กนง.ไม่ปิดประตูขึ้นดอกเบี้ย ลุ้นท่องเที่ยว-บริโภคดันจีดีพีโตกว่าคาด

ปิติ ดิษยทัต
ปิติ ดิษยทัต

กนง.คงจีดีพีปีนี้ขยายตัว 3.6% และปีหน้า 3.8% เผยอานิสงส์ท่องเที่ยว-การบริโภคในประเทศ หนุนจีดีพีมีโอกาสโตกว่าคาด ยันไม่ปิดประตูขึ้นดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบ-ดอกเบี้ยที่แท้จริงต้องมากกว่าศูนย์ ชี้รอดูความชัดเจนตั้งรัฐบาลใหม่ก่อนประเมินผลกระทบนโยบาย

วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวชัดเจน โดยยังคงใกล้เคียงกับการประมาณการเดิมที่มองไว้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยปีนี้คาดการณ์จีดีพีจะขยายตัว 3.6% และปี 2567 จะขยายตัว 3.8%

ท่องเที่ยวหนุนบริโภค ดันจีดีพีโตกว่าคาด

“แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้มาจากท่องเที่ยวและภาคบริการ ส่งผลดีต่อการบริโภคเอกชน ซึ่งเป็นการอุปโภคในประเทศเป็นหลัก และเร่งตัวจากฐานที่ต่ำ ดังนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจมีโอกาสขยายตัวดีกว่าคาดการณ์ โดยความเชื่อมั่นอยู่ในระดับสูง การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทำให้มีความเชื่อมั่นการลงทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงนโยบายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น จะเป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัว แต่จะเป็นการขยายตัวได้ในปีหน้า”

ทั้งนี้ กนง.มีปรับประมาณการตัวเลขไส้ในเศรษฐกิจที่มีทั้งปรับดีขึ้นและแผ่วลง โดยภาคการส่งออกปรับลดลงซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ที่จะซบเซาในช่วงแรก และปรับดีขึ้นในช่วงหลังของปีโดยในปี 2566 ปรับจาก -0.7% เป็น -0.1% และในปี 2567 ปรับจาก 4.3% ลดลงมาอยู่ที่ 3.6%

ส่วนแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ ภาคการท่องเที่ยวที่จะมีผลต่อการบริโภคในประเทศให้ขยายตัวดีขึ้น โดย กนง.มีการปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นในปีนี้อยู่ที่ 29 ล้านคน จาก 28 ล้านคน และปี 2567 ปรับจาก 35 ล้านคน เป็น 35.5 ล้านคน ซึ่งแนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนทยอยเข้ามา และมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น (Up side) ในช่วงครึ่งปีหลัง จากปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และส่วนใหญ่เป็นทริประยะสั้น

เงินเฟ้อเข้ากรอบ ลุ้นเงินเฟ้อพื้นฐานเสี่ยงค้างในระบบนาน

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมาย แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจาก 2.9% มาอยู่ที่ 2.5% และในปี 2566 ทรงตัวอยู่ที่ 2.4% เป็นผลมาจากฐานที่สูง และมีมาตรการค่าไฟที่เข้ามาช่วย และคาดการณ์เงินเฟ้อจะปรับลดลงอีกในระยะข้างหน้า เนื่องจากฐานที่สูงในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 ที่อยู่เกือบ 8% ทำให้เมื่อเทียบกับปีก่อนเงินเฟ้อมีโอกาสปรับลดลงต่ำกว่า 2%

อย่างไรก็ดี อัตราเงินพื้นฐาน ปรับลดลงจาก 2.4% มาอยู่ที่ 2.0% และปี 2567 อยู่ที่ 2.0% ซึ่งการประเมินองค์ประกอบของตะกร้าเงินเฟ้อต่อแรงกระแทกของช็อก พบว่าเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเร็วกว่าเงินเฟ้อพื้นฐานราว 0.2-0.3% และหากดูไส้ในเงินเฟ้อพื้นฐานที่ทำให้การปรับตัวลดลงใช้เวลานาน จะเป็นราคาอาหารที่มีสัดส่วน 28% พลังงาน 49% และอาหารสด 23% โดยอาหารมีการปรับลดลงค่อนข้างช้า ทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้ออยู่ในระบบนานกว่าอดีต

“หากดูเครื่องชี้วัดเงินเฟ้ออื่น ๆ ก็ยังอยู่ในแดนเฝ้าระมัดระวังต่อเนื่อง แม้ว่าเงินเฟ้อภาพรวมจะปรับลดลงอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ดังนั้น กนง.ยังคงต้องเฝ้าระวังการตั้งราคาของผู้ประกอบการ และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างไร”

กนง.ไม่ปิดประตูขึ้นดอกเบี้ย ย้ำดอกเบี้ยที่แท้จริงต้องมากกว่าศูนย์

ส่วนความจำเป็นในการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อนั้น นายปิติกล่าวว่า หากดูอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) เมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) หากเศรษฐกิจขยายตัวตามศักยภาพ 3-4% ดอกเบี้ยที่แท้จริงจะต้องเป็นบวก และสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ซึ่งไทยบริบทปกติที่เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ และเศรษฐกิจขยายตัวตามดุลยภาพ ดอกเบี้ยที่แท้จริงจะต้องมากกว่าศูนย์หรือเป็นบวก

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยตอนนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เป็นบวก 100% แม้จะฟื้นตัวเท่าก่อนโควิด-19 แต่ยังมีช่องว่างเมื่อเทียบกับการเติบโตตามศักยภาพ ซึ่ง กนง.มีการปรับดอกเบี้ย 6 ครั้งติดต่อกัน ซึ่งเป็นนโยบายการเงินที่อยู่ในระดับเหมาะสม โดยรวมคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะกลับเข้าสู่ระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวศักยภาพของเศรษฐกิจมากขึ้น

“ในภาพรวมการดำเนินนโยบายที่ทำมายังเหมาะสมที่ยังดำเนินการในลำดับต่อไป แต่คิดว่าที่สำคัญ ณ ตอนนี้ความไม่แน่นอนในทุกด้านมีค่อนข้างเยอะ คณะกรรมการจะดูแนวโน้มข้อมูลเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่หากมีปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามาใหม่แล้วทำให้มุมมองของคณะกรรมการเปลี่ยนก็จะเกิดการปรับอัตราดอกเบี้ยตามมุมมองเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป โดยรวมเป้าหมายก็อยากจะทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวเต็มศักยภาพอย่างยั่งยืน ขณะที่เงินเฟ้อคงอยู่ในเป้าหมายอย่างยั่งยืน และภาวะการเงินสอดคล้องกันกับเศรษฐกิจ”

ส่วนอัตราดอกเบี้ยจุดสูงสุด (Terminal Rate) นั้น สิ่งที่มองคือเศรษฐกิจเข้าสูงศักยภาพ และเงินเฟ้อโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ซึ่งมีความแตกต่างจากสหรัฐ ทำให้ กนง.จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปอยู่ที่เท่าไรนั้นขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ และแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า (Out Look) จะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันอย่างไร แต่ไทยไม่มีความจำเป็นว่าจะต้องล้อไปกับต่างประเทศ เพราะแต่ละประเทศมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป

การส่งผ่านดอกเบี้ยเริ่มกระทบผู้กู้บ้าน

นายปิติกล่าวว่า การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของระบบธนาคารพาณิชย์ต่อดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) สอดคล้องกับการปรับดอกเบี้ยนโยบาย โดยมีการส่งผ่านไปยังดอกเบี้ย MLR ประมาณ 60% แต่ MRR น้อยกว่า สะท้อนว่าสถาบันการเงินยังคงดูแลผู้กู้ในกลุ่มเปราะบาง

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายย่อมมีผลกระทบต่อหนี้ของทุกคน โดยในแง่ของสินเชื่อรายย่อยจะพบว่าประมาณ 60% ยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ซึ่งไม่ได้ปรับทันที แต่ก็มีสัญญาณทยอยปรับขึ้น รวมถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่โดยรวมยังไม่ได้มีประเด็นในเรื่องของรับภาระหนี้ไม่ไหว ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปของ กนง.

“กนง.เรามีการพูดถึงเรื่องหนี้ครัวเรือนพอสมควร โดยเฉพาะหนี้เดิมที่ค้างมานาน ซึ่งจะเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจได้ และการขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบต่อกลุ่มนี้มากที่สุด แต่การแก้ปัญหาหรือดูแลไม่ได้เป็นเรื่องของดอกเบี้ย แต่เป็นการดูแลผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนหนี้ใหม่ก็อาจจะกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่ปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อใหม่ยังคงไปได้อยู่ แม้ว่าจะชะลอจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่หันไปออกหุ้นกู้แทน”

เกาะติดนโยบายรัฐบาลใหม่

นายปิติกล่าวว่า คณะกรรมการ กนง.ได้มีการประเมินการเลือกตั้งผ่านการตตั้งสมมุติฐาน (Scenario) ทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทานต่าง ๆ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่ตอนนี้เป็นการวิเคราะห์นโยบายทั่วไป เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนของนโยบายที่จะออกมา

ดังนั้น จึงต้องรอกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และการดำเนินนโยบายจะต้องรองรับความเสี่ยงได้ อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในครั้งนี้ เป็นการชั่งน้ำหนักและความเสี่ยงแล้ว อย่างไรก็ตาม คราวหน้าหากมีความชัดเจนมากขึ้นจะสามารถใส่น้ำหนักได้ว่ามีอะไรที่เป็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีอะไรเป็นพิเศษที่จะต้องปรับนโยบายการเงินทันที

ยันฟันด์โฟลว์ยังปกติ

นายปิติกล่าวว่า เรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) เป็นตัวแปรสำคัญที่ กนง.พิจารณาเป็นปกติ โดยนับตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบันจะเห็นว่าทิศทางค่าเงินบาทในช่วง 3-4 เดือนมีความผันผวนค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาธนาคารต่างประเทศ การปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก ๆ และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) การโอนเงินปันผลกลับไปประเทศ รวมถึงปัจจัยภายในประเทศ เช่น การเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้มีผลต่อภาพความของตลาด แต่ยังไม่ได้มีผลต่อภาพรวมแต่อย่างใด