ธุรกิจเจ้าสัวธนินท์-เจ้าสัวเจริญ เข้าคิวระดมทุนเสนอขายหุ้นกู้ เพื่อชำระหนี้แบงก์-ลงทุนโปรเจ็กต์ใหม่ จับตา “ซีพี แอ็กซ์ตร้า” ยักษ์ค้าส่งตั้งวงเงินออกหุ้นกู้ปี 2566 กว่า 7 หมื่นล้านบาท TRUE เดินหน้าระดมทุนก้อนใหม่หลังปิดดีลควบรวมเรียบร้อย MQDC ธุรกิจอสังหาฯลูกสาวเจ้าสัวระดมทุนหมื่นล้าน ชูจ่ายดอกเบี้ยสูงสุด 7.10% ต่อปี ลุยใช้ลงทุน 7 โปรเจ็กต์ ฟากตระกูลสิริวัฒนภักดี “ไทยเบฟ-เฟรเซอร์” เพิ่งปิดจ็อบขายหุ้นกู้เกือบ 2 หมื่นล้าน “กรุงไทย” ชี้บริษัทใหญ่เครดิตเรตติ้งดีขายหุ้นกู้ไม่สะดุด จับตาสัญญาณหุ้นกู้กลุ่ม BBB หดตัว เจอต้นทุนดอกเบี้ยสูง-ขายไม่ออก “เอสซีบี อบาคัส” เผยภาวะตลาดไม่เอื้อ ชะลอแผนขายหุ้นกู้ 1.3 พันล้าน
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กลุ่มธุรกิจของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ และเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ยังมีแผนระดมทุนอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าในไตรมาส 3/2566 ธุรกิจเจ้าสัวเข้าคิวเสนอขายหุ้นกู้หลายหมื่นล้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปชำระหนี้สถาบันการเงิน หรือหุ้นกู้ที่ครบกำหนด รวมถึงเพื่อลงทุนโปรเจ็กต์ใหม่
โดยในกลุ่มเจ้าสัวธนินท์ ทางบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็มีแผนเสนอขายหุ้นกู้ครั้งแรกหลังจากที่มีการควบรวมกิจการกับดีแทคเรียบร้อย ซึ่งทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ขยับขึ้นมาเป็น A+ (ปลายปี 2565 อันดับเครดิต BBB+) โดยมูลค่าเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้รวมไม่เกิน 25,000 ล้านบาท
โดยจะเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป ระหว่าง 20-24 ก.ค. 66 จำนวน 4 รุ่น คือ รุ่นอายุ 2 ปี ดอกเบี้ย 3.35% ต่อปี, อายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 3.6% ต่อปี, อายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 4.10% ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 4.50% ต่อปี เป้าหมายของการระดมทุนครั้งนี้ก็เพื่อชำระคือหนี้หุ้นกู้เดิม 19,599.3 ล้านบาท และส่วนเหลือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
CPAXT วงเงินหุ้นกู้ 7 หมื่นล้าน
ทางด้าน บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CPAXT) ผู้ดำเนินธุรกิจค้าส่งภายใต้ชื่อ “แม็คโคร” และธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ “โลตัส” ของเครือ ซี.พี. มีแผนเสนอขายหุ้นกู้ไม่มีประกัน 2 รุ่น ต่อประชาชนเป็นการทั่วไป ซื้อขั้นต่ำที่ 1 แสนบาท ระหว่างวันที่ 8-12 ก.ย. 2566
โดยหุ้นกู้ ซีพี แอ็กซ์ตร้า ได้รับการจัดอันดับเครดิต A+ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ประกาศวงเงินเสนอขาย และอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้จะเป็นการออกหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2566 อยู่ภายใต้โครงการหุ้นกู้ CPAXT ปี 2566 วงเงินรวม 70,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
นอกจากนี้ ในส่วนของกลุ่ม ซี.พี. ก่อนหน้านี้มีทางบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีก แบรนด์ “โลตัส” (Lotusัs) และบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด (มหาชน) เสนอขายหุ้นกู้ไปเมื่อเดือน เม.ย. และเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
“แม็คโคร” รุกเปิดสาขา
ทั้งนี้ CPAXT ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อต้นปี 2566 ว่า ปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตทั้งในรูปแบบการขายภายในสาขาและออนไลน์ โดยมีแผนจะขยายสาขาทั้งหมด 173 สาขา คือ กลุ่มธุรกิจค้าส่ง มีแผนขยายสาขาในประเทศ 12 สาขา และต่างประเทศอีก 6 สาขา รวมเป็น 18 สาขา
กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ภายใต้ชื่อ Lotusัs มีแผนขยายสาขาในประเทศ และต่างประเทศ ประกอบด้วย ศูนย์จำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่ 5 สาขา ขนาดกลางและขนาดเล็กมากกว่า 150 สาขา รวมเป็น 155 สาขา นอกเหนือจากนั้น บริษัทมีแผนขยายพื้นที่เช่าในสาขาเดิมอีก 19 สาขา โดยปัจจุบัน แม็คโคร ประเทศไทย มีสาขาทั้งหมด 152 สาขา และโลตัส 2,587 สาขา
MQDC ระดมทุน 7 โปรเจ็กต์
ขณะที่บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ จำกัด (MQDC) ซึ่งเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของนางทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ ลูกสาวคนสุดท้องของเจ้าสัวธนินท์ ซึ่งตามแผนจะขายหุ้นกู้มีประกัน 2 รุ่น ต่อนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ วงเงินเสนอขายรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ประกอบด้วย รุ่นอายุ 2 ปี 2 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 6.75% ต่อปี และรุ่นอายุ 2 ปี 11 เดือน 29 วัน จ่ายดอกเบี้ย 7.10% ต่อปี เปิดจองซื้อวันที่ 20-21, 24 ก.ค. 2566
โดยเป็นหุ้นกู้ไม่มีการจัดอันดับเครดิต แต่มีหนังสือค้ำประกันโดยบริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้ทั้งหมดรวมไม่เกิน 12,130 ล้านบาท ซึ่งตามแผนจะนำเงินที่ได้ 1.ใช้ชำระคืนหนี้หุ้นกู้ 5,259.20 ล้านบาท 2.ใช้ลงทุนโครงการ Cloud 11 จำนวน 3,040.8 ล้านบาท 3.ใช้ลงทุนในโครงการ Pattaya จำนวน 500 ล้านบาท
4.ใช้ลงทุนโปรเจ็กต์ Digital Solution Project จำนวน 500 ล้านบาท 5.ใช้ชำระค่าที่ดินและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการใหม่จำนวน 200 ล้านบาท 6.ใช้ลงทุนโครงการ Mulberry Grove Sukhumvit จำนวน 200 ล้านบาท 7.ใช้ลงทุนโครงการ Campus จำนวน 200 ล้านบาท และ 8.ใช้ลงทุนโครงการ Whizdom จำนวน 100 ล้านบาท
ไทยเบฟ ปิดจ็อบ 1.5 หมื่นล้าน
สำหรับธุรกิจในเครือเจ้าสัวเจริญ พบว่า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่งปิดการขายหุ้นกู้ 3 รุ่น วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อ18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประกอบด้วย อายุหุ้นกู้ 3 ปี, 4 ปี และ 10 ปี จ่ายดอกเบี้ย 3.10-3.87% ต่อปี โดยแจ้งว่าจะนำเงินไปชำระหนี้เดิมที่ถึงกำหนดภายในเดือน ก.ย. 2566
นอกจากนี้ในส่วนของ บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) (FPT) อีกหนึ่งกิจการของตระกูลสิริวัฒนภักดี ก็ได้ขายหุ้นกู้จบไปเมื่อ 4-6 ก.ค. 2566 จำนวน 1 รุ่น อายุ 4 ปี จ่ายดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี มูลค่า 1,400 ล้านบาท
ธุรกิจขายหุ้นกู้จ่ายหนี้แบงก์
นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมประมาณการยอดออกหุ้นกู้ใหม่ในปี 2566 จะไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 18 ก.ค. 2566 มียอดออกหุ้นกู้ใหม่รวมแล้วกว่า 628,864 ล้านบาท (เฉพาะขึ้นทะเบียนกับสมาคม) และในครึ่งปีหลังจะมีหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน 330,534 ล้านบาท โดยสัดส่วนกว่า 90% ของหุ้นกู้ครบกำหนดอยู่ในกลุ่มระดับลงทุน (invesment grade)
ทั้งนี้ ตามแผนของ CPAXT ที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ มีแผนจะออกหุ้นกู้ใหม่ในช่วงเดือน ก.ย. และจะเรียกคืนหุ้นกู้รุ่นเดิม โดยมีมูลค่าคงค้าง 13,710 ล้านบาท ซึ่งมี 12 รุ่น และจะครบอายุไถ่ถอนในปีนี้ทั้งหมด และคาดว่าทาง CPAXT จะออกหุ้นกู้ตัวยาว ๆ มากขึ้น มาทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตัวสั้น ๆ
นอกจากนี้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) จะมีหุ้นกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดปีนี้อีก 6 รุ่น มูลค่า 22,000 ล้านบาท และมีหุ้นกู้ระยะสั้นครบกำหนดอีก 2 รุ่น มูลค่าอีก 6,000 ล้านบาท ส่วนทาง บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) มีครบกำหนดปีนี้ 1 รุ่น มูลค่า 700 ล้านบาท
