ธปท.ลั่น เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจไม่จำเป็น แนะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ธปท.ย้ำเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แรงหนุนภาคบริโภค-การท่องเที่ยว หลังปรับจีดีพีปี’67 ขยายตัว 4.4% หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นหนุนส่งออก ลั่น เหยียบคันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจไม่จำเป็น มองไทยเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างการเติบโตระยะยาว

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายในงาน “Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today” ภายใต้หัวข้อ “ประเมินสุขภาพเศรษฐกิจไทย” ว่า หากวัดสุขภาพเศรษฐกิจไทย จะดูเฉพาะมุมใดมุมหนึ่งไม่ได้ แต่จะต้องดูในมิติต่าง ๆ ใน 2-3 ด้านด้วยกัน คือ ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ และการวัดเศรษฐกิจและเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และบริบทของเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ หากดูในมิติของการฟื้นตัว ภายใต้การบริโภคที่มีน้ำหนักต่อจีดีพีเกิน 50% จะเห็นว่าตัวเลขในไตรมาสที่ 2/2566 ออกมาค่อนข้างสูงอยู่ที่ 7.8% เป็นการเติบโตสูงที่สุดในรอบ 20 ปี หรือ 2 เท่าของค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และมองไปในระยะข้างหน้าคาดว่าการบริโภคจะยังเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงการฟื้นตัวของรายได้ จะเห็นว่าตลาดแรงงาน และรายได้ภาคเกษตรยังมีการฟื้นตัวต่อเนื่องเช่นกัน

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว พบว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้วกว่า 19.5 ล้านคน ซึ่ง ธปท.คาดว่าในปี 2566 นักท่องเที่ยวน่าจะอยู่ที่ระดับ 28 ล้านคน ถือเป็นการฟื้นตัวประมาณ 60% เมื่อเทียบช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ถือว่าฟื้นตัวดีกว่าหลายประเทศ เช่น ฮ่องกงที่ฟื้นตัวเพียง 37% ไต้หวัน 47% แม้ว่าในด้านการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวลดลง แต่โดยภาพรวมไม่ได้อยู่ในระดับที่แย่

อย่างไรก็ดี ดัชนีตัวที่ไม่ดี คือ ด้านการลงทุนที่อัตราการเติบโตค่อนข้างแผ่ว และขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และต่ำกว่าประเทศในเพื่อนบ้าน

สำหรับเสถียรภาพด้านราคา คือ ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดลดลงมาอยู่ที่ 0.9% ซึ่งลดลงจากระดับพีก อยู่ที่ 7.9% โดยปัจจุบันเงินเฟ้อไทยต่ำสุดในอาเซียน และต่ำกว่าหลายประเทศในโลก อย่างไรก็ดี ไม่ควรชะล่าใจ เพราะระยะข้างหน้ามีแนวโน้มเงิอเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นได้จากปัญหาเอลนีโญที่จะกระทบต่อราคาอาหารในตระกร้าเงินเฟ้อ รวมถึงราคาน้ำมัน ค่าแรงขั้นต่ำ และนโยบายภาครัฐที่จะเพิ่มแรงส่งต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

ส่วนเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมยังอยู่ระดับที่ดี แต่จุดที่ ธปท.ห่วงที่สุด จะเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงเกิน 90% หากเทียบกับระดับความยั่งยืนที่ควรอยู่ที่ 80% จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ ธปท.ต้องออกมาตรการมาดูแลปัญหาเหล่านี้ ทั้งในส่วนการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) การแก้ไขปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) รวมถึงการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกค้า (Risk Based Pricing)

สำหรับหนี้สาธารณะของไทยปัจจุบันอยู่เกือบ 62% สูงกว่าเพื่อนบ้านหลายประเทศ ถามว่าจุดดังกล่าววิกฤตหรือยัง ถือว่ายัง เพราะโครงสร้างการกู้ยืมของไทย และการระดมทุน ไม่ได้มีการพึ่งพาต่างชาติมาก และส่วนใหญ่มาจากในประเทศ ขณะที่หนี้ต่างประเทศอยู่ระดับต่ำ และการถือบอนด์ต่างชาติถือในสัดส่วนไม่มาก และส่วนใหญ่เป็นการถือระยะยาว ไม่ใช่เป็นการกู้ระยะสั้น

