ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า รับความเห็นเจ้าหน้าที่เฟดหนุนเพิ่มดอกเบี้ย

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่า รับความเห็นเจ้าหน้าที่เฟดหนุนเพิ่มดอกเบี้ย จับตาผลการเจรจาระหว่าง โจ ไบเดน และเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐในสัปดาห์นี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/5) ที่ระดับ 34.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (16/5) ที่ระดับ 33.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากนายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา และนายออสตัน กูลสปี ประธานเฟดสาขาชิคาโกแสดงมุมมองเชิงบวกเมื่อวานนี้ โดยระบุว่าเฟดจะสามารถทำให้เศรษฐกิจสหรัฐผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้อย่างราบรื่น แต่นายบอสติกเตือนว่า เฟดจะเผชิญบททดสอบที่ท้าทาย หากสถานการณ์เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน เม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.8% หลังจากร่วงลง 0.7% ในเดือน มี.ค. ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือน เม.ย. หลังจากร่วงลง 0.4% ในเดือน มี.ค. โดยยอดค้าปลีกปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ม.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากสภาพอากาศที่อบอุ่น ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์พุ่งขึ้น

นอกจากนี้นักลงทุนจับตาผลการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ รวมทั้งแกนนำในสภาคองเกรส ซึ่งทั้งสองฝ่ายหารือกันเป็นรอบที่ 2 เกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐในสัปดาห์นี้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ รมว.คลังกล่าวว่า ขณะนี้สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งแนวโน้มการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้สนามบินเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว

กระทรวงการคลังคาดว่า ยอดนักท่องเที่ยวในปีนี้ 29 ล้านคน ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดว่า 28 ล้านคน หวังสร้างรายได้เข้าประเทศ 1.27 ล้านล้านบาท นับเป็นปัจจัยบวกในการทำรายได้เข้าประเทศ

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.08-34.26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/5) ที่ระดับ 1.0867/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (16/5) ที่ระดับ 1.0891/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีร่วงลงสู่ระดับ -10.7 จุด ในเดือน พ.ค. จากระดับ 4.1 จุดในเดือน เม.ย. หนักกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ -5.3 จุด

โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานตัวเลขดังกล่าว ซึ่งบ่งชี้ว่าปัญหาเศรษฐกิจของเยอรมนีอาจเลวร้ายลงกว่าเดิมในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และการปรับลดลงคราวนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565 นอกจากนี้คาดว่าปัจจัยบางส่วนที่ทำให้ดัชนีติดลบมาจากความหวังว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติยุโรป (Burostat) ระบุว่า เศรษฐกิจของยูโรโซนขยายตัวเล็กน้อยในไตรมาส 1/2566 ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขประมาณการเบื้องต้น หลังเศรษฐกิจยูโรโซนรอดพ้นจากวิกฤตพลังงานมาได้ โดยก่อนหน้านี้เกิดความวิตกกังวลว่าวิกฤตพลังงานจะเป็นชนวนให้เศรษฐกิยูโรโซนถดถอย

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซนขยายตัว 0.1% ในไตรมาส 1/2566 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0821-1.0873 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0828/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/5) ที่ระดับ 136.32/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (16/5) ที่ระดับ 135.76/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2566 ขยายตัว 1.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 137.17-136.31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 136.95/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านของสหรัฐประจำเดือน เม.ย. (17/5), สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIAX Z17/5), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (18/5) และอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนประเทศญี่ปุ่น (19/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.90/-10.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.90/-8.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