ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง ทำกำไรครึ่งปี’66 รวมกันกว่า 1.2 แสนล้านบาท เฉพาะไตรมาส 2 โกยรวมกัน 61,521 ล้านบาท โต 17.4% ขณะเดียวกันตั้งสำรองเพิ่ม 13% รวมกัน 56,598 ล้าน รองรับความไม่แน่นอน
วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารพาณิชย์ได้แจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2566 และงวดครึ่งปีแรก ปี 2566 กันออกมาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ทำกำไรได้ดี อย่างไรก็ตาม หลายแบงก์มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่ค่อนข้างสูง แม้ว่าตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้นมากก็ตาม
ทั้งนี้ ในภาพรวม 10 แบงก์ มีกำไรสุทธิรวมกันในไตรมาส 2/2566 ที่ 61,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 17.4% ขณะที่งวดครึ่งปี 2566 ทำกำไรรวมกันกว่า 1.2 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่ม 56,598 ล้านบาทในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้น 13.12% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานสำหรับงวดแรกปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 21,735 ล้านบาท ลดลง 1.22% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารยังคงดำเนินการตามหลักความระมัดระวังอย่างสม่ำเสมอในการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ตามแนวทางที่ธนาคารมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
วมถึงการจัดการลูกค้าธุรกิจรายใหญ่รายหนึ่งที่เริ่มมีสัญญาณความเสื่อมถอยในไตรมาสก่อน และได้มีสำรองฯ ครบถ้วนแล้วในไตรมาส 1 ปี 2566 โดยแม้สินเชื่อดังกล่าวถูกจัดเป็นสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตในไตรมาส 2 ธนาคารก็ยังคงมีความแข็งแกร่งจากการเตรียมการมาก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม สำรองฯ ในไตรมาส 2 นี้ แม้ว่ายังคงอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 32.77% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แต่มีความใกล้เคียงกับที่ธนาคารได้ประมาณการไว้ก่อนหน้า เพื่อรองรับสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ยังส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศยังไม่กระจายตัวทั่วถึง และส่งผลต่อลูกค้าบางกลุ่มที่ยังมีความเปราะบาง
โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 54,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ร่วมกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 12.25% สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและการเติบโตของสินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.54% แม้ว่าจะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอัตราปกติในอัตรา 0.46%
นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 25.64% หลัก ๆ จากมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 14.61% สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มตามปริมาณธุรกิจ รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.94% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2 ปี 2566 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 2.36% สำหรับกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 27,223 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน
โดยรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นหลัก ๆ จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโตขึ้น ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้บริการลูกค้า ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ 43.37% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.50%
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,268,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 จำนวน 21,731 ล้านบาท หรือ 0.51% หลัก ๆ เกิดจากรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ และเงินลงทุนสุทธิที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่เงินให้สินเชื่อสุทธิลดลง หลัก ๆ จากการดำเนินการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การขายหนี้ การตัดหนี้สูญ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เงินให้สินเชื่อใหม่ยังคงเติบโตในกลุ่มลูกค้าตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.20% และค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ระดับ 147.31% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 19.01% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 17.04%
บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX
บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ของปี 2566 จำนวน 11,868 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของฐานรายได้อย่างแข็งแกร่งและการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 22,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในไตรมาส 2 ของปี 2566 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 30,791 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพ ตลอดจนการขยายตัวของธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภค รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ มีจำนวน 11,119 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ซึ่งสะท้อนถึงการเริ่มฟื้นตัวของค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมทางการเงินและสินเชื่อ ในขณะที่รายได้จากการลงทุนและการค้ามีจำนวน 2,406 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการปรับมูลค่าของพอร์ตการลงทุนตามราคาตลาดปัจจุบัน
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 17,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่รายได้รวมขยายตัว 14.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 38.4% ในไตรมาส 2 ของปี 2566 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน
