เทียบฟอร์มงบฯหุ้น BDMS-THG ธุรกิจ”หมอเสริฐ-หมอบุญ”

เทียบฟอร์มหุ้น BDMS-THG

เทียบฟอร์มหุ้น BDMS-THG ธุรกิจโรงพยาบาล ‘หมอเสริฐ-หมอบุญ’ หลังประกาศงบปี 2565 ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากพูดถึงธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทย ถือว่าเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างโดดเด่นและสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ เพราะค่ารักษาพยาบาลที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับคุณภาพและบริการที่ได้รับ

วันนี้ ‘ประชาชาติธุรกิจ’ จึงจะพาไปเทียบฟอร์ม 2 ธุรกิจโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศไทย อย่าง บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ธุรกิจในมือนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือ ‘หมอเสริฐ’ กับ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ธุรกิจในมือนายแพทย์บุญ วนาสิน หรือ ‘หมอบุญ’ ซึ่งทั้งสองบริษัทได้ประกาศผลประกอบการปี 2565 ออกมาแล้ว

BDMS โกยกำไร 1.2 หมื่นล้าน

เริ่มกันที่ BDMS ปัจจุบันถือเป็นผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศและเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีโรงพยาบาลเครือข่ายในไทยและกัมพูชา ดำเนินการภายใต้ชื่อโรงพยาบาล 6 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ 2.กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช 3.โรงพยาบาลบี เอ็น เอช

4.กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท 5.กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล และ 6.กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล นอกจากนี้เครือข่ายของ BDMS ยังรวมถึงธุรกิจที่ให้การสนับสนุนด้านการแพทย์ ได้แก่ ธุรกิจห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ธุรกิจผลิตยาและธุรกิจผลิตน้ำเกลือ เป็นต้น

ปี 2565 โกยกำไรสุทธิกว่า 12,605 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และอัตราการครองเตียงที่สูงขึ้นซึ่งทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด

เฉพาะงวดไตรมาส 4/2565 มีกำไรสุทธิ 3,113 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% YOY ซึ่งถือเป็นกำไรที่กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงปี 2562 ที่ 15,517 ล้านบาท หลังจากปี 2563-2564 มีกำไรแค่ 7,214 ล้านบาท และ 7,936 ล้านบาท (ตามลำดับ) หลังเผชิญการระบาดโรคโควิด

รายได้พุ่ง คนไข้ ‘ไทย-ต่างชาติ’ คัมแบ็ก

โดย BDMS สามารถทำรายได้จากการดำเนินงานทั้งปีแตะ 92,968 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เฉพาะงวดไตรมาส 4/2565 อยู่ที่ 23,842 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% YOY

สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากผู้ป่วยชาวไทย 14% และชาวต่างชาติ 69% ส่งผลให้สัดส่วนรายได้ของผู้ป่วยชาวไทยต่อผู้ป่วยชาวต่างชาติเปลี่ยนแปลงจาก 82% ต่อ 18% ในปี 2564 เป็น 76% ต่อ 24% ในปี 2565 ทั้งนี้การเติบโตของรายได้ผู้ป่วยชาวไทยเป็นผลมาจากการกลับมารักษาพยาบาลที่ไม่เกี่ยวกับ COVID-19 ซึ่งช่วยชดเชยรายได้เกี่ยวกับ COVID-19 ที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2/2565

สำหรับรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติมีการเติบโตดีจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ (Fly-in Patient) และผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย (Expatriate) จากการที่ประเทศต่าง ๆ ผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางที่เกี่ยวเนื่องกับ COVID-19 ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้อัตราการครองเตียงโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 60% ใน ปี 2564 เป็น 73% ในปี 2565

มูลค่า BDMS กว่า 4.4 แสนล้าน

ปัจจุบัน (28 ก.พ. 2566) มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของหุ้น BDMS มีขนาดสูงกว่า 444,976 ล้านบาท โดยหมอเสริฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 2,028 ล้านหุ้น สัดส่วน 12.77% ด้านราคาหุ้นอยู่ที่ 28 บาท (ราคาปิดวันที่ 27 ก.พ. 2566)