ดังนั้น ภาพการฟื้นตัวระยะสั้นยังไปได้ต่อเนื่อง โดยแรงหนุนมาจากการบริโภค การท่องเที่ยวยังคงสนับสนุนการฟื้นตัว โดยในปี 2567 ธปท.ให้จีดีพีขยายตัว 4.4% เพราะมองว่าต่างประเทศจะดีขึ้น ซึ่งจะหนุนการส่งออกและIntact ขณะที่เสถียรภาพโดยรวมยังดี แต่ก็มีความกังวลในบางจุด เช่น หนี้ครัวเรือนที่มีความเปราะบาง การดูแลภาคการคลัง และศักยภาพเชิงโครงสร้างการเติบโตระยะยาว

“หากเทียบเคียงสุขภาพของคน เราไม่ใช่คนไข้ที่อยู่บนเตียงโรงพยาบาล แต่เราฟื้นไข้กลับมาอยู่ที่บ้านได้แล้ว แต่ช่วงนี้หมอบอกว่าอย่าไปวิ่งมาราธอน และสุขภาพจะกลับมา ซึ่งโอกาสที่จะเกิดวิกฤต เกิดหัวใจวายฉับพลัน คงไม่น่าจะมี แต่หากเป็นโรคเรื้อรัง สไตล์เบาหวานจะกระทบเรา และเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งวิธีการรักษาจะต้องตรงกับสุขภาพ

โดยความจำเป็นที่จะเหยียบคันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นมากนัก แต่เป็นเรื่องของการเติบโตระยะยาว โดยเราต้องปรับวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับคนไข้ เพราะคนไข้ฟื้นแล้วจะรักษาแบบเดิมไม่ได้ มาตรการสไตล์การพักหนี้ก็ถอนออก เน้นมาตรการตรงจุด เป็นสิ่งที่ ธปท.พยายามทำ”

นายเศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า มุมศักยภาพ หรือปัญหาเชิงโครงสร้าง ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยตลาดแรงงานชัดเจนว่าจะแก่ก่อนรวย ซึ่งแซงประเทศอื่น และใกล้เคียงกับประเทศเกาหลีที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุประมาณ 25% และไทยอยู่ที่ 22% ขณะที่รายได้ต่อหัวของไทยต่ำเพียง 7,650 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย อยู่ที่ 12,364 ดอลลาร์สหรัฐ และเกาหลีใต้ 32,250 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนในช่วงเฉลี่ย 5 ปี ส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของสัดส่วนการลงทุนโดยตรง (FDI) มีแนวโน้มต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น แต่ตัวที่ดี คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ดีสุดในอาเซียนเป็นรองแค่สิงคโปร์

อย่างไรก็ดี ปัญหาอยู่ที่เชิงโครงสร้าง ซึ่งหากดูในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า งบประมาณเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.3 เท่า คิดเป็น 6.60 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวประมาณ 75% เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ เช่น สวัสดิการ จ่ายเงินเดือน ซึ่งในจำนวนนี้ราว 70% เป็นงบที่ตัดได้ยาก ส่งผลให้ไทยมีงบในการลงทุนน้อย หรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 22% ของงบประมาณทั้งหมด ถือว่าน้อยกว่าในช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งที่มีประมาณ 41%

“ซึ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเราทำได้ค่อนข้างดี แต่เราต้องทำเพิ่มเติมในเรื่องของการพัฒนาและวิจัย (R&D) การเพิ่มทักษะ หรือการลดอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาพวกนี้ รวมถึงการปรับเปลี่ยนแก้กฎเกณฑ์หรือกฎหมายต่าง ๆ จะช่วยส่งเสริมให้เพิ่มความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) เช่น การแก้กฎเกณฑ์ซ้ำซ้อนล้าสมัย (Regulatory Guillotine) เหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาเชิงศักยภาพ และช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างที่เศรษฐกิจไทยเจอได้”