ถอดรหัสนโยบายเศรษฐา 1 ธปท.-นักเศรษฐศาสตร์ห่วงนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ใช้เงินกว่า 5.6 แสนล้านบาทกระทบเสถียรภาพการคลัง “ฟิทช์ เรทติ้งส์” จับตานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ หวั่นหนี้สาธารณะไทยเพิ่มขึ้น นายกฯเดินหน้ารับฟังความเห็น ผู้ว่าการแบงก์ชาติ-สศค. เพื่อให้การดำเนินนโยบายทั้ง “แจกเงิน-พักหนี้” ไม่กระทบเสถียรภาพการเงินการคลัง “กฤษฎา” เตรียมแผนเร่งรื้องบฯปี’67 ยอมรับแอป “เป๋าตัง” เป็นช่องทางที่ดี วงในเผย “เป๋าตัง” หลังบ้านเชื่อมต่อเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่แล้ว
รมช.คลังเร่งรื้องบฯปี’67
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความคืบหน้าการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ได้มีการหารือกันไปในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งค่อนข้างมีความหลากหลาย แต่คงจะต้องมีการหารือกันอีกในเร็ว ๆ นี้ เพราะท้ายที่สุดแล้วต้องเลือกเพียงวิธีการเดียว
จากเดิมทีแนวคิด CBDC ของแบงก์ชาติก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง ส่วนช่องทางการแจกเงินผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ก็ถือเป็นช่องทางที่ดี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ หากมีความชัดเจนแล้วจะแจ้งให้ทราบ ไม่อยากทำให้ประชาชนสับสน รับรองว่าจะได้ข้อยุติในไม่ช้า
นายกฤษฎากล่าวว่า ส่วนเรื่องงบประมาณหรือแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ก็มีหลายส่วน แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้งนี้ ตามกรอบวงเงินที่ใช้ได้ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มีอยู่หลายส่วน และก็มีหลายโครงการที่ไม่ทำแล้ว อาจจะใช้วงเงินตรงนั้นมาไฟแนนซ์ในส่วนนี้ได้ อย่างไรก็ตาม คงจะต้องไปศึกษาเรื่องการจัดสรรงบประมาณก่อน
โดยวงเงินตามมาตรา 28 ตามกรอบของปีงบประมาณ 2566 ก็จะเหลือแค่ประมาณ 18,000 ล้านบาท แต่พอสิ้นปีงบประมาณก็จะมีการชำระหนี้บางส่วน และเงินจากโครงการต่าง ๆ ที่ไม่ทำแล้วมา น่าจะมีการตั้งงบฯคืนประมาณ 1 แสนล้านบาท
ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 กำลังจะมีการนัดหารือกันใหม่ โดยสำนักงบประมาณได้ออกตารางงบประมาณมาแล้ว คาดว่าน่าจะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในครั้งแรกหรือไม่ก็ครั้งที่สองได้ ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อรัฐบาลมีการดำเนินนโยบายต่าง ๆ คาดว่าจะช่วยกระตุ้น GDP ปีหน้าเติบโตได้ตามเป้าหมายใหม่ของสภาพัฒน์ ที่ประมาณ 2.8%
ขยายกรอบมาตรา 28
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้า ซึ่งทางสำนักงบฯคาดว่าประมาณเดือน พ.ค. 2567 ถึงจะใช้ได้ ดังนั้นในการที่จะดำนินนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต ให้ทันวันที่ 1 ก.พ. 2567 หรือภายในไตรมาสแรก ตามที่นายกฯเศรษฐาให้สัมภาษณ์ ก็จะต้องใช้มาตรการกึ่งการคลัง โดยยืมเงินรัฐวิสาหกิจ หรือสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งถือเป็นรัฐวิสาหกิจมาใช้ไปก่อน โดยที่รัฐบาลจะตั้งงบฯชดเชยคืนให้ในภายหลัง ซึ่งจะมีกรอบวงเงินที่ใช้ได้
อย่างไรก็ดี ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดว่า ยอดคงค้าง หรือภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่าย หรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ต้องไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งตามที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ระบุว่าจะเหลือวงเงินใช้ได้ประมาณ 118,000 ล้านบาท ดังนั้นก็อาจจำเป็นต้องมีการขอขยายกรอบวงเงินของมาตรา 28 ซึ่งสามารถทำได้
ห่วงสร้างภาระการคลัง 5 แสน ล.
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า จากร่างนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมแถลงต่อรัฐสภา มีเพียงเรื่องแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทเท่านั้นที่ยังค่อนข้างน่ากังวล เพราะจะเป็นภาระทางการคลังถึงกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งหากรอใช้เงินงบประมาณ โครงการจะเริ่มได้ ก็คงเป็นช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า แต่หากใช้มาตรการกึ่งการคลัง ยืมเงินรัฐวิสาหกิจ หรือแบงก์รัฐมาใช้ก่อน ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง แล้วจ่ายชดเชยภายหลัง ก็ต้องบอกว่าคงไม่ใช่วินัยการคลังที่ดี อย่างไรก็ดี ในช่วงที่งบประมาณปกติล่าช้า ยังใช้ไม่ได้ ก็สามารถใช้มาตรการกึ่งการคลังได้ ซึ่งขึ้นกับว่าตีโจทย์ภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้อย่างไร
“เศรษฐกิจไทยตอนนี้ ผมตีความว่า ไม่ต้องไปกระตุ้นใหญ่ แต่ควรเน้นให้เกิดการกระจายตัว เพราะตอนนี้การเติบโตอยู่แค่ธุรกิจขนาดใหญ่ พวกธุรกิจต่างจังหวัด ธุรกิจเอสเอ็มอียังอ่อนแอมาก ดังนั้นอาจจะต้องมีนโยบายกระตุ้นกลุ่มเหล่านี้เร่งด่วนมากกว่า หรือออกแบบนโยบายให้เงินหมุนไปสู่ต่างจังหวัดให้มากที่สุด”
ฟิทช์ฯจับตาหนี้สาธารณะไทย
ดร.อมรเทพกล่าวอีกว่า ในเรื่องภาระทางการคลังนั้น ล่าสุดทางฟิทช์ เรทติ้งส์ ก็เป็นห่วงว่า หนี้สาธารณะของไทยเริ่มขยับขึ้นมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่มีเครดิตเรตติ้งระดับเดียวกัน แม้ว่าตอนนี้ระหนี้สาธารณะจะยังไม่สูงมากก็ตาม ซึ่งระยะต่อไปก็ขึ้นกับว่ารัฐบาลมีแนวทางเก็บรายได้เพิ่ม หรือขยายฐานภาษีอย่างไร
“ผมเสียดายว่าที่ผ่านมา ไม่มีการลงทุนที่จะยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เพราะเน้นแจกกันมาโดยตลอด การลงทุนพวกรถไฟฟ้าก็กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยเห็นการลงทุนในต่างจังหวัดที่จะช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ผมมองว่าถ้าเราทุ่มเงินไปกับการกระตุ้นหมด ก็จะไม่เห็นการลงทุน” ดร.อมรเทพกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 นักวิเคราะห์ของฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) กล่าวถึงประเทศไทยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจถูกจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผสมชุดใหม่อาจส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศสูงขึ้น
การจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคอาจจะสามารถผลักดันนโยบายตามฉันทามติได้ แต่มุมมองที่แตกต่างหลากหลายในพรรคร่วมรัฐบาลจะทำให้กระบวนการจัดทำงบประมาณประจำปี 2567 ยุ่งยากและล่าช้า ขณะที่การจะเพิ่มศักยภาพทางการคลังหรือการรัดเข็มขัดทางการคลัง ก็มีข้อจำกัดจากคำมั่นสัญญาที่หาเสียงไว้ว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่อาจจะสร้างแรงกดดันให้สัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีสูงขึ้น เว้นแต่ว่าจะสามารถรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้
รายงานข่าวระบุว่า ตัวหนี้สาธารณะของประเทศไทย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 10.97 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.69% ของจีดีพี
นายกฯถกผู้ว่าการแบงก์ชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 ได้พูดคุยกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเลตที่จะมอบให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท ซึ่ง ธปท.ได้ให้ข้อคิดมาหลายเรื่อง และให้คำแนะนำว่า ถ้าจะออกดิจิทัลวอลเลต ในระยะกลางและระยะยาวของประเทศ ระบบการเงินการคลังของประเทศจะเป็นลักษณะไหน อย่างเช่น ตัวเลขหนี้สาธารณะจะขึ้นจะลงอย่างไร โดยการจ่ายเงินเป็นการทำผ่านบล็อกเชน และเดินหน้าได้ในไตรมาสแรกปี 2567 แน่นอน
