
ค่าเงินบาทอ่อนค่า จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ หลังหนึ่งในสมาชิกบอร์ดผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีถ้อยแถลงเกี่ยวกับความจำเป็นในการเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%
วันที่ 8 สิงหาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 8 สิงหาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/8) ที่ระดับ 34.91/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/8) ที่ระดับ 34.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ
- หมอธีระวัฒน์ ชี้ งานวิจัยระบุ ชอบกินเนื้อสัตว์เสี่ยงตาย ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกาย ไม่ช่วย
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- พระราชทานอภัยโทษ คดีทักษิณ ที่มาวาระอันเป็นมงคล วโรกาสสำคัญ
นางมิเชล โบว์แมน หนึ่งในสมาชิกบอร์ดผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีถ้อยแถลงเกี่ยวกับความจำเป็นในการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% โดยเฟดกำลังมองหาหลักฐานบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐสามารถปรับตัวลงอย่างสม่ำเสมอเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจว่าแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินปัจจุบันเพียงพอหรือไม่
แม้ว่ามีสัญญาณของการชะลอตัวจากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล แต่เฟดยังคงมีมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังคงอยู่เหนือเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากนี้รายงานภาคจ้างงานสหรัฐเดือน มิ.ย. ส่งสัญญาณว่าอุปสงค์และอุปทานของแรงงานในตลาดสมดุลมากขึ้น แต่ความต้องการแรงงานมีปริมาณมากกว่าจำนวนผู้หางานในตลาดอาจเป็นแรงขับเคลื่อนให้เงินเฟ้อสหรัฐอยู่ในระดับสูงต่อไป
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่กดดันค่าเงินบาท ตลาดจับตาดูผลการวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับประเด็นการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่มีกำหนดวันนัดพิจารณาคำร้องในวันที่ 16 ส.ค. จากเดิมวันที่ 3 ส.ค. หากศาลมีคำสั่งว่ากรณีดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มีการคาดการณ์ว่ารัฐสภาจะดำเนินการให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายในช่วงปลายเดือน ส.ค.ถึงกลางเดือน เม.ย.
ส่วนกรณีหากศาลมีคำสั่งว่าการดำเนินการของรัฐสภาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และมีข้อวินิจฉัยเพิ่มเติม อาจต้องรอความชัดเจนว่าจะส่งผลให้การเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีทิศทางเป็นอย่างไรและใช้เวลานานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง โดยความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลจะส่งผลกระทบต่อการวางงบประมาณในปีหน้า ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเข้ามาลงทุนของบริษัททั้งในและต่างประเทศ
โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.86-355.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.95/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/8) ที่ระดับ 1.0977/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/8) ที่ระดับ 1.0978/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีหดตัวลง 1.5% ในเดือน มิ.ย. หดตัวมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 0.5% สะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคที่ภาคการผลิตต้องเผชิญท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจขาลงครั้งใหญ่ที่สุดของเยอรมนี
โดยเป็นสัญญาณของการผลิตที่ซบเซาลงที่อาจตามมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจากการที่หลายบริษัทสามารถจัดการกับคำสั่งซื้อที่ตกค้างจากช่วงการระบาดโควิด-19 เสร็จสิ้น
นอกจากนี้สถาบันวิจัยเซนทิกซ์ (Sentix) ของเยอรมนีรายงานดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -18.9 ในเดือน ส.ค. จากระดับ -22.5 ในเดือน ก.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะร่วงลงสู่ระดับ -24.3
สำหรับดัชนีคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 7.3 จุด สู่ระดับ -17.3 จากการที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าผลกระทบจริงอาจจะไม่หนักหน่วงอย่างที่เคยคาดไว้ สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมนีเดือน มิ.ย. ขยายตัวที่ระดับ 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่าจะขยายตัวระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า ส่วนเมื่อเทียบรายปีดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมนีขยายตัวที่ระดับ 6.2% เมื่อเทียบรายปี ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และขยายตัวน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 6.4%
ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปอาจตัดสินใจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1011 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0971/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/8) ที่ระดับ 143.30/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/8) ที่ระดับ 142.44/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ รายงานดัชนีการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นเดือน มิ.ย. ปรับตัวลง 4.2% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 4.1% และปรับตัวลงมากกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 4.0% เมื่อเทียบรายปี
นับเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยครอบครัวที่มีสมาชิกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนเฉลี่ยราว 1,900 ดอลลาร์
ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 142.84-143.43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 143.03/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ดุลการค้าเดือน มิ.ย.สหรัฐ (8/8), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ค. ประเทศจีน (9/8), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ค. ประเทศญี่ปุ่น (10/8) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (10/8), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สหรัฐเดือน ก.ค. (10/8), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สหรัฐเดือน ก.ค. (11/8) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ส.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (11/8)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.40/-10.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.00/5.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