บริษัทได้ตั้งเงินสำรองในเชิงรุกจำนวน 12,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพื่อรองรับการดำเนินงานของธุรกิจในกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มสินเชื่อผู้บริโภคที่ไม่มีหลักประกัน ภายใต้สถานการณ์ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงเปราะบาง มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ
ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 170.6% ขณะที่คุณภาพของสินเชื่อโดยรวม ยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 3.25% ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 3.32% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 และเงินกองทุนรวมตามกฎหมายของบริษัทยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.7%
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานโดยรวมในไตรมาสสองของปี 2566 มีความแข็งแกร่ง โดยมี ROE เพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 10% เป็นครั้งแรกนับจากวิกฤตโควิด บริษัทยังคงดำเนินธุรกิจตามหลักความระมัดระวังรอบคอบภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน และมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกัน กลุ่ม SCBX ยังคงมุ่งมั่นในการวางรากฐานในการเติบโตในระยะต่อไป โดยล่าสุดได้ประกาศความร่วมมือกับ KakaoBank ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลในประเทศเกาหลีใต้ เพื่อร่วมขอใบอนุญาตธนาคารไร้สาขาในประเทศไทย และแพลตฟอร์มโรบินฮู้ดได้เปิดตัวธุรกิจบริการเรียกรถ (Ride Hailing)
นอกจากนี้ ความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งแรก มูลค่ารวม 50,000 ล้านบาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม SCBX
ธนาคารกรุงเทพ (BBL)
ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับงวดแรกปี 2566 จำนวน 21,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.2 จากงวดแรกปี 2565 โดยส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.0 สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนเงินรับฝากและการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าสู่ระดับเดิมตั้งแต่ต้นปี 2566 ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.88 รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิอยู่ในระดับใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งจากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ในระดับที่ลดลงเป็นร้อยละ 47.1
ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารมีการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง จึงมีการตั้งสำรองในไตรมาส 2 ปี 2566 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ทำให้สำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในงวดแรกปี 2566 มีจำนวน 17,354 ล้านบาท
ธนาคารกรุงเทพยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,698,304 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากสิ้นปีก่อน ส่วนใหญ่จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อลูกค้ากิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้อยู่ที่ร้อยละ 2.9
ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 287.1 ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 จำนวน 3,200,155 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 84.3
ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 19.1 ร้อยละ 15.7 และร้อยละ 14.9 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ธนาคารกรุงไทย (KTB)
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 เติบโตดีกว่าที่คาด ทำให้ทั้งปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสแตะระดับ 29-30 ล้านคน ทยอยขยายวงพื้นที่การกระจายตัว สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ส่งผลดีต่อการจ้างงาน รายได้ครัวเรือน และอุปสงค์ภายในประเทศให้สามารถประคับประคองการฟื้นตัวได้ในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ยังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบายเพื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งการทยอยลดบทบาทมาตรการภาครัฐ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ในขณะที่ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกดดันภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ธนาคารกรุงไทย จึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง และบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาระดับของ Coverage Ratio ในระดับสูง รองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารมีความห่วงใยและตระหนักถึงผลกระทบจากภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น พร้อมยืนหยัดดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มในการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่อ่อนไหวกับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ให้สามารถประคับประคองตัวในการดำรงชีพได้
สำหรับผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 20,223 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 43,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 จากในช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เพื่อสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องร้อยละ 20.0
ทั้งจากการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนโดยรวมปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการขยายตัวของรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ธนาคารให้ความสำคัญการกับการขยายการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออนาคตเพื่อรองรับการให้บริการแก่ลูกค้า ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 39.0 ลดลงจากร้อยละ 41.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลตามฤดูกาล ที่ Cost to Income Ratio ในช่วงที่เหลือของปีจะสูงขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ
