เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง หนุนดอลลาร์แข็งค่า บาทอ่อนสุดรอบ 10 เดือน

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

เศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง หนุนดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 37.00 ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือน

วันที่ 3 ตุลาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานสภาวะเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2566 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/10) ที่ระดับ 37.11/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/10) ที่ระดับ 36.92/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 37.00 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 10 เดือน และเป็นการอ่อนค่าร้อยละ 6.75 จากต้นปี โดยการอ่อนค่านี้สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่าแตะระดับ 107 ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 โดยมีปัจจัยหนุนคือเฟดจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ และจะคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้

               

ทั้งนี้คืนที่ผ่านมาทางด้านลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคดีฟแลนด์ ได้กล่าวในลักษณะเดียวกันกับคณะกรรมการท่านอื่น ๆ ว่า เฟดยังคงจำเป็นที่จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ในระดับที่สูงมากเกินไป และคาดว่าเงินเฟ้อยังคงมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นอีกในอนาคต ประกอบกับตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมากกว่าที่คาดไว้

ทางด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เอสแอนด์พี โกลบอล ได้มีการเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.8 ในเดือนกันยายน จากระดับ 47.9 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 เนื่องจากการชะลอตัวของยอดสั่งซื้อใหม่

ด้านสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ได้มีการเปิดเผยว่าดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.0 ในเดือนกันยายน จากระดับ 47.6 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565

ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้น ภายหลังจากนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับ Government shutdown เนื่องจากสภาคองเกรสสามารถบรรลุข้อตกลงในการผ่านร่างงบประมาณชั่วคราวได้ โดยขยายเวลาไปได้อีก 45 วัน ทำให้เกิดการเทขายพันธบัตรรัฐบาลในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ทั้งนี้ตลาดยังคงจับตารอดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกันยายน ที่จะประกาศในวันศุกร์ (6/10) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 169,000 ตำแหน่ง ลดลงจากเดือนสิงหาคมที่อยู่ที่ 187,000 ตำแหน่ง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังคงมีแรงกดดันจากราคาทองคำที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และราคาน้ำมันที่ปรับตัวแตะระดับสูงในรอบปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบัญชีเดินสะพัดของไทย ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังได้ประเมินว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จะเริ่มมีการใช้ดิจิทัลวอเลต โดยคณะกรรมการจะมีการนัดประชุมครั้งแรกภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.99-37.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.01/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/10) ที่ระดับ 1.0471/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/10) ที่ระดับ 1.0539/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเป็นผลมาจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งตลาดยังคงได้รับผลกระทบจากการเปิดเผยผลสำรวจกิจกรรมทางเศรษฐกิจยูโรโซนของเอสแอนด์พี โกลบอล

โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนลดลงสู่ระดับ 43.4 ในเดือนกันยายน จากระดับ 43.5 ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0460-1.0493 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0484/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/10) ที่ระดับ 149.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าต่อเนื่องจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/10) ที่ระดับ 149.74/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยทั้งนี้เยนอ่อนค่าเป็นอย่างมาก ทำให้นักลงทุนจับตามองว่าทางญี่ปุ่นอาจมีการเข้าแทรกแซงค่าเงินหากแตะระดับ 150 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากแรงเทขายพันธบัตร หลังจากที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าทาง BOJ จะยุติการดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษเร็วกว่ากำหนด ทั้งนี้ทางการ BOJ จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุตั้งแต่ 5 ปี ไปถึง 10 ปี ในวันพุธที่ 10 ตุลาคม ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่้อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.74-149.93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนสิงหาคม (3/10), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนกันยายน จาก ADP (4/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนกันยายนจากเอสแอนด์พี โกลบอล (4/10), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนสิงหาคม (5/10) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกันยายน (6/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.0/-9.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.0/-5.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