บลจ.บัวหลวง แจงกรณีไม่ขายหุ้น STARK หมดพอร์ต ยันตัดขายไปบางส่วนหลังล้มดีล LEONI

กองทุนบัวหลวง

ซีอีโอ บลจ.บัวหลวง ร่อนจดหมายชี้แจงกรณีไม่ได้ขายหุ้น STARK เกลี้ยงพอร์ต ยันตัดขายหุ้นออกบางส่วนแล้วหลังล้มดีล LEONI แต่ยังขายออกไม่หมด ย้ำไม่มีเงินทอนหรือกระทำทุจริต

วันที่ 20 มิถุนายน 2566 นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ BBLAM ชี้แจงกรณีการทุนในหุ้น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK โดยบริษัทได้วิเคราะห์และเริ่มลงทุน STARK ให้กองทุนต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากมองเห็นโอกาสการเติบโตระยะยาวจากธุรกิจสายไฟฟ้าและสายเคเบิล ทั้งในประเทศและประเทศเวียดนาม ที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งผลประกอบการตามที่ปรากฏในงบการเงินของกิจการที่ผ่านการตรวจสอบ และรับรองจากผู้สอบบัญชี (Auditor) เป็นไปตามในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง STARK ประกาศเข้าซื้อกิจการ LEONI ในช่วงเดือน พ.ค. 2565 และออกหุ้นเพิ่มทุนเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด (PP) ซึ่งยิ่งทำให้ผู้จัดการกองทุนเห็นโอกาสการเติบโต จึงได้เข้าร่วมทุนในหุ้นของ STARK เช่นเดียวกับผู้ลงทุนสถาบันอีกหลายแห่ง

ทั้งนี้ เมื่อ STARK ยกเลิกดีลเข้าซื้อ LEONI กองทุนก็ได้ทยอยขายหุ้น STARK เพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากเริ่มไม่แน่ใจในปัจจัยพื้นฐานและติดตามข้อมูลของบริษัทอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งหุ้น STARK ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ระงับการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2566 เพราะไม่นำส่งงบการเงินประจำปี 2565

อย่างไรก็ตาม BBLAM ได้ติดตามเหตุการณ์มาโดยตลอด และได้ส่งทีมนักวิเคราะห์เข้าชมโรงงานในบริษัทย่อยของ STARK เพื่อประเมินความสามารถในการดำเนินกิจการของบริษัทด้วยความระมัดระวัง รวมถึงใช้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือต่าง ๆ ตามที่ปรากฏ เพื่อประมาณมูลค่ายุติธรรมของหุ้น STARK ขึ้นมาใหม่ และขายหุ้นออกบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงแต่จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า STARK ยังคงสามารถดำเนินกิจการได้ จึงไม่ได้ขายหุ้นออกไปทั้งหมด และรอการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินในวันที่ 16 มิ.ย. 66

โดย BBLAM ระบุอีกว่า กรณีที่ผลประกอบการ หรือราคาหุ้นของบางกิจการในพอร์ตไม่เป็นดังคาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในการลงทุนที่มิอาจลงทุนแล้วประสบผลสำเร็จได้ทุกกิจการ ซึ่ง BBLAM ขอยืนยันว่า การตัดสินใจซื้อขายหุ้นให้กองทุนต่าง ๆ นั้น ไม่ได้มีการรับเงินทอนหรือกระทำทุจริตผิดต่อจรรยาบรรณวิชาชีพแต่อประการใดทั้งสิ้น

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ทาง บลจ.ยังชี้แจงเรื่องกระบวนการลงทุนของบริษัท กรณีที่มีข่าวปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องการลงทุนของกองทุนรวมภายใต้การบริหารของ บลจ.บัวหลวง นั้นขอเรียนว่าบริษัทได้รับทราบถึงความกังวลต่าง ๆ ของผู้ลงทุนจึงขอชี้แจง 5 เรื่อง ได้แก่