นางสาวศิรินารถกล่าวว่า สำหรับการระดมทุนของบริษัทใหญ่โดยหลักแล้วจะไปใช้ช่องทางระดมทุนจากการขอสินเชื่อแบงก์ก่อน เพราะมีความรวดเร็ว แต่จะฟิกซ์อยู่แค่ระยะหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นจะหาจังหวะ ค่อยกลับมารีไฟแนนซ์ในตลาดหุ้นกู้เพื่อฟิกซ์ดอกเบี้ยคงที่ และนำเงินไปชำระคืนหนี้แบงก์ หรือลงทุนขยายกิจการ-ซื้อกิจการเพิ่มเติม
“ตอนนี้การระดมทุนขายหุ้นกู้ในตลาดของบริษัทขนาดใหญ่ ถือว่ายังไม่มีปัญหาอะไร ถึงแม้ว่าตอนนี้อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (coupon) ของหุ้นกู้จะปรับตัวสูงขึ้นทุกเรตติ้ง แต่บริษัทเหล่านี้จะได้ดีลอัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่าบริษัทอื่น ๆ”
หุ้นกู้กลุ่ม BBB หดตัว
นายสงวน จุงสกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment and Market Research สายงานตลาดเงิน ตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มธุรกิจเครือ ซี.พี. หรือเครือไทยเบฟ ถือว่ายังระดมทุนออกขายหุ้นกู้ได้ไม่มีปัญหา เพราะไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายย่อยยังให้การยอมรับอยู่
“กลยุทธ์การบริหารเงินทุนของบริษัทขนาดใหญ่ จะไม่พึ่งพาแหล่งทุนใดแหล่งทุนหนึ่ง คือไม่ใช่ว่าอะไรถูกกว่าวิ่งไปหาตรงนั้นทั้งหมด ซึ่งจะอันตรายเกินไป จึงเป็นการผสมผสานระหว่างกู้แบงก์และออกหุ้นกู้”
สำหรับหุ้นกู้กลุ่ม investment grade ถือว่ายังออกขายได้ตามปกติ ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงทั้ง high yield หรือ nonrated กำลังติดตามผลอยู่ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีบริษัทไหนบ้างที่ออกไม่ได้และเลื่อนแผนระดมทุน
แต่ที่จะบอกได้คือมูลค่าคงค้างของหุ้นกู้ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หมายถึงมีการเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มขึ้นตลอด โดยข้อมูลถึง 17 ก.ค. 2566 มูลค่าหุ้นกู้คงค้างอยู่ที่ 4.25 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นนิวไฮ แต่ถ้าแยกเป็นยอดคงค้างจากหุ้นกู้ high yield มีจำนวน 1.8 แสนล้านบาท พบว่า “ทรงตัว” เมื่อเทียบจากสิ้นปี 2565 แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มเรตติ้ง BBB+, BBB, BBB- มียอดคงค้างหดตัวเหลือ 6 แสนล้านบาท เมื่อเทียบจากสิ้นปี 2565 ที่มีมูลค่ากว่า 9 แสนล้านบาท
“ตีความได้ว่า กลุ่ม BBB ยังออกขายได้อยู่ เพียงแต่ต้องยอมจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น ดังนั้น จึงมีการหันไปหาแหล่งระดมทุนอื่นแทนบ้าง หรือบางทีก็อาจจะขายไม่หมด ทำให้ยอดคงค้างลดลงเหลือ 6 แสนล้านบาท ซึ่งข้อสันนิษฐานในกรณีนี้เป็นเพราะเสน่ห์กลุ่ม BBB จะต่ำกว่ากลุ่ม high yield เพราะจ่ายดอกเบี้ยแค่ 4% แต่กลุ่ม high yield จ่ายถึง 6-7% ดังนั้นสาเหตุที่กลุ่ม high yield ยังออกได้อยู่ เพราะดอกเบี้ยยังจูงใจ เพราะจ่ายแพง” นายสงวนกล่าว
“อบาคัส” ชะลอแผนขายหุ้นกู้
ด้าน ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อบาคัส ดิจิทัล (เอสซีบี อบาคัส) ในกลุ่ม SCBX กล่าวว่า บริษัทได้ชะลอแผนการเสนอขายหุ้นกู้ ที่มีแผนจะนำเงินไปใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนการขยายธุรกิจให้สินเชื่อวงเงิน 1,300 ล้านบาท ออกไปก่อน จากเดิมที่กำหนดจะเสนอขายเมื่อวันที่ 13-15 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะตลาดไม่เอื้อ จากเคสที่มีบริษัทแห่งหนึ่งที่มีปัญหา จนกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาด อย่างไรก็ดี บริษัทสามารถหาแหล่งทุนอื่นแทนการออกหุ้นกู้ได้
“ระหว่างที่เราจะออกขายหุ้นกู้ ก็มีเหตุการณ์หลายอย่าง จึงชะลอไว้ก่อน และหาแหล่งเงินทุนอื่นมาแทน แต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณถึงความกังวล ทั้งตลาดหุ้นกู้และตลาดเงิน”