ขณะที่ผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 2 ปี 2566 เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 10,156 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5 จากในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.0 จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เพื่อสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องร้อยละ 21.2 ทั้งจากการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนโดยรวมปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตัวของรายได้จากการดำเนินงานอื่น ๆ ธนาคารให้ความสำคัญการกับการขยายการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออนาคตเพื่อรองรับการให้บริการแก่ลูกค้า
ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 39.3 ลดลง จากร้อยละ 42.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลตามฤดูกาล ที่ Cost to Income Ratio ในช่วงที่เหลือของปีจะสูงขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ถึงแม้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.8 โดยพิจารณาถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน และยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 177.4 พร้อมทั้งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio) ร้อยละ 3.11 ลดลงจากสิ้นปี 2565
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2566 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งนี้ รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น โดยมี Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 39.3 ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาโดยหลักความระมัดระวังจึงยังคง Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 177.4 ตามกรอบที่ได้วางไว้ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจแม้จะตั้งสำรองลดลง
ณ 30 มิถุนายน 2566 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 16.86 และมีเงินกองทุนทั้งสิ้นร้อยละ 20.06 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของ ธปท. รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และบริษัทในเครือรายงานผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 17.10 พันล้านบาท เติบโต 12.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักคือรายได้จากการดำเนินงาน จากการเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งการเริ่มรับรู้รายได้เพิ่มเติมซึ่งเป็นผลจากการควบรวมธุรกิจในต่างประเทศในไตรมาสที่สอง
ผลประกอบการที่แข็งแกร่งได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้น รวมถึงภาระการตั้งสำรอง เงินให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 3.1% จากสิ้นปี 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ 9.1% และสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่ 4.5% ซึ่งครอบคลุมบริษัทในเครือแห่งใหม่ในประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนาม
โดยกรุงศรีมีกำไรสุทธิ จำนวน 17,102 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 12.1% หรือจำนวน 1,849 ล้านบาท จากครึ่งแรกของปี 2565 โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักมาจากรายได้จากการดำเนินงานในประเทศและรายได้เพิ่มเติมซึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์การควบรวมธุรกิจในต่างประเทศ
เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 3.1% หรือจำนวน 60,689 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2565 สะท้อนการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และการควบรวมพอร์ตธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยในประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนาม
• เงินรับฝาก ลดลง 0.4% หรือจำนวน 6,857 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2565
• ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.52% จาก 3.36% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 7.6% หรือจำนวน 1,254 ล้านบาท จากช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ส่วนใหญ่เกิดจากกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากการควบรวมธุรกิจในต่างประเทศ รวมทั้งหนี้สูญรับคืน
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรุงศรีฯยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าสู่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในการเป็นธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาคอาเซียน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ธนาคารประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งเป็นสองเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในภูมิภาค โดยการควบรวมบริษัทในเครือใหม่นี้ยังช่วยสนับสนุนการเติบโตของเงินให้สินเชื่อในระหว่างไตรมาส
“หากไม่รวมปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยมีแรงสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนมากขึ้นและส่งผลบวกต่อไปยังภาคแรงงานและค่าจ้าง รวมทั้งจะช่วยรักษาแรงส่งของเศรษฐกิจให้ขยายตัว 3.3% ตามการคาดการณ์ ทั้งนี้ กรุงศรีฯยังคงเป้าหมายการเติบโตของเงินให้สินเชื่อไว้ที่ 3-5%”
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 กรุงศรีฯ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 2.01 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.80 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.70 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 299.62 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.72% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.02%
ทีเอ็มบีธนชาต (ttb)
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2 และรอบ 6 เดือน ปี 2566 โดยกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2566 อยู่ที่ 4,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2565 รวม 6 เดือน ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 8,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากปีที่แล้ว
หนุนโดยปัจจัยหลักทั้งด้านรายได้ การบริหารค่าใช้จ่าย และการตั้งสำรองที่ลดลงจากสถานการณ์ด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่เป็นไปตามเป้าหมาย สามารถลดและควบคุมอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพให้อยู่ในระดับต่ำที่ 2.63% ขณะที่อัตราส่วนสำรอง ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 144%
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงรักษาแนวโน้มการเติบโตด้านรายได้และกำไรในแต่ละไตรมาสได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความสำเร็จจากการกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม และความคล่องตัวในการปรับกลยุทธ์การบริหารพอร์ต ทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน (Asset-Liability Management) เพื่อรับมือกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นได้เป็นอย่างดี
โดย 2 กลยุทธ์หลักที่ใช้ในการบริหารพอร์ตเพื่อหนุนรายได้ดอกเบี้ย ได้แก่ การรีไซเคิลเงินทุน หรือการหมุนเวียนนำเอาสภาพคล่องที่ได้รับกลับมาจากการชำระคืนหนี้ไปปล่อยกู้ให้กับสินเชื่อใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่กำหนดไว้
ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อ โดยที่ธนาคารไม่จำเป็นต้องเร่งเติบโตสินเชื่ออย่างรวดเร็วจนอาจนำมาซึ่งปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์ในภายหลัง ในด้านเงินฝากธนาคารใช้กลยุทธ์การขยายฐานเงินฝากล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น โดยได้ทยอยเพิ่มเงินฝากประจำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จึงไม่ต้องเร่งขยายเงินฝากมากนักในปีนี้ ช่วยควบคุมต้นทุนเงินฝากได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจไทยจะยังคงฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็เผชิญกับความผันผวนจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกอยู่เป็นระยะ ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพลูกหนี้ของระบบธนาคารและสถาบันการเงินไทย
สำหรับทีทีบีนั้น ที่ผ่านมาเราเน้นการเติบโตสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาสินเชื่อในเชิงรุก นอกจากนั้นธนาคารยังมีแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบค่อยเป็นค่อยไป และยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมกับสถานการณ์ของลูกค้าแต่ละราย ส่งผลให้ลูกค้าสามารถกลับมาชำระคืนหนี้ได้ตามปกติ
จากแนวทางดังกล่าว คุณภาพพอร์ตสินเชื่อทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยจึงยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่มีสัญญาณถดถอยหรืออยู่นอกเหนือระดับควบคุม โดยปัจจุบันอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงมาอยู่ที่ 2.63% จาก 2.98% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในช่วงโควิด-19 ขณะที่อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 144% จาก 121% บ่งบอกถึงกันชนรองรับความเสี่ยงที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
สำหรับช่วงครึ่งปีหลัง ธนาคารยังคงเน้นการเติบโตสินเชื่อและการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ และจากการเตรียมการเพื่อรับมือกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและแรงกดดันด้านการตั้งสำรองที่ลดลง
จึงมองว่าจะสามารถรักษาโมเมนตัมเชิงบวกของผลการดำเนินงานได้ต่อไป ทั้งนี้ ธนาคารจะยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้ากลุ่มเปราะบาง รวมถึงสนับสนุนแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทยในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของทีทีบีที่ต้องการผลักดันให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 และ 6 เดือนปี 2565 ผลการดำเนินงานยังคงเป็นไปตามเป้าหมายและให้ภาพการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากกลยุทธ์ด้านสินเชื่อและเงินฝาก รวมทั้งการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินและพอร์ตการลงทุนในเชิงรุกเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวเช่นกัน หนุนให้รายได้จากการดำเนินงานรวมในไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 17,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% จากไตรมาส 2/65 รวม 6 เดือน รายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 34,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4%
ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 7,863 ล้านบาท และรอบ 6 เดือน ปี 2566 อยู่ที่ 15,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% และ 6.4% ตามลำดับ สอดคล้องกับกิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นและแผนการลงทุนของธนาคาร โดยธนาคารยังคงสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับด้านรายได้ได้เป็นอย่างดี สะท้อนได้จากอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่อยู่ที่ 44% เป็นไปตามกรอบเป้าหมาย
จากผลด้านรายได้และประสิทธิภาพด้านต้นทุน หนุนให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรอง (PPOP) อยู่ที่ 9,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6% จากไตรมาส 2/65 และสำหรับรอบ 6 เดือน ปี 2566 อยู่ที่ 19,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.0%
ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/66 ธนาคารตั้งสำรอง เป็นจำนวน 4,244 ล้านบาท ลดลง 3.2% จากปีก่อนหน้า รวม 6 เดือนแรกของปี ตั้งสำรองไปทั้งสิ้น 8,520 ล้านบาท ลดลง 7.3% จากปีก่อนหน้า ส่งผลให้กำไรสุทธิในไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 4,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.8% รวมเป็นกำไรสุทธิสำหรับ 6 เดือนแรกของปีที่ 8,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ท้ายสุดด้านความเพียงพอของเงินกองทุน อัตราส่วน CAR และ Tier 1 (เบื้องต้น) ณ สิ้นไตรมาส 2/66 ยังอยู่ในระดับสูงที่ 20% และ 16% ซึ่งสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ
สำหรับรายละเอียดผลการดำเนินงานหลักในไตรมาส 2 และ 6 เดือนปี 2566 มีดังนี้
สินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 1,364 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.4% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยสินเชื่อรายย่อยเติบโตได้ที่ 0.5%
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรถแลกเงิน ttb cash your car สินเชื่อบ้านแลกเงิน ttb cash your home สินเชื่อส่วนบุคคล personal loan และบัตรเครดิต สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโตสินเชื่อรายย่อย โดยเน้นฐานลูกค้าปัจจุบัน ซึ่งธนาคารรู้จักและเข้าใจความเสี่ยงของลูกค้าเป็นอย่างดี ด้านสินเชื่อลูกค้าธุรกิจเติบโตเช่นกันที่ 0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า
ด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,395 พันล้านบาท ชะลอลงเล็กน้อยหรือราว 0.5% จากไตรมาสที่แล้ว เป็นไปตามแนวทางการบริหารต้นทุนเงินฝากและสภาพคล่องให้เหมาะสมกับทิศทางสินเชื่อ โดยปัจจุบันธนาคารยังคงมีสภาพคล่องส่วนเกิน สะท้อนได้จากสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ระดับ 98%
กลุ่มทิสโก้ (TISCO)
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 3,646 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินเชื่อขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งที่ระดับ 5.2% จากความต่อเนื่องของการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ รวมถึงสินเชื่อรถมือสอง และสินเชื่อรถจักรยานยนต์ บริษัทมีรายได้รวมปรับตัวสูงขึ้น ถึงแม้ต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
โดยกลุ่มทิสโก้เร่งขยายธุรกิจในกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียน ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” ที่เปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 100 สาขา และยอดสินเชื่อเติบโตกว่า 12% ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยมีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 2.2%
ซึ่งบริษัทมีระดับค่าเผื่อสำรองหนี้สงสัยจะสูญพร้อมรองรับความเสี่ยงจากทุกปัจจัยรอบด้าน ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมยังมีความอ่อนแอตามภาวะตลาดทุนโดยรวมที่ยังไม่เอื้ออำนวย
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรก โดยทิสโก้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ราว 3.5-4% ด้วยแรงส่งหลักจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลทำให้การลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งงบประจำและงบลงทุนต้องล่าช้าออกไป ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ตลอดจนการปรับเพิ่มของดอกเบี้ยอย่างเร็วแรงในตลาดโลกที่อาจก่อให้เกิด Unintended Consequences เป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นยังเป็นแรงกดดันต่อค่าครองชีพและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนไทย ในภาวะที่หนี้ครัวเรือนโดยรวมอยู่ในระดับที่สูงเช่นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี กลุ่มทิสโก้ยังคงเดินหน้าสร้างโอกาสการเติบโตในธุรกิจที่เชี่ยวชาญ ตามพันธกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตด้วยความมั่นคงและยั่งยืน ผ่าน 3 กลไกหลัก คือ “Passion” สิ่งที่เรามุ่งมั่น “Professional” สิ่งที่เรามีความเชี่ยวชาญ และ “Social” เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สังคมได้ โดยมีตลาดหรือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายชัดเจนเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนไทย ด้วยการเข้าไปช่วยคนไทยวางแผนทางการเงินอย่างจริงจังในทุกกลุ่มเป้าหมาย
โดยสร้างจุดร่วมของผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายมาดูแลลูกค้า ครอบคลุมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่รองรับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ที่ตอบโจทย์ครบทั้ง Wealth Creation และ Wealth Protection การออกแบบบริการให้แก่ลูกค้ารายใหญ่แบบองค์รวม (Total Solutions) โดยเฉพาะในลูกค้ากลุ่มพลังงานและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการเร่งขยายสาขาสมหวัง เงินสั่งได้ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบแก่ชุมชนและธุรกิจรายย่อย ตามหลัก Responsible Lending และการแก้หนี้ภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืนเพื่อไม่ให้เป็นหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ผ่านการรวมหนี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้า เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับไตรมาส 2 ปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,854 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.3% จากไตรมาส 2 ปี 2565 โดยรายได้จากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น 4.1% จากการเติบโตของธุรกิจการให้สินเชื่อ ซึ่งส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 10.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้ว่าต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 91.8% ตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาด
ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 8.8% เนื่องมาจากความผันผวนและซบเซาของตลาดทุนเป็นหลัก นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังอ่อนตัวลงเล็กน้อย ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.2% ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนตามแผนการเติบโตในระยะยาวของบริษัท
ในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss-ECL) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.1% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ยตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากช่วง COVID-19 โดยบริษัทยังคงมีเงินสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตอยู่ในระดับสูง พร้อมรองรับต่อความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยอัตราส่วนเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) ที่ 224.0%
สำหรับผลประกอบการงวดครึ่งปีแรกของปี 2566 กำไรสุทธิมีจำนวน 3,646 ล้านบาท ทรงตัวจากครึ่งปีแรกของปี 2565
โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 8.7% ตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 3.5% จากรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ กำไรจากเงินลงทุน และค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 10.6% จากค่าใช้จ่ายลงทุนต่าง ๆ ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2566 อยู่ที่ 17.6%
เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีจำนวน 230,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากสิ้นปี 2565 จากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง และสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์
โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งกว่า 26.5% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนผ่านช่องทาง “สมหวัง เงินสั่งได้” เติบโตต่อเนื่อง 12.1% ตามการเปิดเครือข่ายสาขาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 2.2% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อนหน้า ตามกลยุทธ์การขยายสินเชื่อไปในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูง โดยบริษัทยังคงดำเนินนโยบายการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างเข้มงวด และการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 23.0% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.5% และ 3.6% ตามลำดับ
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB T)
นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 7,156.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51 ล้านบาท หรือ 0.7% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2565
สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 4.6% และรายได้อื่น 1.3% สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 21.7% กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 7.3% เป็นจำนวน 3,105.6 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงาน 0.7% สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 7.9%
กำไรสุทธิลดลงจำนวน 746.6 ล้านบาท หรือ 35.3% เป็นจำนวน 1,368.9 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกัน สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 94.2% โดยเป็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังของธนาคารและเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่
เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวดหกเดือนปี 2566 และ 2565 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 214.4 ล้านบาท หรือ 4.6% เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อ รายได้อื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 20.5 ล้านบาท หรือ 1.3% ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเงินลงทุน และกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 183.9 ล้านบาท หรือ 21.7% มาจากการลดลงของค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดหกเดือนปี 2566 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2565 เพิ่มขึ้นจำนวน 297.0 ล้านบาท หรือ 7.9% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขาย ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดหกเดือนปี 2566 อยู่ที่ 56.6% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2565 อยู่ที่ 52.8%
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin-NIM) สำหรับงวดหกเดือนปี 2566 อยู่ที่ 2.7% ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2565 อยู่ที่ 2.8% เป็นผลจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 242.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565
กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 289.7 พันล้านบาท ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 83.8% จาก 81.2% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 3.1% ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ 3.3% ซึ่งสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างพอร์ตสินทรัพย์ของธนาคารด้วยการลดลงของสินเชื่อพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแลและการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 อยู่ที่ 122.1% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 114.6% ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีจำนวน 58.1 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 21.2% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.7%
- แบงก์กรุงเทพ โกยกำไรครึ่งปี 2.14 หมื่นล้าน อานิสงส์รายได้ดอกเบี้ยโต 36%
- กสิกรไทยโกยกำไรครึ่งปี 2.17 หมื่นล้าน ลดลง 1.22% เหตุตั้งสำรองฯเพิ่ม 32.77%
- SCBX กวาดกำไรไตรมาส 2/2566 เพิ่มขึ้น 18% ครึ่งปีแรกโกยทะลุ 2 หมื่นล้าน
- กรุงไทยโชว์แกร่ง กำไรครึ่งปี 20,000 ล้าน โต 18% ตั้งสำรองเพิ่ม 36.8% รับมือ ศก.ไม่แน่นอน