1.มีกระบวนการลงทุนและการตัดสินใจลงทุนอย่างไร

ADVERTISMENT

บริษัทมีกระบวนการลงทุนที่เป็นไปตามหลักสากล มีคณะกรรมการจัดการกองทุน (Investment Committee หรือ IC) ดูแล ซึ่งประกอบด้วยทีมงานผู้จัดการกองทุน ทีมงานนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ทีมเศรษฐกิจที่มีประสบการณ์ และมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ทั้งหลักทรัพย์ไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้ (C ยึดมั่นที่จะแสวงหาผลตอบแทนในระยะยาวด้วยกระบวนการพิจารณาที่เป็นมาตรฐานและเป็นไปตามหลักวิชาชีพ)

โดยมีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสมในการพิจารณาว่าหลักทรัพย์ใดสามารถลงทุนได้นั้น C ใช้กระบวนการกลั่นกรองคัดเลือกหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโตและให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างสมเหตุสมผล โดยเริ่มจากเนหาธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันและอนาคต (Identified Themes) เช่น สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

จากนั้นจะพิจารณาหากิจการที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน (Durable Competitive Advantages) จากความสามารถในการแข่งข้นในตลาด สถานะการเงิน สินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการรวมถึงการให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ของกิจการเมื่อได้รายชื่อของกิจการที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืนแล้ว จึงจะดูลึกถึงโอกาสของการเติบโต (Growth Factors) จากแนวโน้มของกิจการ ความสามารถในการทำกำไร กระแสเงินสด และความยั่งยืนของกิจการ

โดยประเมินความเหมาะสมในด้านมูลค่า (Valuation) จากงบการเงิน อัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ จากแหล่งข้อมูลที่ผ่านการรับรอง น่าเชื่อถือ อย่างงบการเงินที่รับรองโดยผู้สอบบัญชีบทวิเคราะห์ต่าง ๆ รวมถึงการเข้าไปเยี่ยมชมกิจการ (Company Visit) แล้วจึงจะนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์เองภายในบริษัท เพื่อกลั่นกรองว่าหลักทรัพย์ใดมีคุณภาพเพียงพอต่อการพิจารณาลงทุนรายชื่อหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองเป็นลำดับแล้วนั้น

เมื่อ IC พิจรณาอนุมัติแล้วจะเข้าไปอยู่ใน Investment Universe ซึ่งเป็นกลุ่มหลักรัพย์ที่ให้ผู้จัดการกองทุนเลือกลงทุนได้ตามความเหมาะสมกับนโยบายของแต่ละกองทุน หากเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ได้อยู่ใน Investment Universe ผู้จัดการกองทุนจะลงทุนมิได้

2.การลงทุนในกิจการใหม่ ๆ มีความเสี่ยงเกินไปหรือไม่

การแสวงหาโอกาสจากการเติบโตระยะยาวตามเมกะเทรนด์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นสิ่งจำเป็นในการสรรหากิจการที่น่าลงทุนให้กองทุน สำหรับประเทศไทยนั้นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าในเรื่องเทคโนโลยี พลังงานสะอาด ด้านโครงสร้างประชากร และพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ คือเมกะเทรนด์ที่โดดเด่น มีกิจการใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นมากมาย การลงทุนในกิจการต่าง ๆ เหล่านี้คือโอกาส หากการเติบโตเป็นไปตามคาดการณ์ผู้จัดการกองทุนทราบดีว่าการลงทุนในกิจการใหม่ ๆ เหล่านี้มีความท้าทาย

รวมถึงผลประกอบการมีความผันผวนสูงโดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงได้เร็วและส่งผลต่อกำไรขาดทุนและโอกาสของกิจการได้ง่าย จนทำให้หุ้นบางตัวมีผลประกอบการไม่เป็นดังคาดและมีราคาลดลง เมื่อไม่เป็นไปตามคาด ผู้จัดการกองทุนก็อาจจะปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมตามมุมมองที่มีต่อกิจการนั้น ๆและนโยบายของกองทุนนั้น ๆ ได้

