
สภาพัฒน์ รับมืองบประมาณปี’67 ล่าช้า เร่งรัดงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 4 แสนล้านบาท หนุนเม็ดเงินภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ พร้อมแนะรัฐบาลใหม่เร่งทำ “ส่งเสริมการส่งออก-แก้ปัญหาปากท้องประชาชน” พร้อมรักษาวินัยการคลัง-สร้างความเชื่อมั่นการลงทุน ดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ เตือนนโยบายสร้างต้นทุนภาคธุรกิจกระเทือนการจ้างงาน-การบริโภค-สร้างภาระคลังระยะยาว
วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานภายใต้การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น ซึ่งงบประมาณใหม่คงไม่ได้มีเข้ามา แต่เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ให้ได้ตามเป้าหมาย และรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศให้เกิดความต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน
โดยในส่วนงบประมาณปี 2567 ที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีความล่าช้าออกไป แต่ไม่น่าจะเกินไตรมาสที่ 1/2567 ซึ่งสภาพัฒน์จะมีการเร่งรัดงบฯลงทุน โดยเฉพาะหากสามารถเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ได้ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ จะทำให้มีงบประมาณออกมาได้ภายในปีนี้ โดยงบประมาณรัฐวิสาหกิจที่จะอนุมัติได้ภายในเดือนกันยายนนี้น่าจะมีเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 2.3 แสนล้านบาท
และภายในต้นปี 2567 ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม จะมีรัฐวิสาหกิจในกลุ่มบริษัท จำกัด (มหาชน) ใช้วงเงินราว 2 แสนล้านบาท จะทำให้มีเม็ดเงินภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง
สำหรับเรื่องเร่งด่วนภายหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มองว่าขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลใหม่ แต่สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการจะมีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.การส่งออกสินค้าจะต้องมีการเร่งสนับสนุน และปรับโครงสร้างภาคการส่งออก และภาคเกษตรอย่างจริงจัง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวเนื่องไปยังภาคการบริโภคและเศรษฐกิจไทย
และ 2.ปัญหาปากท้องของประชาชน แม้ว่าระดับการบริโภคจะขยายตัวได้ดี แต่ยังคงมีเรื่องของราคาไฟฟ้าที่สูงที่มาจาราคาพลังงานโลกที่ปรับสูงขึ้น แม้ว่าแนวโน้มราคาจะปรับลดลงตามราคาแก๊ส แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่รัฐบาลในการดูแลราคาพลังงานว่าจะมีมาตรการออกมาอย่างไร และรายละเอียดของแต่ละพรรคที่ประกาศไว้ แต่โดยรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง และเศรษฐกิจภายในประเทศไม่ได้มีปัญหาอะไรยังคขยายตัวจากการบริโภคและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
“เราประเมินไว้งบประมาณปี 2567 จะออกมาได้ในช่วงไตรมาสที่ 1/67 ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ซึ่งเป็นการประเมินกรณี Worst Case Scenario แล้ว ส่วนฝั่งการเมืองก็ต้องคุยกัน แต่ประเด็นหลักในการดำเนินการจะต้องเปลี่ยนผ่านให้ Smooth ราบรื่นไปได้ เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น การดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย
อาทิ อีวี แบตเตอรี่ ดิจิทัล หรือชิปต้นน้ำ-ปลายน้ำของอีวี อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเรื่องการดึงดูดการลงทุนเป็นเรื่องจำเป็น หากชัดเจนเร็วจะทำให้การพูดคุยหรือดึงดูดนักลงทุนเข้ามาได้เร็วเท่านั้น”
นายดนุชากล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายการขับเคลื่อนภายใต้รัฐบาลใหม่นั้น มองว่าประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาได้เจอผลกระทบโควิด-19 มาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานโยบายการเงินการคลังจำเป็นต้องอัดเต็มที่เพื่อให้ไทยรอดพ้นวิกฤต แต่ปัจจุบันไทยได้ผ่านวิกฤตแล้วการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังต้องเข้าสู่ปกติ ซึ่งก็คือการเข้าสู่การรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งที่ต่างประเทศจะเข้ามาประเมินไทยและมีผลต่อการจัดอันดับ (เรตติ้ง) ของประเทศ รวมถึงเป็นการรักษาเสถียรภาพต่างประเทศ เพื่อรับแรงกระแทกจากปัจจัยภายนอกอย่างภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ไม่สามารถคาดการณ์ว่าจะรุนแรงแค่ไหน จึงจำเป็นต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
