ธปท.รับเงินบาทอ่อนค่า-ผันผวนสูง ย้ำพร้อมดูแลหากเคลื่อนไหวเกินปัจจัยพื้นฐาน

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ธปท.ยอมรับค่าเงินบาทผันผวนสูง 9% แตะระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ เหตุ 3 ปัจจัยหลัก “ดอลลาร์แข็งค่า-เศรษฐกิจจีนผูกค่าเงินหยวน-ราคาทองคำร่วง” หนุนเงินบาทผันผวนสูงกว่าในภูมิภาค ย้ำ ไม่ฝืนกลไกตลาด แต่พร้อมดูแลหากผันผวนสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน

วันที่ 4 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายในงาน “Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today” ว่าแนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่าไปอยู่ที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ ยอมรับว่ามีความผันผวนค่อนข้างมากเฉลี่ยอยู่ที่ 9% แต่ภาพรวมของการอ่อนค่ามาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ดอลลาร์แข็งค่าจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง ทำให้เงินบาทอ่อนค่า และ 2.เงินบาทมีความผูกพันกับเศรษฐกิจและค่าเงินหยวนมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างเช่น อินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย

และ 3.ราคาทองคำ ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงระยะหลังราคาทองคำปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งไทยมีธุรกรรมการซื้อขายทองคำมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ทำให้ได้รับผลกระทบเป็นพิเศษกว่าประเทศอื่น และจากปัจจัยเหล่านี้ทำให้เงินบาทอ่อนค่าแซงหน้าประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่การไหลออกของเงินทุนนั้น พบว่านับตั้งแต่ต้นปีมีเงินไหลออกสุทธิราว 8.8 พันล้านดอลลาร์ เป็นการไหลออกจากตลาดพันธบัตร (บอนด์) และตลาดหุ้น สะท้อนว่าเป็นเรื่องของปัจจัยโลก ส่วนหนึ่งมาจากสภาวะตลาดและนักลงทุนที่ไม่ได้เอื้อให้นักลงทุนมาลงทุนในตลาดไทย และช่วงหลังพบว่าหุ้นไทยนักลงทุนจะสนใจหุ้นเทคโนโลยี แต่ไทยกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีไม่ค่อยมี ทำให้ความน่าสนใจหุ้นไทยจะถูกกระทบจากตรงนี้ และดอกเบี้ยโลกที่ขึ้นมา ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดหุ้นคุณค่ามากกว่าการเติบโต แม้ว่ามีปันผลเยอะ แต่การจ่ายปันผลลดลง เมื่อดอกเบี้ยอยู่ระดับสูง

อย่างไรก็ดี ธปท.ไม่ได้ชอบให้เงินบาทมีความความผันผวนมาก เพราะทราบดีว่าธุรกิจมีข้อจำกัดในการปรับตัว แต่ถามว่าในแง่ภาพรวมความน่าเป็นห่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ มองว่าไทยมีภูมิคุ้มกันเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะหากดูดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้และปี 2567 น่าจะเกินดุลมากกว่าปีนี้ และทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยเหล่านี้จะลดผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินต่อเศรษฐกิจ

“ถามว่าทางเราเองอยากจะเห็นควานผันผวนขนาดนี้หรือไม่ ก็ไม่ คิดว่าการปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไป แทนที่จะไปทำอะไรที่จะไปสวนกระแสของตลาด เรื่องของการไปฝืนกลไกตลาด หรือการกำหนดระดับของอัตราแลกเปลี่ยน แบงก์ชาติไม่ได้มีเส้นเซตไว้ เราไม่มีทำไว้ เพราะการฝืนกลไกตลาด เราเห็นแล้วว่ามีความเสี่ยงมาก แต่เมื่อไหร่ที่เราจะทำก็ต่อเมื่อ เราเห็นความผันผวนมาก สูงเกินไป และโดยเฉพาะความผันผวนที่ไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐานก็มีโอกาสที่ ธปท.จะเข้าไปดูแลเรื่องค่าเงินก็จะมีสูงขึ้น”