แหล่งข่าวจากทีมทำงานของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจเปิดเผยว่า จากที่นายกรัฐมนตรีได้มีการพบปะหารือกับผู้ว่าการ ธปท. ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และหน่วยงานเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ให้กับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป ทุกคน จะต้องใช้เม็ดเงินสูงกว่า 5 แสนล้านบาท รวมถึงเรื่องมาตรการพักหนี้เกษตรกร เอสเอ็มอี และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
รายงานข่าวระบุว่า ผู้ว่าการ ธปท.ได้แสดงความคิดเห็นว่า ธปท.มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยขณะนี้เริ่มฟื้นตัว ไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเพิ่มแบบเหวี่ยงแห เพราะใช้เงินเยอะ ซึ่งก็กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง ทั้งนี้ ควรโฟกัสลงไปในจุดในกลุ่มเปราะบางที่ได้ผลจริง รวมถึงแสดงความกังวลเรื่องภาระทางการคลังที่จะตามมา และตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศ รวมถึงมีการนำเสนอข้อมูลเรื่องมาตรการพักหนี้เกษตรกร และเอสเอ็มอีด้วย
“เป๋าตัง” หลังบ้านเชื่อมบล็อกเชน
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับวิธีการและช่องทางการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ซึ่งนายกฯเศรษฐาได้ระบุว่า จะเป็นการจ่ายเงินเป็นการทำผ่านบล็อกเชน และเดินหน้าได้ในไตรมาสแรกปี 2567 จากที่มีการหารือเบื้องต้นเพื่อให้การดำเนินนโยบายทันภายในไตรมาสแรก ก็จะเป็นการจ่ายเงินผ่านแอป “เป๋าตัง” เพราะหลังบ้านแอปเป๋าตังมีการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่แล้ว
อย่างในส่วนของบริการ “วอลเล็ต สบม.” ที่เปิดให้ประชาชนสามารถซื้อพันธบัตรออมทรัพย์หน่วยละ 1 บาท หรือการเปิดขายสลากดิจิทัล 80 บาท ผ่านแอปเป๋าตัง บริการเหล่านี้หลังบ้านก็เชื่อมต่อเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่แล้ว นอกจากนี้ แอปเป๋าตังถือเป็น G-wallet ของรัฐบาล เพียงแต่มีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้พัฒนาและให้บริการ
“เรื่องนี้นายกฯเศรษฐาทราบรายละเอียดดี เพราะได้มีการพบปะพูดคุยกับผู้บริหารของธนาคารกรุงไทยแล้ว เพราะการที่จะทำโครงการอย่างรวดเร็ว มีความปลอดภัย ไม่มีปัญหา คงไม่มีใครกล้าลองของใหม่”
แหล่งข่าวกล่าวว่า นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต แน่นอนว่าจะสามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัว โตเด้งขึ้นมาได้ แต่ประเด็นสำคัญคือจะทำให้เติบโตต่อเนื่อง ยั่งยืนได้หรือไม่ ในขณะที่รัฐบาลจะมีภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายต่าง ๆ
กสิกรฯชี้ต้องทำเรื่องระยะยาว
ขณะที่นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า นโยบายที่ออกมาหลายเรื่องก็เป็นการช่วยลดภาระประชาชน ถือว่าดีสำหรับการดูแลระยะสั้น หรือเฉพาะหน้า ก็เป็นนโยบายประเภท “ควิกวิน” ที่ดี เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจยังเพิ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 ซึ่งเศรษฐกิจไทยฟื้นค่อนข้างช้า อย่างไรก็ดี เรื่องระยะยาวก็ควรต้องทำควบคู่ไปด้วย
“การแจกเงินในช่วงที่เศรษฐกิจซึม ๆ ก็เป็นการกระตุ้นที่ดี แต่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะการใช้จ่ายเงิน 5 แสนกว่าล้านบาท ถึงแม้ว่าอาจจะมีการไปกู้ หรือโยกงบประมาณมา ก็ต้องดูความเหมาะสม คือตอนนี้ไม่ได้มีปัญหาหรอก เพราะเราไม่ได้มีหนี้สินสูง แต่ว่าในระยะยาว เราต้องหาอุตสาหกรรมที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และต้องหารายได้ไว้รองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุด้วย”
นายบุรินทร์กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นก็คือ นโยบายระยะยาว โดยเฉพาะเพื่อรองรับสังคมสูงวัย รวมถึงการหาเครื่องยนต์ใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ในอนาคต 10-20 ปีข้างหน้า เช่น หากจะผลักดันอุตสาหกรรมเวลเนส ก็ต้องแก้ไขกฎหมายให้เอื้อต่อการดึงดูดคนที่อยากเข้ามาใช้ชีวิตเพื่อเตรียมเกษียณในประเทศไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ ลำพังจะพึ่งพาแต่ภาคท่องเที่ยวอย่างเดียวคงไม่ได้