
ประกันสุขภาพเด็กเคลมพุ่ง ธุรกิจแห่ขอปรับขึ้นเบี้ย “โตเกียวมารีนประกันชีวิต” เผยปี 2565 ควักจ่ายเคลมกว่า 2,000 ล้านบาท ปีนี้เล็งลดพอร์ตสุขภาพลง 10%
ขณะที่สำนักงาน คปภ. รับหลายบริษัทแห่ขอขึ้นเบี้ย ชี้บางรายขอปรับเกือบ 100% เล็งให้ขยับทีละสเต็ป พร้อมต้องมีมาตรการรองรับผู้เอาประกัน วงในธุรกิจประกันโอดพฤติกรรมพ่อแม่ลูกป่วยเล็กน้อยก็ต้องแอดมิต ฟาก “เลขาฯ คปภ.” เผยสถิติเบี้ยประกันสุขภาพย้อนหลัง 5 ปี พุ่งเกิน 10% ทุกปี
- เปิดชื่อ 10 อันดับโรงเรียนดัง กทม. นักเรียนแห่สมัครสอบเข้า ม.1 สูงสุด
- Café Amazon เฉลยเอง ไวรัลนกหน้าร้านสะดวกซื้อ กำลังจะเกิดอะไรขึ้น?
- ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เสียชีวิต อายุ 55 ปี หลังซ้อมแข่งรถที่บุรีรัมย์
นายสมโพชน์ เกียรติไกรวัล ประธานที่ปรึกษาสำนักกรรมการผู้จัดการ และสายงานตัวแทน บริษัท โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทพบปัญหาสินค้าประกันสุขภาพเด็ก มีค่าใช้จ่ายในการเคลมค่ารักษาในโรงพยาบาลที่สูงมาก
โดยเมื่อสิ้นปี 2565 มียอดเคลมเข้ามากว่า 1,700 ล้านบาท โดยเฉพาะเด็กอายุ 0-5 ขวบ และเมื่อรวมยอดเคลมจากการเจ็บป่วยเล็กน้อยทั่วไป (simple diseases) ที่มีค่ารักษาพยาบาลต่อเคสขยับขึ้นมาเป็น 30,000 บาท จากในปี 2561 อยู่แค่ประมาณ 16,000 บาท
ส่งผลให้บริษัทต้องจ่ายเคลมพอร์ตประกันสุขภาพไปมากกว่า 2,000 ล้านบาท
ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องขอปรับขึ้นเบี้ยประกันในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
“ปีที่แล้ว เราประสบปัญหาเรื่องการเคลม แต่ก็จบไปแล้ว อย่างไรก็ดี เราไม่เคยมีปัญหากับลูกค้า จ่ายเคลมครบถ้วนมาตลอด ทั้ง ๆ ที่ต้องยอมรับว่าค่ารักษาพยาบาลในบางครั้งอาจจะสูงผิดปกติ หรือไม่ค่อยสมเหตุสมผล ซึ่งเราก็พยายามเข้าไปพูดคุยกับโรงพยาบาลต่าง ๆ
เพื่อให้เห็นถึงผลกระทบ เพราะถ้าค่ารักษาพยาบาลสูงมากเกินไป ส่วนสุดท้ายที่ได้รับผลกระทบก็คือลูกค้า ต้องจ่ายเบี้ยแพงขึ้น โดยปัจจุบันเราพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องเหล่านี้อยู่ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น” นายสมโพชน์กล่าว
นายสมโพชน์กล่าวว่า ตอนนี้ สังเกตว่า ตลาดประกันสุขภาพเด็กไม่มีบริษัทไหนอยากลงมาเล่นแล้ว เพราะเจ็บตัวกันหมดทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาโตเกียวมารีนฯอดทนทำ จนทางสำนักงานภูมิภาคขอให้บริษัทเริ่มหาทางปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยปี 2566 นี้
บริษัทคาดว่าจะปรับลดพอร์ตประกันสุขภาพลงมาเหลือ 20% จากปีที่แล้วอยู่ที่ 30% โดยจะไปเน้นขายสินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ประกันตลอดชีพ ประกันสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตควบการลงทุน ประกันโรคร้ายแรง และประกันบำนาญ กระจายพอร์ตมากขึ้น

แหล่งข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า จากผลกระทบการเคลมประกันสุขภาพเด็กอายุ 0-5 ขวบที่สูงมาก เริ่มเห็นแนวโน้มเกือบทุกบริษัทประกันที่ขาย แจ้งเข้ามาที่สำนักงาน คปภ. เพื่อขอปรับขึ้นเบี้ย อย่างไรก็ตาม คปภ.พยายามพิจารณาเงื่อนไขสัญญาและข้อมูลจากบริษัทรับประกัยภัยต่อมาประกอบการพิจารณา ซึ่งหากพบว่าขาดทุนสูงก็สามารถปรับเบี้ยให้ได้
“ครั้งนี้ หลายบริษัทมีการขอปรับเบี้ยในสัดส่วนที่สูงมาก เช่น บางบริษัทขอปรับขึ้นเบี้ย 100% ดังนั้น การอนุมัติต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อผู้เอาประกันเป็นสำคัญ โดยในเบื้องต้น คปภ.เสนอให้บริษัทประกันปรับขึ้นเบี้ยเป็นสเต็ป ๆ หรือมีมาตรการอื่นมารองรับผู้เอาประกันด้วย อย่างไรก็ดี ปัญหาเคลมประกันสุขภาพเด็ก สะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมของพ่อแม่ที่บางทีเด็กมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย แต่ก็ต้องเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน (IPD) ทั้งหมด ซึ่งอาจจะไม่จำเป็น” แหล่งข่าวกล่าว
นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ภาพรวมการเคลมค่ารักษาพยาบาลของผู้เอาประกันสุขภาพ ถือว่าสูงขึ้นมากเมื่อเทียบปีก่อนหน้า เหตุผลเพราะว่ายอดเคลมจากการเจ็บป่วยเล็กน้อยทั่วไป (simple diseases) กลับมาสูงเป็นปกติ หลังจากชะลอลงไปในช่วงที่โควิด-19 ระบาด
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงาน คปภ. กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติเบี้ยประกันสุขภาพตั้งแต่ปี 2560-2565 พบว่าทั้งธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัย มีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นเกิน 10% ในทุกปี และเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลสถิติระหว่างไตรมาส 3/2565 และไตรมาส 3/2564 เบี้ยของธุรกิจประกันชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนเบี้ยของธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโตแบบชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการรับประกันภัยโควิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลสมาคมประกันชีวิตไทย พบว่า เบี้ยประกันสุขภาพทั้งระบบมีทั้งสิ้นเกือบ 1 แสนล้านบาท โดยเป็นเบี้ยของบริษัทประกันชีวิตคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80-90% โดยจากสมาคมประกันชีวิตไทย ช่วง 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) ทั้งอุตสาหกรรมมีเบี้ยสุขภาพอยู่ที่ 77,771.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.37% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน