ดอลลาร์แข็งค่า ขานรับแนวโน้มวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ขานรับแนวโน้มวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น หลังล่าสุดธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 4.75% ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ขณะที่ปัจจัยในประเทศตลาดยังกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/6) ที่ระดับ 34.83/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (8/6) ที่ระดับ 34.71/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 4.75% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.5% เช่นเดิม

ท่าทีของธนาคารกลางแคนาดาที่สอดคล้องกับธนาคารกลางออสเตรเลียที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาสู่ระดับ 4.10% ในวันอังคารก่อนหน้า (6/6) ได้สร้างความกังวลต่อนักลงทุนว่าวงจรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ อาจยุติช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สูง

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดการส่งออกสินค้าในเดือน เม.ย.ย่อตัวลง 5.3% สู่ระดับ 1.67 แสนล้านดอลลาร์ โดยยอดการส่งออกได้รับแรงกดดันจากการส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่ยอดการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น 2.00% สู่ 2.63 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้สหรัฐขาดดุลการค้าในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 23.00% สู่ระดับ 7.46 หมื่นล้านดอลลาร์ จาก 6.06 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน มี.ค. ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 8 ปี

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือน พ.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 55.07 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่ มี.ค. 63 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 50.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 52.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 64.2

ซึ่งดัชนีทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีปัจจัยบวกมาจาก เม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากการหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลเกษตรหลายรายการที่ปรับตัวสูงขึ้น และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลดลง ทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดการณ์ว่า จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดี ประกอบกับเศรษฐกิจในเอเชียที่มีแนวโน้มขยายตัว จะช่วยผลักดันการส่งออกของไทยให้ปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลกับความไม่แน่นอนทางการเมืองเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงอาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.83-34.91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.84/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/6) ที่ระดับ 1.0706/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับเปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/6) ที่ระดับ 1.0695/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีรายงานว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. ปรับตัวขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือนต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.6% บ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซาของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0699-1.0733 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0724/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/6) ที่ระดับ 139.91/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/6) ที่ 139.27/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นในเดือน เม.ย.ขยายตัว 76.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 1.9 ล้านล้านเยน

โดยยอดขาดดุลการค้าสินค้าหดตัว 83.5% สู่ระดับ 1.131 แสนล้านเยน ส่วนยอดนำเข้าลดลง 4.1% จากปีก่อนหน้าสู่ระดับ 8.34 ล้านล้านเยน หลังจากราคาน้ำมันดิบลดลง 22.6% สู่ระดับ 83.42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ยอดนำเข้าลดลงในรอบ 2 ปี 3 เดือน

ขณะที่ยอดส่งออกขยายตัว 2.6% แตะ 8.22 ล้านล้านเยน นำโดยการส่งออกรถยนต์และอุปกรณ์เกี่ยวกับสายตาที่เพิ่มขึ้น ส่วนรายได้ปฐมภูมิ (primary income) ซึ่งสะท้อนถึงรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศเกินดุลอยู่ที่ระดับ 3.07 ล้านล้านเยน ถือเป็นการเพิ่มขึ้น 3.1% โดยได้แรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในต่างประเทศ และเงินเยนที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และสกุลเงินอื่น ๆ

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 139.61-140.07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 139.76/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (8/6), ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตของจีน (9/06) และตัวเลขการจ้างงานและอัตราการว่างงานของแคนาดา (9/06)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.60/-10.45 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.80/-790 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