เลขาธิการ สศช.ชี้เศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ ฉุดส่งออกหดตัว ระบุเป็นโจทย์ที่ต้องเร่งผลักดันแก้ไข ส่วนภาคในประเทศไม่น่าห่วง หวังเปลี่ยนผ่านรัฐบาลราบรื่น งบฯล่าช้าไม่เกิน มี.ค. 67 หวังทุกฝ่ายร่วมมือกันหนุนประเทศ Take off
วันที่ 21 มิถุนายน 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนา “Thailand : Takeoff
ฉากทัศน์ใหม่ประเทศไทย” จัดโดย “มติชน” ว่า ประเทศไทยจะ Takeoff ได้ ทุกคนคงต้องช่วยกัน ไม่อย่างนั้นจะ Takeoff ได้ลำบาก
โดยเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ ที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งกระทบการส่งออกของไทย 4 เดือนแรกที่ผ่านมา ส่งออกหดตัวแล้ว 4.6%
“เรื่องการส่งออกต้องเร่งเครื่อง ทั้งการขยายตลาด และกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ต้องเร่งเจรจา เพื่อช่วยขยายตลาด”
อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่น่าห่วง เนื่องจากภาคเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จากปัจจัยขับเคลื่อนด้านการบริโภค และภาคการท่องเที่ยวที่ปีนี้นักท่องเที่ยวน่าจะเข้ามาตามเป้า 28 ล้านคน
แต่ทั้งนี้ ต้องระวังปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูงที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจ
นายดนุชากล่าวด้วยว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลนี้ หากเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีความรุนแรง จะทำให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่น
ขณะที่คาดว่าการจัดทำงบประมาณปี 2567 จะแล้วเสร็จได้ในต้นปี 2567 น่าจะออกมาใช้ได้ภายในเดือน มี.ค. 2567 อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้น่าจะมีเม็ดเงินภาครัฐเข้าสู่ระบบได้ราว 1 ล้านล้านบาท จากงบฯ ปี 2566 ที่ใช้ไปพลาง และงบฯ ลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ส่วนไตรมาสแรกปีหน้าจะมีอีก 7-8 แสนล้านบาท
“รวม ๆ แล้ว 2 ไตรมาสจะมีเงินจากภาครัฐอัดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ 1.8-1.9 ล้านบาท ก็น่าจะเพียงพอพยุงเศรษฐกิจไปได้ และหลังจากงบประมาณปี 2567 บังคับใช้แล้วก็ต้องมาเร่งเบิกจ่ายใน 2 ไตรมาสที่เหลือ”