อย่างไรก็ดี หากผู้จัดการกองทุนมองว่าสั่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องระยะสั้นชั่วคราวก็สามารถรอคอยการเติบโตของผลกำไรในอนาคต แม้ผลประกอบการปัจจุบันที่ปรากฏตามงบการเงินจะยังไม่สะท้อนมูลค่าที่คาดหวัง ก็สามารถถือต่อหรือแม้แต่จะลงทุนเพิ่มก็ได้

ทั้งนี้ ข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนของการซื้อขายเท่านั้น บริษัทขอเรียนว่าหลายกิจการมีการลงทุนให้กองทุนมายาวนาน มีการทยอยสะสม ซื้อขายทำกำไร มีการปรับสัดส่วนการลงทุนเรื่อยมา และได้สร้างผลกำไรให้กับกองทุนในด้านราคารวมถึงได้รับเงินปันผลมาอย่างต่อเนื่อง การจะดูภาพรวมของการลงทุนในกิจการต่าง ๆ ต้องดูผลลัพธ์ว่าตลอดระยะเวลาที่ลงทุนได้กำไรขาดทุนเพียงใด ไม่ใช่เลือกดูเป็นบางธุรกรรมการซื้อขาย

3.เหตุใดจึงลงทนปริมาณสูงในห้นบางตัวจนบางกองทุนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของหุ้นนั้น ๆ

บริษัทมีทรัพย์สินภายใต้การบริหารเฉพาะกองทุนหุ้น (ทั้งกองทุนเปิดทั่วไปและกองทุนลดหย่อนภาษี ณ ปัจจุบัน แต่ไม่นับกองทุนประเภท FIF) รวมกันประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งหลายกองทุนมีขนาดใหญ่ ทำให้การลงทุนในหุ้นแต่ละตัวอาจจำเป็นต้องลงทุนในปริมาณที่ส่งผลต่อความคุ้มค่าในการบริหารพอร์ตโดยรวมของกองทุน

ซึ่งทำให้ปรากฏรายชื่อกองทุนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของกิจการนั้น ๆ แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนของหุ้นที่ลงทุนในแต่ละกองทุนจะพบว่าสัดส่วนหุ้นแต่ละตัวในกองทุนไม่สูงเกินไป เนื่องจากแต่ละกองทุนได้มีการกระจายการลงทุนไปในหุ้นหลาย ๆ ตัวเพื่อลดความเสี่ยง ทั้งนี้ กองทุนที่มีขนาดใหญ่ในปัจจุบันมีการลงทุนในหุ้นประมาณ 50-70 ตัว

4.ทำไมต้องซื้อหุ้นบางตัวเข้ากองทุนแบบ Big Lot

Big Lot คือการซื้อขายหลักทรัพย์ในกระดานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดไว้สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ เช่น นักลงทุนสถาบัน หรือเจ้าของกิจการ เป็นต้น การซื้อ Big Lot จะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนรายใหญ่อย่างกองทุนรวมที่ต้องลงทุนในจำนวนหุ้นที่มาก เพื่อให้ได้ปริมาณหุ้นมากพอที่จะคุ้มค่าต่อการลงทุนในกองทุนที่มีขนาดใหญ่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมักไม่ได้มีปริมาณการซื้อขายต่อวันมากเหมือนหุ้นขนาดใหญ่ และหากจะไปไล่ซื้อในตลาดก็จะเป็นการไล่ราคาให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (หมายรวมถึงราคาที่ลดลงอย่างรวดเร็วกรณีขายหุ้นด้วย ซึ่งอาจถูกพิจารณาได้ว่ามีการไล่ซื้อเพื่อดันราคาหุ้น หรือไล่ทุบหุ้นให้ราคาต่ำลงหากเป็นกรณีขายหุ้น)

