วิจัยกรุงศรีฯ คาดจีดีพี Q2 โตบวก 1% จากไตรมาสแรก ชี้ กนง.คงดอกเบี้ย 2.25%

เศรษฐกิจฟื้น

วิจัยกรุงศรี เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/66 จีดีพีขยายตัวเพิ่ม 1% จากไตรมาสแรก แรงหนุนภาคท่องเที่ยว-การบริโภคภาคเอกชน มอง กนง.คงดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี พร้อมปรับประมาณการจีดีพี-เงินเฟ้อในการประชุมเดือน ก.ย.นี้ หลังมีปัจจัยความไม่แน่นอนกระทบการฟื้นตัว

วันที่ 8 สิงหาคม 2566 วิจัยกรุงศรี คาด กนง.อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ท่ามกลางหลายปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนช่วยหนุนเศรษฐกิจไตรมาสสองอาจเติบโตได้ใกล้เคียงกับไตรมาสแรก ธปท.รายงานเศรษฐกิจโดยรวมเดือนมิถุนายนอยู่ในทิศทางฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ

ด้านการบริโภคภาคเอกชนแม้ชะลอลงหลังหมดปัจจัยชั่วคราว (เช่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงการเลือกตั้ง) แต่ยังเติบโตได้ (+6.5% YOY จากเดือนก่อน +7.0%) ตามการจ้างงานและความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลง (-1.6% จาก +2.7%) โดยลดลงทั้งการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ส่วนมูลค่าการส่งออกหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 (-5.9%)

โดยรวมเครื่องชี้เศรษฐกิจในไตรมาส 2 (เดือนเมษายน-มิถุนายน) ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ปัจจัยหนุนสำคัญจากการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน

โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่า GDP ในไตรมาส 2 อาจเติบโตจากไตรมาสแรกที่ +1.0% QOQ sa หรือ +2.7% YOY (เทียบกับ +1.9% QOQ sa หรือ +2.7% YOY ในไตรมาสแรก) ในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับแรงกดดันจากสถานการณ์การเมืองในประเทศ การจัดตั้งรัฐบาลที่ยังมีความไม่แน่นอนซึ่งอาจส่งผลต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้ากว่าคาด บั่นทอนความเชื่อมั่นและกระทบต่อแรงส่งการเติบของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี และมีสัญญาณอาจยุติการปรับขึ้นในช่วงที่เหลือของปี การประชุมคณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 2 สิงหาคม มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.25% โดยประเมินเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพการเงินในระยะยาว

โดยการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้

จากแถลงการณ์หลังการประชุมที่ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเข้าใกล้ระดับที่เป็นกลาง (Neutral) มากขึ้น กอปรกับประเมินเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวเข้าสู่ระดับศักยภาพ แต่ยังไม่เกินระดับศักยภาพเหมือนต่างประเทศ การดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปจึงยังคงต้องสนับสนุนการเติบโตไปสู่ระดับศักยภาพท่ามกลางความไม่แน่นอนที่มีอยู่มาก

ได้แก่ (i) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก (ii) สถานการณ์การเมืองในประเทศซึ่งอาจส่งผลให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้ากว่าคาดและอาจกระทบต่อความเชื่อมั่น รวมถึงบรรยากาศการลงทุน

และ (iii) ภาวะเอลนีโญหรือภัยแล้งที่เริ่มส่งผลกระทบต่อการเติบโตตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่ารายงานการประชุมในรอบนี้มีสัญญาณ hawkish น้อยลง และแม้ว่า กนง.ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสูงของอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปจากต้นทุนราคาอาหารโลกที่อาจได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ แต่วิจัยกรุงศรีคาดว่าผลกระทบอาจมีจำกัดเนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เริ่มบรรเทาลง และความสัมพันธ์ของราคาอาหารในตลาดโลกต่อเงินเฟ้อไทยที่ไม่ได้สูงมากนัก

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นอาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งทำให้ธปท.มีแนวโน้มปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนกันยายนนี้ วิจัยกรุงศรีจึงคาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ในช่วงที่เหลือของปีนี้