ธปท.เผยเสถียรภาพการเงินไตรมาส 3/66 ครัวเรือนเปราะบาง

ธปท.

ธปท.รายงานภาพรวมเสถียรภาพระบบการเงินไทยไตรมาสที่ 3/66 พบความสามารถการชำระหนี้ครัวเรือนยังเปราะบาง เหตุรายได้น้อยฟื้นตัวช้า-ค่าครองชีพแพง หวังเศรษฐกิจฟื้นตัวหนุนความสามารถไม่ขยายวงกว้าง จับตากลุ่มอสังหาริมทรัพย์-น็อนแบงก์ระดมทุนยากขึ้น หลังต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น-ผิดนัดชำระหนี้

วันที่ 19 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาพรวมเสถียรภาพระบบการเงินไทยไตรมาสที่ 3/2566 ดังนี้

ภาคครัวเรือน

• ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงในครัวเรือนเปราะบางที่รายได้น้อยหรือฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้ SFIs และ NBs อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในระยะข้างหน้าจะช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ไม่ลดลงรุนแรงหรือขยายเป็นวงกว้าง

               

ภาคธุรกิจ SMEs/ภาคธุรกิจขนาดใหญ่

  • SMEs : ฐานะการเงินยังเปราะบางและสินเชื่อ SMEs หดตัวจากการทยอยชำระคืนหนี้ หลังเร่งขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด โดยเฉพาะ sector ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการผลิต ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า โดย ธพ.ยังให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
  • Large : ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงเล็กน้อย ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรโดยรวมทรงตัว โดยภาคการผลิตปรับดีขึ้นเล็กน้อยใน sector ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุน จากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับลดลงและอุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น อาทิ เคมีภัณฑ์ สวนทางกับกำไรในภาคการผลิตอื่น ๆ ขณะที่ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจาก low season

ภาคอสังหาริมทรัพย์

  • ตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัวต่อเนื่อง ผู้ประกอบการเปิดโครงการใหม่เพิ่มขึ้นตามความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่ทยอยฟื้นตัว แต่ยังคงมีแรงกดดันจากต้นทุนการกู้ยืมและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
  • อัตราการเช่าของพื้นที่ค้าปลีกและพื้นที่สำนักงานทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่ต้องติดตามอุปทานพื้นที่สำนักงานที่อาจส่งผลให้อัตราการเช่าแนวโน้มลดลงในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี คาดว่าความเสี่ยงต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์มีจำกัด เนื่องจากโครงการเปิดใหม่มีอุปสงค์รองรับค่อนข้างดี

ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.)/ผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ สถาบันการเงิน (non-bank)

  • ธพ. : ยังมีระดับเงินกองทุนเงินสำรองและสภาพคล่องยังเข้มแข็ง ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจาก MTM loss ของตราสารทางการเงินบ้าง ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะที่ NPL ทรงตัวจากการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อ
  • NBs : ความสามารถในการทำกำไรลดลงจากคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง และการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและหนี้สูญเพิ่มขึ้น แม้ว่า NBs ส่วนใหญ่จะยังมี buffer ที่สามารถรองรับความเสี่ยงได้ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของ NBs บางรายอย่างใกล้ชิด

สหกรณ์ออมทรัพย์ (สอ.)

  • สอ.โดยรวมยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอรองรับการดำเนินกิจการ อย่างไรก็ดี ต้องติดตาม สอ. บางแห่งที่อาจสะสมความเสี่ยงจากการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบรุนแรงหากตลาดการเงินมีความผันผวนสูง

ตลาดการเงิน

  • ต้นทุนการระดมทุน : เพิ่มขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ระดมทุนบางรายที่สูงขึ้นหลังการผิดนัดชำระหนี้และการปรับลดอันดับ ความน่าเชื่อถือเพิ่มสูงขึ้น
  • ความสามารถในการระดมทุนและ roll over risk : นักลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนมีความ selective มากขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้กลุ่ม rating BBB และตราสารหนี้ high yield โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และ non-bank ที่อาจเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และ sentiment ของนักลงทุนที่แย่ลงซึ่งทำให้ระดมทุนได้ยากขึ้น

ด้านต่างประเทศ

  • เสถียรภาพด้านต่างประเทศยังเข้มแข็ง สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการส่งกลับกำไรและดุลการท่องเที่ยวตามปัจจัยฤดูกาล ส่วนดุลการค้าเกินดุลลดลง

ภาค digital asset

  • ความเสี่ยงของ digital asset ต่อระบบการเงินไทยมีแนวโน้มลดลง จากความสนใจของผู้ลงทุนและธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำที่สะท้อนผ่านระดับราคาสินทรัพย์ดิจิทัล