สำหรับผลต่อเรื่องการลดขนาดการขาดดุลงบประมาณไม่ให้เกิน 3% ต่อจีดีพีนั้น ซึ่งสภาพัฒน์ก็ต้องมีการพูดคุยกับรัฐบาลใหม่ถึงการรักษาวินัยการคลัง เป็นสิ่งจำเป็น เพราะไทยขาดดุลงบประมาณการคลังมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมาหนี้สาธารณะของไทยเกิดขึ้นเยอะมาก โดยมีหนี้ที่เกิดจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กับหนี้ขาดดุลงบประมาณ
ซึ่งหนี้ที่เกิดจากโครงสร้างพื้นฐานยังมีรายได้กลับมา แต่หนี้ขาดดุลงบประมาณเฉลี่ย 6 แสนล้านบาทต่อปี หากจีดีพีขยายตัวก็สามารถบริหารได้ แต่หากมีวิกฤตจะเกิดปัญหาได้ ทำให้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการคลังกำหนดไว้ว่ารัฐบาลใหม่จะต้องกำหนดการคืนเงินต้นและเงินกู้เท่าไร เพื่อรักษาวินัยการคลัง
ส่วนจะมีการปรับเปลี่ยนแผนหรือการรื้องบประมาณ มองว่ารัฐบาลใหม่สามารถทำได้หลายแบบ แต่จะมีอยู่ 2 ทาง คือ 1.ปรับเล็ก เป็นการปรับไส้ใน และ 2.ทำใหม่เลย จะต้องมีการประมาณรายได้และรายจ่าย รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากดูพิจารณาคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก เพราะมีข้อจำกัดของงบประมาณด้วย
และภายใต้นโยบายพรรคการเมืองที่มีการสนับสนุนให้เกิดต้นทุนของผู้ประกอบการและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรง จะต้องพิจารณาให้รอบรอบ เพราะบางเรื่องส่งผลค่อนข้างเยอะให้กับภาคธุรกิจ หากกระทบเยอะจะเกิดการปรับตัวไปสู่ Automatic ซึ่งกระทบต่อการจ้างงาน
ดังนั้น การทำนโยบายที่ทำให้ต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นจะต้องพิจารณาผลดีและผลเสีย เพราะส่วนหนึ่งอาจจะทำให้ไทยสูญเสียหรือกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ให้ปรับทิศทางด้วย และเป็นเรื่องปกติหากผู้ประกอบการมีภาระเพิ่มขึ้น จะต้องส่งผ่านไปยังผู้บริโภค และส่งต่อให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นจนอาจจะกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ จึงต้องทำให้รอบคอบ
“ในช่วงที่เกิดวิกฤตเราไม่ได้สนใจเรื่องวินัยการเงินการคลัง เราอัดเม็ดเงินเข้าไป แต่วันนี้เราพ้นวิกฤตแล้ว เราต้องกลับมารักษาวินัยการเงินการคลัง ซึ่งรัฐบาลใหม่มีนโยบายที่จะเข้าไปช่วยคนในหลายกลุ่ม เช่น สวัสดิการต่าง ๆ จำเป็นต้องมีมาตรการเสริมให้เกิดรายได้ด้วย ต้องชัดเจนและพุ่งเป้า ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระการคลังระยะยาว
เพราะตอนนี้มีแต่คนพูดแต่เรื่องรายจ่าย ไม่มีคนพูดถึงเรื่องรายได้จะมาอย่างไร ส่วนมีการพูดการปรับโครงสร้างภาษี เช่น รายได้จ่ายสูงกว่าคนทั่วไป และลดหย่อนน้อยลง เพราะคนรายได้สูงมีช่องทางในการลดหย่อนเยอะ หากทำได้ก็ดี เพราะตอนนี้มีคนอยู่ในระบบภาษี 10-11 ล้านคน แต่จ่ายภาษีจริงแค่ 3-4 ล้านคน เราจึงควรให้คนเข้าระบบฐานภาษีให้หมด แต่ทำให้เรื่องภาษีเป็นหน้าที่ของทุกคน และตอนนี้เองเราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คาดเดาสถานการณ์ลำบาก การอยู่รอดของไทยภายใต้เศรษฐกิจโลกผันผวนเราจะต้องทำตัวให้แข็งแรงรับแรงกระแทกให้ได้”
ส่วนการทำงานร่วมกับรัฐบาลใหม่นั้น นายดนุชากล่าวว่า สภาพัฒน์เป็นหน่วยงานข้าราชการในระบบต้องทำงานเพื่อประเทศชาติ ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ตาม ซึ่งสไตล์การทำงานอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐบาล แต่หลักการทำงาน กฎหมาย จะต้องเหมือนเดิมและมีอยู่แล้ว หากไม่มียุทธศาสตร์ระยะยาว จะมีแต่ระยะ 5 ปี ไทยจะเดินหน้าอย่างไร เพราะอายุรัฐบาลค่อนข้างสั้นมาถึงเปลี่ยน ซึ่งทำให้ไทยไม่ไปไหน