5.การลงทุนในหุ้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK)

บริษัทได้ทำการวิเคราะห์และเริ่มลงทุนหุ้น STARK ให้กองทุนต่าง ๆ มาตั้งแต่ 2563 โดยมองเห็นโอกาสการเติบโตในระยะยาวจากธุรกิจสายไฟฟ้าและสายเคเบิล ทั้งในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผลประกอบการตามที่ปรากฏในงบการเงินของกิจการที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจาก Auditor ก็เป็นไปในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่ง STARK ได้ประกาศดีลเข้าซื้อ LEONI ในช่วงเดือน พ.ค. 2565 และออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งยิ่งทำให้ผู้จัดการกองทุนเห็นโอกาสของการเติบโตจึงได้เข้าร่วมลงทุนในหุ้นของ STARK เช่นเดียวกับผู้ลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกหลายแห่ง

เมื่อ STARK ประกาศยกเลิกดีลการซื้อกิจการ LEONI กองทุนก็ได้ทยอยขายหุ้น STARK เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน เนื่องจากริ่มเห็นสัญญาณที่แย่ลงของปัจจัยพื้นฐานตามข้อมูลที่ปรากฏ และติดตามข้อมูลของบริษัทอย่างใกล้ชิด จนกระทั่ง

หุ้น STARK ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ระงับการซื้อขายไปตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2566 เนื่องจากไม่สามารถนำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ได้ (ตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดให้มีการซื้อขายอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566) บริษัทได้ติดตามเหตุการณ์ของหุ้น STARK มาโดยตลอด และได้ส่งทีมนักวิเคราะห์เข้าชมโรงงาน Phelps Dodge ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK เพื่อประเมินความสามารถในการดำเนินกิจการของบริษัทด้วยความระมัดระวัง รวมถึงใช้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือต่าง ๆ ตามที่ปรากฏ เพื่อประมาณมูลค่ายุติธรรมของหุ้น STARK ขึ้นมาใหม่ และขายหุ้นออกบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยง

โดยประเมินเบื้องต้นว่าบริษัทยังคงสามารถดำเนินกิจการได้ จึงไม่ได้ขายหุ้นออกไปทั้งหมด และรอการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ผ่านการรับรองโดยผู้สอบบัญชี ในวันที่ 16 มิ.ย. 2566 เพื่อใช้ประเมินการลงทุนในหุ้น STARK ต่อไป

บริษัทขอเรียนว่าเป้าหมายของกองทุนรวมคือมุ่งหวังผลตอบแทนจากพอร์ตโดยรวมที่มีการลงทุนกระจายในกิจการต่าง ๆ ที่เรามองเห็นโอกาส พยายามเฟ้นหากิจการที่มีโอกาสเติบโต สร้างผลกำไรที่ยั่งยืนในอนาคต และกระจายการลงทุนไปในหลาย ๆ หลักทรัพย์ เพื่อลดความเสี่ยงกับลดผลกระทบในกรณีที่ผลประกอบการหรือราคาหุ้นของบางกิจการในพอร์ตไม่เป็นดังคาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในการลงทุนที่มิอาจลงทุนแล้วประสบผลสำเร็จได้ในทุกกิจการ

สุดท้ายนี้ ขอเรียนยืนยันกับผู้ลงทุนว่าบริษัทยังคงยึดมั่นกับแนวทางการลงทุนที่ถือปฏิบัติมาต่อเนื่องยาวนานเป็นระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่จัดตั้งบริษัท โดยยึดมั่นในผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ และขอย้ำว่า “การตัดสินใจซื้อขายหุ้นให้กองทุนต่าง ๆ นั้น มิได้มีการรับเงินทอนหรือกระทำทุจริตผิดต่อจรรยาบรรณวิชาชีพแต่ประการใดทั้งสิ้น”