แบงก์ลุยปล่อยกู้ธุรกิจรายใหญ่ หนุนขยายลงทุนต่างแดน-4ชาติเนื้อหอม

วุธว์ ธนิตติราภรณ์-ศรัณย์ ภู่พัฒน์
วุธว์ ธนิตติราภรณ์-ศรัณย์ ภู่พัฒน์

แบงก์ปักหมุดปล่อยกู้สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ หนุนขยายกิจการตลาดอาเซียน เผย 4 ประเทศเนื้อหอม “อินโดนีเซีย-เวียดนาม-กัมพูชา-สิงคโปร์” จากปัจจัย “จีดีพีโตสูง-ประชากรจำนวนมาก-ค่าแรงสมเหตุสมผล” ขณะที่ “ทีทีบี” คาดเม็ดเงิน TDI ปี’66 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน “ซีไอเอ็มบี ไทย” ตั้งเป้าโตสินเชื่อรายใหญ่ 11% ขณะที่ “กสิกรไทย” เจาะกลุ่มลงทุน “พลังงานทดแทน-อสังหาริมทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อม” ฟาก “กรุงศรี” ชูเครือข่าย 9 ประเทศเชื่อมการลงทุน

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2566 นี้ประเมินว่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (TDI) ของธุรกิจไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 4.5% ซึ่งตลาดอาเซียนมีสัดส่วนการลงทุนถึง 30% ขยายตัวสูงกว่าภูมิภาคอื่น

“ข้อมูล TDI จากข้อมูลศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเฉลี่ยปีละ 7.8 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่พอมีการระบาดของโควิด-19 การลงทุนปรับลดลง จนในปี 2565 อยู่ที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 2566 การลงทุนต่างประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอาเซียน”

ส่วนข้อมูลโครงการต่างชาติที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ก่อนโควิด-19 ระบาดในปี 2562 อยู่ที่ 4.5 แสนล้านบาท และลดลงเหลือ 1.7 แสนล้านบาทในปี 2563 จากนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.2 แสนล้านบาทในปี 2564 และอยู่ที่ 4.3 แสนล้านบาทในปี 2565

“ในแง่ประเทศที่เข้ามาลงทุน พบว่าหลัก ๆ ยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น และเริ่มเห็นการลงทุนจากนักลงทุนจีนมากขึ้นเป็นลำดับ โดยในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่อยู่ที่ 3% และรายได้จากค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 12% โดยเน้นเรื่องคุณภาพของสินเชื่อ ภายใต้เป้าหมายการลดต้นทุนด้านความเสี่ยงสินเชื่อ (risk cost) ลงให้ได้ที่ 0.9%” นายศรัณย์กล่าว

นายวุธว์ ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดบรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เห็นสัญญาณและแนวโน้มลูกค้าที่มีศักยภาพขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคมากขึ้น โดย 3 ประเทศปลายทางที่ได้รับความสนใจในการลงทุน

ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งปัจจัยมาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ขยายตัวอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยในปี 2565 เวียดนามเติบโต 8% อินโดนีเซียและกัมพูชา โตอยู่ที่ 5.3%

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยเรื่องจำนวนประชากร เช่น อินโดนีเซีย 275 ล้านคน สูงสุดในอาเซียน เวียดนามมีประชากรราว 100 ล้านคน และส่วนใหญ่อยู่ในวัยเด็กและวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีผลจากปัจจัยสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ทำให้ความต้องการการลงทุนเคลื่อนย้ายมาที่ภูมิภาคนี้มากขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารมีเป้าหมายชัดเจนที่จะพาลูกค้ารายใหญ่ไปเติบโตยังต่างประเทศต่อเนื่อง โดยในปี 2565 สินเชื่อธุรกิจลูกค้ารายใหญ่มีการเติบโตถึง 11% และในปี 2566 ตั้งเป้าเติบโตเพิ่มอีก 11%

“ที่ผ่านมาเราเห็นการขยายตลาดในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะปีที่แล้ว ธนาคารตามไปสนับสนุนลูกค้าในการไปเติบโตในกลุ่มประเทศอาเซียน ในการเข้าซื้อกิจการ หาผู้ร่วมทุน และการตั้งฐานการผลิต ทั้งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา” นายวุธว์กล่าว

นายทิพากร สายพัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การลงทุนของธุรกิจรายใหญ่ในปี 2566 เป็นไปอย่างระมัดระวัง หลังจากมีการทยอยการลงทุนต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับภาวะแวดล้อมในการลงทุนในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือระดับหนี้ที่สูงหลังวิกฤต และการเข้าสู่ธุรกิจยั่งยืน (ESG) ทำให้ธุรกิจต้องวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ เพราะมีทั้งโอกาสและความท้าทาย

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย ตั้งเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ในปีนี้อยู่ที่ 4-6% โดยมุ่งส่งเสริมการให้สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะโครงการพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Projects) โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Buildings) รวมถึงการให้สินเชื่อเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม

“ภูมิภาคที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ให้ความสนใจออกไปลงทุน ได้แก่ อาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซีย รวมถึงยุโรป และอยู่ในธุรกิจภาคบริการ เช่น โรงแรม ค้าปลีก บริการทางการเงิน ตามการฟื้นตัวของภาคการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวโลก หลังโควิด-19 คลี่คลาย”

นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า จากรายงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจ และมีมูลค่าลงทุนสูงสุด

เนื่องจากมีการรวมกลุ่มกัน และมีค่าแรงที่สมเหตุสมผล โดยประเทศที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งการลงทุนมีทุกรูปแบบ ทั้งการจัดตั้งโรงงาน เข้าซื้อกิจการ การหาคู่ค้า และการเปิดสำนักงานตัวแทน เป็นต้น

“ธนาคารมีเครือข่ายในอาเซียน 9 ประเทศ สามารถช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจของลูกค้าได้ โดยในปี 2566 ธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่อยู่ที่ 5% สอดคล้องกับการขยายตัวของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย รองรับการเติบโตของนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการอนุมัติ BOI สูงถึง 16% ของการลงทุนต่างประเทศทั้งหมด” นายประกอบกล่าว