกลุ่มไม่มาก ซึ่งก็พยายามขยายการเติบโตของพอร์ตอยู่

ลดคุ้มครอง-แข่งราคาเบี้ย

นายบัณฑิตกล่าวว่า ในส่วนการประเมินทิศทางเคลมปีนี้ถือว่ามีความผันผวนสูง เพราะหลังโควิดคลี่คลาย คนเริ่มกลับมาใช้บริการเพื่อรักษาตัวด้วยโรคทั่วไปมากขึ้น ทำให้เทรนด์ของแต่ละบริษัทจะมีสถิติการเคลมที่สูงขึ้น

“ส่วนบางบริษัทประกันที่เห็นเคลมต่ำ ๆ โค้ดประมูลเบี้ยต่ำ ๆ อาจเป็นเพราะมีการตัดความคุ้มครองบางตัวออกไป เพราะดูจากสถิติแล้วเห็นว่าบางโรคเป็นโรคที่เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวไม่น่าจะเกิดอีก เช่น การผ่าตัด เป็นต้น ทำให้สัญญาปีต่อ เมื่อถอดความคุ้มครองตรงนั้นออกไป ราคาเบี้ยจะต่ำลงมาก ทำให้เมื่อคู่แข่งเห็นราคาเบี้ยที่ต่ำมาก ก็จะไม่สามารถแข่งประมูลสู้ราคาได้ จึงอาจสะท้อนภาพราคาเบี้ยในตลาดที่อาจจะรู้สึกว่าเกิดการแข่งขันกันสูง”

องค์กรใหญ่เคลมพุ่ง

นายโทมัส วิลสัน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีที่แล้วบริษัทมีเบี้ยรับพอร์ตประกันกลุ่มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเทียบจากปีก่อนหน้า โดยมีสมาชิกบริษัทลูกค้าประกันกลุ่มอยู่ในมือกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งการรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ได้ หรือเบี้ยสามารถเติบโตขึ้นได้เป็นเรื่องที่ดีมากแล้ว แม้จะโตน้อยก็ตาม เนื่องจากเป็นตลาดที่แข่งขันสูงมาก

ปัจจุบันโปรไฟล์ของลูกค้าพบว่า กรณีที่เป็นบริษัทเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่เป็นพอร์ตที่ดีและมีการต่ออายุสัญญากันค่อนข้างนานที่สุด ขณะที่บริษัทใหญ่แม้จะได้วอลุ่มเบี้ยก้อนใหญ่จากจำนวนพนักงานที่มาก แต่ก็มาพร้อมกับอัตราการเคลมที่สูงด้วยเช่นกัน จึงเป็นพอร์ตที่มีความท้าทายในการต่ออายุสัญญาปีต่อไปอยู่ค่อนข้างมาก