กางแผนปี 66 ขยายผู้ป่วยประกันสังคม

โดยมุมมองของผู้บริหารในปี 2566 มีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญคือ มุ่งมั่นสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ โดยจะเน้น 1.การเติบโตของผู้ป่วยต่างชาติ โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มตะวันออกกลาง กลุ่ม CLMV และประเทศจีน 2.สร้างความสัมพันธ์กับผู้ชำระเงินแทนผู้ใช้บริการ (Third Party Payors) ซึ่งรวมถึงบริษัทประกันสุขภาพ และบริษัทเอกชนต่าง ๆ

3.เพิ่มจำนวนผู้ประกันตน และขยายบริการเพื่อรองรับผู้ป่วยประกันสังคมในโรงพยาบาลเครือข่าย 4.ขยายฐานผู้รับบริการไปสู่กลุ่ม Silver Age พร้อมพัฒนาการให้บริการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ กลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยขยายฐานลูกค้า เพิ่มจำนวนผู้รับบริการ ส่งผลให้อัตราการใช้สินทรัพย์ของโรงพยาบาลเครือข่ายเพิ่มสูงขึ้น

THG กำไร 1.6 พันล้าน บุ๊กรายได้ ‘ทีอาร์พีเอช’

ถัดมาคือ THG ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ในลักษณะโรงพยาบาลทั่วไป (General Hospital) ภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลธนบุรี”

ปี 2565 โกยกำไรสุทธิ 1,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.8% YOY (รวมรายการพิเศษ) แต่หากไม่รวมรายการพิเศษจะมีกำไรสุทธิ 1,497 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากการกลับมาใช้บริการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้น และยอดการโอนห้องที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย THG สามารถทำรายได้รวมอยู่ที่ 11,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% YOY ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวตามสถานการณ์ ประกอบกับเข้าซื้อกิจการในช่วงปลายปี โดย THG รับรู้รายได้จากโรงพยาบาลทีอาร์พีเอชในเดือน ธ.ค. 2565 โดยรายได้จากการประกอบกิจการโรงพยาบาลที่ไม่รวมในส่วนของผลจากการเข้าซื้อกิจการ รายได้จาก Hospitel โรงพยาบาลสนาม และรายได้วัคซีน COVID-19 เติบโตเพิ่มขึ้น 17.1% YOY ซึ่งเกิดจากกลับมาสู่สภาวะปกติ

โดยธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ มีรายได้ 10,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% และธุรกิจการบริบาลผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์ มีรายได้ 748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 82.4%

มูลค่า THG กว่า 5.9 หมื่นล้าน

ปัจจุบัน (28 ก.พ. 2566) มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหุ้น THG มีขนาดสูงกว่า 59,111 ล้านบาท โดยภรรยาหมอบุญ (จารุวรรณ วนาสิน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 จำนวน 122.13 ล้านหุ้น สัดส่วน 14.41% พร้อมกับนั่งตำแหน่งประธานกรรมการ THG ด้านราคาหุ้น THG อยู่ที่ 69.75 บาท (ราคาปิดวันที่ 27 ก.พ. 2566)

กางแผน 3 ปี ขยาย 419 เตียง ทำ M&A

สำหรับมุมมองผู้บริหารต่อแนวโน้มธุรกิจของปี 2566 ชี้แจงไว้ว่า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงรอบด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ทาง THG ยังคงวางแผนเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีกับการแพทย์มาผนวกรวมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาว

และให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร โดยมีการร่วมมือกับองค์กรชั้นนำต่าง ๆ จัดทำหลักสูตรพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เพื่อที่จะขยายศักยภาพในการให้บริการดูแลรักษาสุขภาพอย่างมีคุณภาพและครบวงจร

โดยใน 3 ปีข้างหน้าทางโรงพยาบาลในเครือ THG มีแผนการขยายห้องตรวจเพิ่ม จำนวน 195 ห้องตรวจ และขยายเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นจำนวน 419 เตียง ทั้งนี้ทาง THG ยังคงเปิดโอกาสในการหาพันธมิตร และการลงทุนเพื่อเสริมทัพให้บริษัทมีความแข็งแกร่งเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน